ในยุคที่ Tech Company หลายแห่งกำลังเผชิญกับปัญหาจำนวนพนักงานมากเกินไป จนทำให้เห็นการประกาศเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ทั้งทวิตเตอร์ (Twitter) และเมตา (Meta) ในระดับโลก หรือแม้แต่กลุ่ม SEA หรือช้อปปี้ในประเทศไทย รวมถึงการชะลอการจ้างงานเพิ่มของกูเกิล (Google)
หนึ่งในเหตุผลสำคัญของปัญหานี้ คือ การที่บริษัทเหล่านี้เร่งจ้างคนเพื่อมาพัฒนาสินค้า และบริการให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงความคาดหวังของนักลงทุน ทำให้เมื่อถึงวันที่สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทเริ่มขาดทุน ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
ย้อนกลับมาดูสตาร์ทอัปยูนิคอร์นรายล่าสุดในประเทศไทยอย่าง LINE MAN Wongnai ที่เพิ่งประกาศระดมทุนระดับซีรีส์ B จนทำให้มูลค่าบริษัททะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมประกาศจ้างนักพัฒนาเพิ่มอีก 100 คน ภายในกลางปี 2566 กับเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่สุดในไทย และสร้างบริการเพื่อคนไทย
ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี LINE MAN Wongnai และผู้ร่วมก่อตั้ง Wongnai ให้มุมมองถึงการลดพนักงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเวลานี้ เกิดขึ้นจากการที่งานในลักษณะของการเขียนโค้ดมีปริมาณลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของวงการเทคโนโลยี
“ในมุมของวิศวกรซอฟต์แวร์ จะมองไปที่ภาพรวมของการพัฒนาสินค้า หรือบริการที่ออกมาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคเป็นหลัก ก่อนพิจารณาว่าจุดไหนของการทำงานที่ลดทอนออกไปเพื่อให้การทำงานรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน ด้วยการที่ LWMN บริหารงานแบบ lean มาอยู่แล้วตั้งแต่ต้น พยายามใช้คนให้พอดี โดยพนักงานส่วนใหญ่หนึ่งคนจะสามารถทำงานได้หลากหลายอย่าง ทำให้ไม่มีการเลย์ออฟคนจึงไม่อยู่ในแผน และตั้งเป้าที่จะเพิ่มทีมงานให้เป็น 450 คน ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566
“การเพิ่มทีมงานในรอบนี้ จะเพิ่มทั้งในส่วนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมไปกับการเพิ่มสัดส่วนพนักงานระดับอาวุโส ทั้งคนไทย และต่างชาติ เพื่อให้รองรับกับการเติบโตของแพลตฟอร์มในการขยายพื้นที่บริการฟูดเดลิเวอรีให้ลึกยิ่งขึ้น”
ที่ผ่านมา LMWN มีกลยุทธ์ดึงดูด-รักษา-พัฒนาทีมงานเทค ตั้งแต่กระบวนการค้นหาคนที่ใช่อย่างเข้มข้น เปิดพื้นที่แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างทีมงาน และเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดัน Developer Community ในประเทศไทย
ปัจจุบัน LMWN ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคนใช้งานทุกวัน และมีความถี่ในการใช้งานวันละหลายครั้ง ซึ่งภายในอีโคซิสเต็มประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ใช้งาน ร้านค้า และไรเดอร์ ทำให้ต้องใช้ทีมพัฒนากว่า 350 คน ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รองรับกับการใช้งานที่แตกต่างกัน
สำหรับแนวคิดหลักของทีมเทคโนโลยี LMWN คือ สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายและทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นทั้ง 1.ผู้ใช้มีชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นผ่านบริการออนดีมานด์ 2.ร้านค้าพันธมิตรสามารถสร้างยอดขายออนไลน์และสร้างความเติบโตให้ธุรกิจได้ดี และ 3.ไรเดอร์สามารถสร้างอาชีพและรายได้บนแพลตฟอร์มอย่างยั่งยืน
“แม้ว่าเราเป็นแพลตฟอร์มระดับประเทศ แต่เป้าหมายของเราคือการสร้างเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานระดับโลก ดังนั้นเราจึงเริ่มดึงชาวต่างชาติมีประสบการณ์การทำงานกับแพลตฟอร์มระดับโลกมาร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ จีน หรืออินเดีย เพื่อนำ Know-how มาปรับใช้และพร้อมสำหรับขยายธุรกิจในอนาคต โดยทีมงานชาวต่างชาติสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ มีทั้งเลือกอยู่ที่ประเทศเดิมและย้ายมาทำงานในไทย”