xs
xsm
sm
md
lg

เอปสันพลิกเกม CSR ตลาดพรินเตอร์ หนุนธุรกิจรักษ์โลกดาวรุ่งเจาะ GenZ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นก้าวที่เฉลียวฉลาดมากสำหรับเอปสัน (Epson) ผู้ผลิตเทคโนโลยีการพิมพ์และโปรเจกเตอร์อันดับ 1 ของโลกที่ประกาศหนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ใช้ความยั่งยืน หรือ Sustainability ในการปั้นธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น โดยดึง 3 แบรนด์ธุรกิจคนรุ่นใหม่อย่างชีโนวส์ (SHE KNOWS) แม้ดดี้ฮอปเปอร์ (Maddy Hopper) และควอลี่ (Qualy) มาร่วมจัดสัมมนาเผยเคล็ดลับการปั้นธุรกิจให้สำเร็จจากความยั่งยืน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่านักศึกษาที่เตรียมตัวเป็นเจ้าของกิจการในอนาคต จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ช่วงตุลาคมและพฤศจิกายนนี้

เหตุที่บอกว่าฉลาดเพราะนี่เป็นการเดินเกม CSR ตอบแทนสังคมที่มีอิมแพกต์สูงในหลายด้าน โครงการนี้ไม่เพียงเปิดทางให้เอปสันเดินหน้าผลักดันความยั่งยืนให้เติบโตยิ่งขึ้นในภาคธุรกิจไทย แต่ยังเป็นโอกาสกระตุ้นธุรกิจในอนาคตของเอปสันได้แบบยิงยาว ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของธุรกิจไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักที่ซื้อเครื่องพิมพ์ของเอปสันมาใช้กับธุรกิจในวันข้างหน้า

ไม่ว่าจะมองประเด็นนี้หรือไม่ เอปสันย้ำเพียงว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการสนับสนุนให้แนวคิดหรือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนนั้นมีการลงมือทำจริง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ไม่ควรมองพันธกิจการรักษ์โลกเป็นเรื่องของการเสียสละ แต่ควรมองเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องเริ่มลุกขึ้นมาดำเนินการ ความเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเอปสันมองตัวเองว่ายึดปรัญชานี้มาตลอดหลังจากปี 2004 ที่มีการเซ็นเอ็มโอยูกับองค์การสหประชาชาติ ทำให้มีการตั้งโครงการด้านความยั่งยืนหลายด้านต่อเนื่องเกิน 20 ปี แต่สำหรับโครงการล่าสุด เป้าหมายของเอปสันคือการสร้างการรับรู้ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเลือกจัดงานสัมมนาเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจวิธีการทำธุรกิจสีเขียวโดยเชื่อว่าจะเป็นช่องทางผลักดันให้เกิดนิสัย ซึ่งภาครัฐควรออกมาช่วยส่งเสริมให้ชัดเจนเช่นกัน

***โยงยั่งยืน-ธุรกิจ-คนรุ่นใหม่

ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการจับมือกับ SHE KNOWS แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นรักโลก Maddy Hopper แบรนด์รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติของไทย และ Qualy แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านจากวัสดุรีไซเคิลที่ตีตลาดทั่วโลก เพื่อจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Day One with Sustainability” หรือ “ก้าวแรกธุรกิจด้วยความยั่งยืน” ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ณ ห้องเรียนรวม 10201 ในวันที่ 12 ตุลาคม) และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ณ ห้อง A3-301 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน) ว่ามีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการใช้แนวคิดด้านความยั่งยืนที่สามารถสร้างธุรกิจให้สำเร็จจนเป็นที่นิยมได้ โดยการสนับสนุนนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืนจากที่เคยเน้นกลุ่มดีไซเนอร์เบอร์ใหญ่ชื่อดัง แต่เพราะต้องการจะสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเลือกที่จะนำเสนอแบรนด์ดาวรุ่งที่เน้นความยั่งยืนแทน

“เอปสันเป็นบริษัทพรินติ้งคัมปานี อาจจะถูกมองเป็นธุรกิจที่สิ้นเปลืองทรัพยากร เราจึงมองอีกมุมเพื่อให้เอปสันเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยใช้ทรัพยากรน้อยกว่าและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า เราต้องการทำให้ครบลูป” ยรรยง ระบุ “จะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของ CSR ก็ได้ เราอาจจะสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดอิมแพกต์ที่ใหญ่ขึ้น สเต็ปถัดไปเราจะผลักดันเพื่อโปรโมตแนวคิดในกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น”

ยรรยง มุนีมงคลทร
โปรเจกต์นี้จะเสริมภาพความยั่งยืนของเอปสันให้เข้มข้นขึ้น ที่ผ่านมา เอปสันได้กำหนดแนวทางในการทำธุรกิจให้เดินคู่ไปกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมรอบบริษัทฯ ที่จังหวัดนากาโน ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะขยายขอบเขตความรับผิดชอบให้กว้างขึ้นจนเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดสารซีเอฟซี ที่ทำลายชั้นโอโซนออกจากกระบวนการผลิตทั้งหมดได้ในปี 1993 เบื้องต้น บริษัทได้เริ่มทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2004 รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals)

เอปสันมองว่า ปัจจุบันองค์กรทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นกับการเชื่อมโยงธุรกิจ สินค้าและบริการเข้ากับคุณค่าเรื่องความยั่งยืน บางองค์กรยกให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ผู้คนหันมานิยมสินค้าจากผู้ผลิตที่ยึดถือความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและเต็มใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่ม Millennial และ Gen Z ที่ไม่ได้เลือกซื้อสินค้าเพราะราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนตอบแทนสังคม การที่ผู้ผลิตแสดงบทบาทในการรักษาสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจ

“เอปสันได้ใช้หลักความยั่งยืนตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตตลอดจนถึงขั้นตอนบรรจุห่อและโลจิสติกส์ เพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะมีส่วนร่วมกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี Heat-Free ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์สำนักงาน ซึ่งไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ จึงช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ถึง 85% และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 85%”


ยรรยง ย้ำว่า การที่เอปสันเชื่อมโยงความยั่งยืนเข้ากับกลไกธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้บริษัทฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีความชัดเจนและประสบความสำเร็จในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้ ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนา Day One with Sustainability ที่เชื่อว่าความรู้และประสบการณ์ที่นักธุรกิจรุ่นใหม่จากทั้ง 3 แบรนด์ได้นำมาแบ่งปันจะเป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจต่อนักศึกษา วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจากคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะสามารถนำความยั่งยืนไปใช้สร้างธุรกิจใหม่ๆของตนเองหรือต่อยอดธุรกิจของครอบครัวต่อไปในอนาคต

***แบรนด์รักษ์โลกก็กำไรได้

ปานไพลิน พิพัฒนสกุล และธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS เสื้อผ้าแฟชั่นสตรี เจ้าของสโลแกน ‘Greener Fashion for All’ กล่าวว่าแบรนด์ SHE KNOWS เกิดขึ้นในปี 2018 โดยนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้ามาสร้างความแตกต่างและทางเลือกให้สินค้าเสื้อผ้าผู้หญิง โดยคำนึงถึงมาตรฐานที่ดีขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม แรงงาน และลูกค้า SHE KNOWS ไม่เพียงแต่เลือกใช้ผ้ารีไซเคิล เศษผ้าเหลือจากโรงงาน แต่ยังใช้กรรมวิธีย้อมสีในระบบปิด ซึ่งไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ

“แพดเกจจิ้งเราใช้กระดาษรีไซเคิลและออกแบบให้ลูกค้าสามารถใช้ซ้ำ เผื่อส่งกลับหากกรณีที่ต้องการเปลี่ยนไซส์ ด้านแรงงาน ชุดของ SHE KNOWS ส่วนใหญ่เป็นแฮนด์เมด โดยช่างฝีมือคนไทย ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในโรงงาน จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในส่วนของลูกค้า SHE KNOWS เน้นการตัดเย็บที่ประณีต ทนทานกว่าเสื้อผ้า Fast Fashion หลายเท่า แต่ราคาถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ ลูกค้าสามารถใช้ได้นาน ไม่ต้องรีบเปลี่ยน”

ปานไพลิน พิพัฒนสกุล และธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS พร้อมด้วย ชาญ สิทธิญาวณิชย์ และภาคิน โรจนเวคิน ผู้ร่วมก่อตั้งกล่าวว่า Maddy Hopper
แบรนด์ SHE KNOWS วันนี้เน้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง โดยใช้สื่อออนไลน์และ word of mouth เน้นจุดเด่นมัดใจลูกค้าทั้งในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีไซน์สไตล์ basic wear ใช้ได้บ่อยไม่เบื่อ ราคาที่จับต้องได้ และขนาดของชุดที่มีให้เลือกมากถึง 18 ไซส์ในแต่ละคอลเลกชัน โดยฐานลูกค้า 70% ของ SHE KNOWS มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 19-29 ปี

สำหรับปีนี้มียอดซื้อสินค้าเข้ามาเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% จากปีก่อน นอกจากนี้ SHE KNOWS กำลังศึกษาเรื่องการทำตลาดส่งออก โดยจะเริ่มที่ตลาดในภูมิภาคนี้ก่อน รวมถึงตลาดชาวเอเชียที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเสื้อผ้าไซส์ใหญ่ และมีความสนใจในตัวสินค้าที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทั้งยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิต และเพิ่มไลน์สินค้าขึ้นอีก

สินค้าแบรนด์ SHE KNOWS


ชาญ สิทธิญาวณิชย์ และภาคิน โรจนเวคิน ผู้ร่วมก่อตั้งกล่าวว่า Maddy Hopper เริ่มทำการตลาดอย่างจริงจังมาปีกว่า โดยต้องการนำเสนอสินค้ารองเท้าที่ผสานฟังก์ชันเข้ากับความยั่งยืน ทั้งใส่ง่าย ดีไซน์สวย ราคาจับต้องได้และต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดเป็นแบรนด์ต่างประเทศ จึงเริ่ม R&D โดยศึกษาวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศและได้ค้นพบผ้าจากขวดพลาสติกรีไซเคิลที่นำมาทำเป็นตัวรองเท้า และยางพารารีไซเคิลสำหรับแผ่นรองด้านใน ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ลดการเกิดแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยการหมุนเวียนของเลือด โดยนอกจากวัสดุที่ใช้ทำรองเท้า Maddy Hopper ยังเลือกใช้กระบวนการผลิตแบบแฮนด์เมด เพื่อลดการใช้เครื่องจักรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน และใช้แพหเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล และถุงห่อจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง

“กลุ่มลูกค้าที่สนใจ Maddy Hopper เป็นกลุ่ม Gen Y และ Z กว่า 80% เพราะชื่นชอบในคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ที่นำความยั่งยืนเข้ามาใช้ ปัจจุบันแบรนด์ได้ทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และมีแผนที่จะแตกไลน์สินค้าเพิ่มขึ้นจากรองเท้า แต่ยังยึดแนวทางรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม และเตรียมจะเปิดจุดขายในโซน CBD (Central Business District หรือย่านศูนย์กลางธุรกิจ) อย่างน้อยอีก 2 จุด เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงและสัมผัสสินค้า Maddy Hopper ได้มากขึ้น โดยหลังจากทำตลาดอย่างจริงจังมาได้ปีกว่า คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% และตั้งเป้าเติบโตอีกเท่าตัวในปี 2566 ก่อนจะทำตลาดส่งออกใน 1-2 ปีจากนี้ โดยจะเริ่มที่ภูมิภาคนี้ก่อน เพราะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบเดียวกับคนไทย”

Maddy Hopper รองเท้ารักษ์โลก


ผู้ก่อตั้ง 2 แบรนด์สีเขียวดาวรุ่งนี้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การใช้ความยั่งยืนมาเป็นส่วนในการทำธุรกิจเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ทั้งในเรื่องของ Know How และดีกรีของความยั่งยืนในแต่ละขั้นตอนของธุรกิจ ซึ่งมีผลโดยตรงกับต้นทุนทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นแล้ว แนวคิดในเรื่องของความยั่งยืนควรได้รับการยกระดับจนเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ประกอบการต้องมี เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เป็นแค่กลวิธีในการแข่งขันเพื่อผลทางธุรกิจ แต่เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรมีอยู่ในดีเอ็นเอทีเดียว

บทสรุปของความเคลื่อนไหวนี้ของเอปสัน คือการพลิกเกมทำ CSR ที่น่าสนใจ เพราะการหนุนธุรกิจรักษ์โลกดาวรุ่งเพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นทำให้เอปสันมีภาพการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดเครื่องพิมพ์ ซึ่งนอกจากปี 2593 ที่เอปสันจะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่มีกระบวนการผลิตและขั้นตอนดำเนินธุรกิจที่มีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ติดลบ (Carbon Negative) เอปสันยังมีการประกาศยกเลิกการใช้ทรัพยากรใต้ดินที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน โลหะ โดยสิ้นเชิง

รวมถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นหนึ่งในความกังวลของทั่วโลก เอปสันยืนยันว่าได้ขยายวงจรการใช้งานสินค้าให้นานที่สุดแบบขึ้นอยู่กับสินค้า มีทั้งการออกรุ่นที่สามารถเปลี่ยนอะไหล่เพื่อนำกลับมาใช้ต่อ และแผนการนำเข้าอุปกรณ์ refurbished หรือสินค้าที่นำรุ่นเก่ามาตกแต่งซ่อมแซมใหม่ ซึ่งเอปสันเชื่อว่าโลกใบนี้จะได้ประโยชน์หากรัฐบาลไทยเปลี่ยนมุมมองและเลิกปิดกั้นสินค้ากลุ่มนี้เสียที


กำลังโหลดความคิดเห็น