เลอโนโว เห็นเทรนด์การเติบโตของการนำดิจิทัลมาใช้ในภาคการศึกษาที่ช่วยเสริมทักษะให้เยาวชนรุ่นใหม่ พร้อมผลักดันโครงการ EdVision ให้ข้อมูลความรู้แก่บุคลากรในแวดวงการศึกษา ให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้งานมากขึ้น รับหลักเกณฑ์การศึกษาไทยส่งผลให้นำดิจิทัลเข้าไปใช้ในหลักสูตรได้ยาก
สจ๊วต คิง กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจและอุปกรณ์เพื่อการศึกษา เลอโนโว โกลบอล กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษาทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางด้านการศึกษา ต่อเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา
“วิธีการเรียนรู้ของเด็กทั่วโลกค่อนข้างคล้ายคลึงกันด้วยการถ่ายทอดความรู้จากครู อาจารย์ แต่จากช่วงที่ผ่านมา การที่โรงเรียนต้องหยุดเรียน ทำให้เด็ก และเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ผ่านรูปแบบปกติ แม้ว่าจะมีการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ก็ยังมีช่องว่างที่ทำให้เด็กบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงได้”
เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงนับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในการคิดหาวิธีที่จะทำอย่างไรเพื่อลดช่องว่าง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแก่นักเรียนทุกคน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่มีนักเรียน นักศึกษาที่กำลังเติบโตจำนวนมาก
ที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีโอกาสที่ดีในการผลักดันการศึกษารูปแบบใหม่ด้วยการนำดิจิทัลมาใช้งาน จากทั้งการที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแรง แต่ก็มีบางส่วนที่ขาดดีไวซ์ หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มของนักเรียน แต่รวมถึงบุคลากรอย่างครู อาจารย์ด้วยเช่นกัน
โครงการ EdVision ที่เลอโนโว ร่วมกับทางไมโครซอฟท์จัดขึ้น จะเข้าไปช่วยยกระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับสถาบันเพื่อให้มีอุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม รวมถึงทางด้านความปลอดภัย การให้ข้อมูลความรู้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต่อเนื่องไปยังนักเรียน นักศึกษาที่ต้องปรับตัวรับกับการเรียนในยุคดิจิทัล
“ตลาดภาคการศึกษานับเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับผู้ผลิตพีซีทั่วโลก เนื่องจากมีสัดส่วนสูงถึง 50% ในกลุ่มคอมเมอร์เชียล และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นจากการที่ทุกประเทศต้องเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้รับกับยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้น”
อตินุช ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผู้จัดการทั่วไปประจำ พม่า ลาว และกัมพูชา และผู้จัดการสายผลิตภัณฑ์เพื่อธุรกิจ เลอโนโว ไทย กล่าวว่า ในประเทศไทยกลุ่มภาคการศึกษาที่มีอัตราการเติบโตสูงจะอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพราะมีความพร้อมทั้งในเรื่องของการลงทุน และทักษะจากนักศึกษาในคณะที่เกี่ยวข้องที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ
“ในระดับประถม มัธยมยังมีข้อจำกัดในแง่กฎเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาที่มีการบังคับหลักสูตรพื้นฐานอยู่ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถนำเนื้อหาที่มีอยู่เข้ามาอยู่ในโลกของเทคโนโลยีได้ทั้งหมด จึงทำให้ในกลุ่มนี้มีการประยุกต์นำไปใช้งานช้ากว่าในระดับมหาวิทยาลัย”
โดยที่ผ่านมา เลอโนโวได้เข้าไปเริ่มโครงการห้องเรียนตัวอย่างให้โรงเรียนบางแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเข้าไปสอนทักษะให้แก่ครู ในการนำดีไวซ์มาสร้างคอนเทนต์เพื่อการเรียนการสอน รวมถึงการปรับรูปแบบการสอนให้เป็นแบบไฮบริด เพื่อที่เด็กที่ติดโควิด-19 หรือต้องกักตัวจะไม่พลาดการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าครู อาจารย์รุ่นใหม่สนใจที่จะเรียนรู้ทักษะดิจิทัล แต่ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของโรงเรียนในแง่ของงบประมาณ และช่วงเวลาในการเรียนรู้ ทำให้ยังไม่มีการนำไปปรับใช้มากเท่าที่ควร
ในฝั่งของเลอโนโน มีเป้าหมายในภาคการศึกษาคือการเข้าไปทำงานร่วมกับพันธมิตรที่ต้องการนำซอฟต์แวร์ หรือสื่อการเรียนการสอนเข้าไปเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์เพื่อผลักดันให้การศึกษาในยุคดิจิทัลเกิดได้เร็วขึ้น