กรณีความขัดแย้งระหว่างกระทรวงดีอีเอส และไทยคม เกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ยังไม่จบ ชี้ดีอีเอสอาจฟ้องศาลต่อ คาดกินเวลาเกิน 10 ปี เหตุรัฐต้องรักษาผลประโยชน์รัฐ
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง) กล่าวถึงกรณีอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นดาวเทียมในระบบใบอนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ใช่ระบบสัมปทานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตามที่ฟ้องร้อง ในบทบาทของ กสทช.เองนั้นต้องให้ไทยคมมาดำเนินการขอสิทธิวงโคจรกับ กสทช.ตามเดิม หลังจากที่ดีอีเอสขอให้ กสทช.มอบสิทธิให้ดีอีเอสไปก่อนจนกว่าอนุญาโตฯ จะมีคำตัดสิน
ขณะที่กระทรวงดีอีเอส อาจจะต้องต่อสู้ เนื่องจากเป็นกระทรวงที่ยืนยันมาตลอดว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 เป็นดาวเทียมที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ส่วน กสทช.ต้องทำตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการเนื่องจากปัจจุบันในหลักการของแผนได้เขียนไว้เช่นนั้น จนกว่าจะมีคำสั่งศาลหรือคำสั่งตามกฎหมายได้ออกมาชัดเจน เมื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งออกมาเป็นทางการ และต้องรอว่ากระทรวงดีอีเอสจะมาดำเนินการอย่างไร
สำหรับการประมูลที่มีขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม ยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่ทำให้การดำเนินงานสะดุดลง เนื่องจากการประมูลไม่ได้นำสิทธิการเข้าใช้วงโคจรของไทยคม 7 และไทยคม 8 มาประมูล เพราะไม่สามารถประมูลได้ เนื่องจากยังมีการใช้งานอยู่ ซึ่งดาวเทียมที่นำมาประมูลคือสิทธิที่ว่างอยู่ หรือที่หมดไปแล้ว เช่น ไทยคม 5 นำมาประมูล ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกันในการนำดาวเทียมมาประมูล และการนำดาวเทียมมาประมูลจัดชุดจะต้องเป็นสิทธิที่ไม่เคยมีการใช้งาน และที่หมดอายุไปแล้วจึงนำมาจัดชุดประมูล
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า กระทรวงอาจต้องขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้อัยการคัดค้านคำตัดสินของอนุญาโตฯ และดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองต่อไป คาดว่าเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ อาจใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพราะที่ผ่านมาไม่มีภาครัฐไหนที่ยอมรับคำตัดสินและไม่ฟ้องร้องต่อ ซึ่งเชื่อว่าศาลอาจจะยึดตามคำตัดสินของอนุญาโตฯที่เป็นเอกฉันท์