ดีป้า จับมือ สคร. ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ พร้อมร่วมจัดทำแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาบุคลากรด้านข้อมูล เพื่อผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลภาครัฐที่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีป้า และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (จีบีดีไอ) ของดีป้า เพื่อร่วมกันจัดทำแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Model) ด้านต่างๆ และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านข้อมูล ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลภาครัฐที่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ตลอดจนวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง
ด้านนางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐระหว่าง สคร. และดีป้า โดยจีบีดีไอในครั้งนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยผลักดันวิสัยทัศน์ของ สคร. นั่นคือ “พัฒนารัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนด้วยมาตรฐานสากล เพื่อสังคมก้าวหน้าและเศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” และค่านิยมคือ Vibe (Visionary Leadership, Innovative, Best People, Emphasis on Success) ซึ่ง สคร. ตั้งเป้าจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Organization) โดยการนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจในทุกภารกิจ
สำหรับปี 2565 สคร. และจีบีดีไอ ได้ร่วมกันทดสอบนำร่องการวิเคราะห์ข้อมูลกับข้อมูลหลักทรัพย์ของรัฐพร้อมกับพัฒนาทักษะด้านข้อมูล ซึ่งเห็นผลลัพธ์ในด้านการบูรณาการข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของรัฐ การนำข้อมูลมาแสดงผลเพื่อให้ผู้บริหารตัดสิน และการพัฒนาทักษะข้อมูลให้บุคลากรได้อย่างชัดเจน ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะด้านการนำข้อมูลมาแสดงผลของบุคลากรให้ได้มากกว่า 50-60% ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด และจะต่อยอดให้ครบ 100% ในปีถัดไป