xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวุฒิ” ประชุมผู้เกี่ยวข้องจัดการ 3 ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เร่งด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ประชุมร่วมตำรวจไซเบอร์ ก.ล.ต. และแบงก์ชาติ เคาะสรุปแนวทางแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 3 เรื่องที่พบมากขณะนี้ ทั้ง Forex-3D หลอกลงทุน/แชร์ลูกโซ่ และถูกดูดเงินผ่านแอปมือถือ เตรียมใช้ระบบ social listening กวาดชื่อเว็บ/โซเชียลต้องสงสัย ส่งต่อให้ ก.ล.ต.และแบงก์ชาติตรวจสอบ หากพบไม่ได้รับใบอนุญาต เดินหน้าใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ปิดกั้นทันที หวังสกัดความเสียหายแต่เนิ่นๆ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ครั้งที่ 4/2565 มีการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่พบมากในปัจจุบัน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ/เก็งกำไรค่าเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Forex-3D) การหลอกลงทุนหรือแชร์ลูกโซ่ การกดลิงก์แล้วทำให้ถูกโอนเงินออกจากบัญชี เป็นต้น

สำหรับข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ได้แก่ 1.เว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลที่มีการโฆษณาหรือเชิญชวนลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน/เก็งกำไรค่าเงิน (FX) มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากกิจการนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. และได้รับใบอนุญาต ขณะที่ปัจจุบันยังไม่เคยมีการให้ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราบนแพลตฟอร์มออนไลน์/โซเชียล ดังนั้น หากพบพฤติกรรมนี้ถือว่าผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ กรณีที่บางเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียมีการโฆษณา หลอกชักชวนลงทุน หรือหลอกให้คนเอาเงินมาฝากเป็นสกุลเงินต่างประเทศ เชิญชวนขายแลกเปลี่ยน/เก็งกำไรค่าเงิน (FX) โดยให้สัญญาว่าจะให้ผลตอนแทนสูงผิดปกติเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

2.การหลอกลวงลงทุนผ่านเว็บ/โซเชียล จากการหารือกับผู้แทน ก.ล.ต. ได้รับคำยืนยันว่า ก.ล.ต. มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะในส่วนที่เป็น “หลักทรัพย์” ที่กฎหมายมีอำนาจ ซึ่งล่าสุดครอบคลุมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ส่วนกรณีเป็นสินทรัพย์อื่นๆ อย่างเช่น กรณีฟาร์มเห็ด “Turtle Farm” ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีใหญ่ของตำรวจไซเบอร์ขณะนี้ ก.ล.ต. จะไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ อย่างไรก็ตาม การหลอกลวงรูปแบบนี้สามารถใช้อำนาจ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เพราะพฤติกรรมการเชิญชวนลงทุนและมีผลตอนแทนสูง

“จากการหารือกับทุกฝ่ายร่วมกันวันนี้ ยังมีข้อสรุปถึงแนวทางป้องกันสำหรับ 2 ปัญหาข้างต้น โดยทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะใช้ระบ social listening กวาดรวบรวมชื่อเว็บ/โซเชียลที่มีพฤติกรรมเชิญชวนลงทุนใน FX หรือลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อจัดส่งไปให้ทาง ธปท. และ ก.ล.ต. ตรวจสอบว่าเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ และหากพบว่าเป็นเว็บ/โซเชียลผิดกฎหมายจะดำเนินขั้นตอนประสานขอคำสั่งศาลเพื่อปิดเว็บ/โซเชียลเหล่านั้นทันที โดยอาศ้ยอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” นายชัยวุฒิ กล่าว

จากนั้นเดินหน้ากระบวนการตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนต่อไป โดยมองว่าจะสามารถสกัดกั้นความเสียหายได้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก และเกิดความสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล และ 3.การหลอกดูดเงินจากบัญชีผ่าน mobile app ซึ่งได้ตรวจสอบกับ ธปท. แล้วพบว่า มีกรณีเกิดขึ้นจริง เนื่องจากผู้เสียหายหลงเชื่อคลิกเปิด link ที่มิจฉาชีพส่งเข้ามาทางมือถือ ทำให้ถูกควบคุมมือถือจากทางไกล (remote control) โดยมิจฉาชีพจะเห็นข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าจอมือถือของเหยื่อ ทำให้แฮกรหัส OTP ที่ใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์ และสั่งโอนเงินจากบัญชีผ่านแอปได้

ปัจจุบัน ธปท. ได้แจ้งเตือนธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้ทำการปรับปรุงระบบ mobile banking เพื่อให้ทำการปิดระบบโอนเงินทันทีเมื่อพบว่ามือถือหมายเลขนั้นๆ ถูกแฮกทางไกล ซึ่งปัจจุบันมี 2 ธนาคารที่ทำการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ดังนั้นอยากขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ชแห่งอื่นๆ เร่งทำการอัปเดตด้วย

“ผมขอส่งคำเตือนไปถึงประชาชนด้วยว่า การอัปเดตแอปใดๆ ก็ตามบนมือถือ ให้เข้าไปทำการอัปเดตจาก App Store (มือถือไอโฟน) หรือ Play Store (มือถือแอนดรอยด์) โดยตรง อย่าเสี่ยงไปกดอัปเดตจาก link ที่มีการส่งเข้ามา ทั้งนี้เพื่อป้องกันลิงก์จากมิจฉาชีพที่จะเข้ามาแฮกข้อมูลจากมือถือ” นายชัยวุฒิ กล่าว

รมว.ดีอีเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการหลอกลวงลงทุนออนไลน์ ใช้ช่องทางโซเชียลชักชวนลงทุน มีการใช้อินฟูลเอนเซอร์ ดารา คนดังที่มีคนติดตามแยะ ทำให้ประชาชนสนใจอย่างแพร่หลาย และทำให้คนหลงเชื่อตามกันมาลงทุน จนเกิดความเสียหายในวงกว้าง เพื่อป้องกันปัญหา ถ้าสำนักงาน ก.ล.ต. แบงก์ชาติ หรือหน่วยงานใดพบพฤติกรรมแบบนี้ที่หลอกลวง มีการระดมทุนจากประชาชนอย่างผิดกฎหมาย ก็เร่งตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน ส่งกระทรวงดีอีเอส เพื่อจะได้ดำเนินการเร่งปิดกั้นก่อนที่จะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในวงกว้าง

พ.ต.อ.เอกนิรุจฒิ์ วันสิริภักดิ์ ผกก.2 บก.สอท.1 กล่าวว่า ปัจจุบันการหลอกลวงลงทุนในบางคดีใหญ่อย่าง Turtle Farm ฟาร์มเห็ดที่สกลนคร มีการทำฟาร์มเห็ดจริง มีการเชิญชวนให้ดูฟาร์ม ใช้คนมีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ จ่ายผลตอบแทนจริงในระยะแรก แต่เมื่อมีคนเข้ามาลงทุนมากขึ้น ก็มีปัญหาหรือหยุดจ่ายเงินคืนผู้ลงทุน พฤติกรรมเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ จึงขอเตือนว่าหากพบการเชิญชวนที่ให้ผลตอบแทนสูงมากเกินความเป็นจริง อย่าหลงเชื่อ เพราะการลงทุนที่ให้ผลกำไรเกินจริงได้นั้นไม่มีจริง

“จากตัวอย่างคดีที่เรารับผิดชอบอยู่ตอนนี้ พบว่าส่วนใหญ่ทำการหลอกนักลงทุนแค่ 5-6 เดือน ก็มีเงินหมุนเวียนหลักพันล้านบาท ดังนั้น ยิ่งถ้าปล่อยนานไปจะยิ่งเสียหายจำนวนมาก ซึ่งเรามีกระบวนการเฝ้าระวังอยู่แล้ว ถ้าใครพบพฤติกรรมหลอกลวงลงทุน ขอให้รีบแจ้งมาที่ 1441” พ.ต.อ.เอกนิรุจฒิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น