xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. โต้กลับ "ชัยวุฒิ" แนะศึกษาอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายของแต่ละองค์กร เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ป้องกันประชาชนสับสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ "อำนาจหน้าที่ ก.ล.ต. ตามกฏหมาย" หลัง "ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. DES" โบ้ย ก.ล.ต.ที่ไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้มีการจัดตั้งบริษัทมาลงทุน และทำให้ประชาชนเสียหายนับหมื่นล้านบาท โดยที่ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับไปจับผิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใส่ใจเรื่องใหญ่ ด้าน ก.ล.ต. โต้กลับ กรณี Forex 3D หรือ การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในอำนาจหน้าที่ของแบงก์ชาติ ไม่ใช่ส่วนงานความรับผิดชอบของ ก.ล.ต. ขอให้ รมว.ดีอีเอส ศึกษาทบทวนอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กร มีความแตกต่างกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่บทความ "ก.ล.ต. กับ อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย" โดยระบุถึงรายละเอียดการการกำกับดูแลองค์กรตามอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES ทักท้วงว่า "สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ที่ไม่ทำหน้าที่ มีการปล่อยปละละเลยให้มีการจัดตั้งบริษัทมาลงทุน และทำให้ประชาชนเสียหายนับหมื่นล้านบาท โดยที่ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับไปจับผิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใส่ใจเรื่องใหญ่ จึงขอฝากไปยัง ก.ล.ต.ต้องปรับปรุงการทำงานเพราะต้องทำงานตรวจสอบเชิงลึก สอบถามถึงต้นตอที่มาที่ไปของบุคคลที่จะมาลงทุน เพื่อป้องกันไม่ให้มาหลอกลวงนักลงทุน อีกทั้ง ก.ล.ต.เมื่อเกิดเรื่องขึ้นก็ต้องลงมาดูด้วย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี และแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัล เพื่อปิดเฟซบุ๊กไม่ให้หลอกลวงประชาชนอีกต่อไป"

“ไม่ใช่ ก.ล.ต.รอให้คนเสียหายเป็นหมื่นล้านบาทแล้วดำเนินคดี ส่วนการแก้กฎหมายในส่วนของกระทรวงดิจิทัล สิ่งแรกต้องใช้กฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในส่วนของ ก.ล.ต.ก็ต้องเข้าไปกำกับดูแลนักลงทุนกันเอง โดยต้องดูแลเชิงลึก ไปตรวจสอบติดตามการลงทุนของประชาชนในช่องทางมีเดีย ว่ามีใครมาหลอกลวงบ้าง ไม่ใช่ว่าดูแค่การลงทุน" นายชัยวุฒิ กล่าว

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้ออกบทความชี้แจงถึงอำนาจหน้าที่ในการทำงาน การส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ การระดมทุนจากการเสนอขายหลักทรัพย์* เช่น หุ้นและหุ้นกู้ หรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดตามกฎหมาย ดังนี้

•พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
•พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
•พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
•พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
•พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
•พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน


โดยผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งให้บริการ เช่น นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม จัดการกองทุน

ส่วนบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบด้วย ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

ขณะที่ธุรกิจการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex หรือ FX หรือ Foreign Exchange) ไม่ถือเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) www.bot.or.th

ขณะที่ปัจจุบัน ยังไม่เคยมีการให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อการลงทุนทางอินเทอร์เน็ต หากผู้ใดให้บริการดังกล่าวในประเทศไทยจะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

อย่างไรก็ตามในส่วนของแชร์ลูกโซ่ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งในกรณีที่ ก.ล.ต. ได้รับการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. จะนำรายชื่อขึ้นไว้ใน “Investor Alert” บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. และแอปพลิเคชัน “SEC Check First” และประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนประชาชนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนเป็นระยะ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงลึกในกรณีที่เป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. และหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่น ก.ล.ต. พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามข้อมูล แจ้งเรื่องร้องเรียน หรือชี้เบาะแส มาที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1207 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. รวมทั้งสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนตลาดทุนและการซื้อขายตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ที่ smarttoinvest

หมายเหตุ : * มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535


กำลังโหลดความคิดเห็น