xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุตุฯ จับมือศูนย์ภูมิอากาศเอเปก จัดประชุมหารือปัญหาคาดการณ์สภาพอากาศในภาวะโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับศูนย์ภูมิอากาศของเอเปก (APEC Climate Center : APCC) เป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดการประชุม APEC Climate Symposium 2022 (APCS 2022) ในหัวข้อ (Theme) “APEC Climate Symposium 2022 - Enhancing APEC resilience through AI applications in climate change adaptation” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ในการคาดหมายสภาพภูมิอากาศและการนำสภาพภูมิอากาศไปใช้ในภูมิภาคระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.2565 ที่โรงแรมไมด้า เดอ ซี หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม APEC Climate Symposium 2022 (APCS 2022) ในหัวข้อ “การเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอเปกด้วยแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ (Enhancing APEC Resilience through AI Applications in Climate Change Adaptation)” โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย Dr.Do-ShikShin ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศของเอเปค (APCC) น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา Dr.Jin-Ho Yoo ผู้อำนวยการกองศึกษาวิจัยและบริการภูมิอากาศของ APCC ผู้แทนในที่ประชุม ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ นักอุตุนิยมวิทยา นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ให้บริการอุตุนิยมวิทยา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับด้านสภาพอากาศ ภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเปก ประมาณ 300 คนที่เข้าร่วมในห้องประชุมและผ่านสื่อออนไลน์

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC Climate Symposium 2022 โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกระทรวงดีอีเอส และศูนย์ภูมิอากาศของเอเปก (APEC Climate Center : APCC) เพื่อต้อนรับเพื่อนสมาชิกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการผสานความร่วมมือร่วมกันในการพัฒนาแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวางแผนรับมือกับภัยพิบัติอันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม”

นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ ได้เน้นย้ำว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) และสภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme Weather Event) บ่อยยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานด้านพยากรณ์อากาศ เพิ่มความแม่นยำ ช่วยการตัดสินใจและบริหารจัดการปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ได้ และกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในทุกภาคส่วน

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APCS 2022 ร่วมกันระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา กับศูนย์ภูมิอากาศของเอเปก ก่อให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์อากาศ และภูมิอากาศ ตลอดจนการให้บริการของกรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับการพยากรณ์อากาศและคาดหมายภูมิอากาศที่มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นและการให้บริการภูมิอากาศที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในภาคส่วนต่างๆ เช่น การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การตั้งถิ่นฐาน การป้องกันและเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ พลังงาน ขนส่ง ท่องเที่ยว สาธารณสุข อย่างไรก็ตามข้อมูลจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุน และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น