การบุกเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์สมาร์ทออฟฟิศ (Smart Office) ของหัวเว่ย (HUAWEI) นับเป็นจุดเริ่มต้นในการผสมผสานอีโคซิสเต็มสำหรับบรรดาสมาร์ทดีไวซ์ ให้กลายมาเป็นโซลูชันครบวงจรให้ผู้บริโภคได้ใช้งานกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าตามกลยุทธ์ 1+8+N ที่หัวเว่ยเน้นนำเสนอในช่วงที่ผ่านมา
แม้ว่าหัวเว่ย จะเผชิญกับความท้าทายในกลุ่มของผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน จนหันไปพัฒนา EMUI และระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ที่ล่าสุดพัฒนามาเป็นเวอร์ชันที่ 3 แล้ว พร้อมไปกับการเสริมไลน์สินค้าให้หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต พีซี สมาร์ททีวี รวมถึงอุปกรณ์ AIoT ทั้งหูฟัง นาฬิกา แม้แต่แว่นตาอัจฉริยะ ให้รองรับการเชื่อมต่อแบบข้ามอุปกรณ์ด้วย
ขณะเดียวกัน หัวเว่ยมองถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่หัวเว่ยเลือกใช้เป็นศูนย์กลางในการจัดงานเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ในกลุ่ม Smart Office ที่จะมาทำตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเห็นถึงทิศทาง และการตอบรับจากผู้บริโภคที่ดีในช่วงที่ผ่านมา
เฉิง เจียงเฟย รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้สัมภาษณ์ว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในวัยทำงานที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการทำงานแบบมัลติดีไวซ์ เพื่อให้สามารถทำงานได้จากทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ที่บ้าน หรือที่ไหนๆ ก็ตาม
“หัวเว่ย ได้เร่งพัฒนาโซลูชันเกี่ยวกับ Smart Office มาเป็นหนึ่งในรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย ที่สามารถเชื่อมต่อใช้งานเข้าด้วยกันได้ ภายใต้ความสามารถอย่าง Super Device ที่เป็นคอนเซ็ปต์ในการเข้าไปช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานร่วมกันได้หลากหลายมากขึ้น”
การทำงานร่วมกันข้ามอุปกรณ์จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้ใช้งานหลากหลายประเภท ซึ่งจะเข้าไปตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการทำงาน ซึ่งสินค้าและอีโคซิสเต็มในกลุ่มสมาร์ท ออฟฟิศจะเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานให้ง่ายขึ้น
ประเทศไทย ถือเป็นเป็นหนึ่งในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญอย่างมากสำหรับหัวเว่ย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์พีซีที่เติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนในภูมิภาคนี้รับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับหลายๆภูมิภาค
ขณะเดียวกัน ในแถบเอเชียแปซิฟิก ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เนื่องจากแต่ละประเทศจะมีพฤติกรรม และลักษณะเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น ทำให้นับเป็นความท้าทายของแบรนด์ในการเข้ามาทำตลาด ซึ่งหัวเว่ยจะยึดแนวทางในการนำผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกสบายมากขึ้น
นอกเหนือจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสมาร์ทออฟฟิศ ที่มีทั้งแล็ปท็อป แท็บเล็ต มอนิเตอร์ สมาร์ททีวี และหูฟังไร้สายแล้ว ในอนาคต หัวเว่ยมีแผนจะขยายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุม 5 แกนหลัก ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ และการออกกำลัง ความบันเทิง สมาร์ทโฮม และการท่องเที่ยว เพื่อให้กลายเป็นอีโคซิสเต็มของ HarmonyOS ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสได้
***พัฒนาพีซีบนข้อจำกัดในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยอมรับว่ามีจุดที่ทำให้การแข่งขันในตลาดพีซี รวมถึงสมาร์ทโฟนที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีความเท่าเทียม โดยเฉพาะการที่ทางสหรัฐฯ ไม่เปิดทางให้หัวเว่ย นำเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้งานในผลิตภัณฑ์ อย่างที่สังเกตได้ว่า แล็ปท็อป ของหัวเว่ย จะไม่มีรุ่นที่เป็นการ์ดจอแยก หรือแม้แต่การที่สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อ 5G ได้ แต่ทางหัวเว่ย ยืนยันที่จะเร่งนำนวัตกรรม มาส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องแน่นอน
หวง เจินหง (Huang JenHung) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ธุรกิจพีซีและแท็บเล็ต บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าวว่า นวัตกรรมพีซีของหัวเว่ย จะเน้นที่ความสวยงามโดยเฉพาะเรื่องการแสดงผล ประสิทธิภาพในการประมวลผล การเชื่อมต่อ และการโต้ตอบ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอัปเกรดฮาร์ดแวร์มาอย่างต่อเนื่อง
“ใน MateBook X Pro รุ่นใหม่นี้ นอกจากการนำเสนอเรื่องความบางเบา และมีจอแสดงผลที่สวยงามแล้ว ยังสามารถรีดประสิทธิภาพของชิปประมวลผลออกมาได้มากถึง 30W ทำให้เครื่องแรงกว่าเมื่อเทียบกับแล็ปท็อปน้ำหนักเบารุ่นอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน”
ประกอบกับการที่ หัวเว่ย ไม่สามารถเข้าถึงกราฟิกการ์ดจาก NVIDIA ได้ทำให้ในปัจจุบัน หัวเว่ย ยังไม่มีแผนที่จะบุกเข้าไปในตลาดเกมเมอร์ หรือกลุ่มครีเอเตอร์ที่ต้องการแล็ปท็อปประสิทธิภาพสูงที่ต้องนำการ์ดจอมาช่วยประมวลผล ดังจะเห็นได้จากการที่หัวเว่ย เริ่มโฟกัสในกลุ่มของสมาร์ทออฟฟิศก่อน
***เชื่อมั่น AppGallery ช่วยเสริมอีโคซิสเต็มให้สมบูรณ์
เฉิง กล่าวต่อถึงการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถใช้งาน Google Mobile Service ได้ แต่เชื่อมั่นว่าการที่หัวเว่ยมุ่งพัฒนา HarmonyOS พร้อมกับ EMUI ให้สามารถนำสมาร์ทโฟนไปเชื่อมต่อใช้งานกับสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ ได้จะกลายเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้งาน
ขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ AppGallery ที่เป็นแหล่งรวบรวมแอปพลิเคชัน ติด 1 ใน 3 สโตร์ระดับโลกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนมากกว่า 580 ล้านคนใน 170 ประเทศ และมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ HarmonyOS มากกว่า 300 ล้านเครื่อง
ส่วนการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น หลังจากที่แบรนด์ Honor เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ทาง HUAWEI ที่แยกออกมาจาก Honor ชัดเจนแล้ว มองว่าการแข่งขันถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่หัวเว่ยทำได้คือมุ่งมั่นกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี ที่จะช่วยกระตุ้นให้ปรับปรุง และนำผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้บริโภคด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หัวเว่ยเพิ่งมีการเปิดตัวสินค้าในกลุ่มสมาร์ทออฟฟิศเพื่อนำเข้ามาทำตลาดในไทย ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป ตั้งแต่รุ่น MateBook D16 ในราคาเริ่มต้น 33,990 บาท MateBook 16s ในราคา 56,990 บาท และ MateBook X Pro ในราคา 79,990 บาท รวมถึงแท็บแล็ต MatePad Pro 11นิ้ว เริ่มต้น 24,990 บาท หน้าจอมอนิเตอร์ MateView SE 4,790 บาท และหูฟังไร้สาย FreeBuds Pro 2 ในราคา 6,499 บาท
นับเป็นการอัปเดตไลน์ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสมาร์ทดีไวซ์ครั้งใหญ่ของหัวเว่ย ที่จะบุกตลาดพีซีในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ด้วยการชูจุดเด่นในเรื่องของอีโคซิสเต็ม พร้อมไปกับการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรช่องทางจำหน่ายต่างๆ ที่จะมีความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง