‘ศุภชัย’ ชี้ตามกฎหมาย กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุมัติการควบรวม แต่สามารถยื่นเงื่อนไขให้ทั้งเครือซีพี และเทเลนอร์ทำตามเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน พร้อมตอบประเด็นเรื่องของการแข่งขันที่จะสูงขึ้น และไม่มีการขึ้นราคาอย่างแน่นอน เพราะ กสทช. สามารถควบคุมได้
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองและผลการศึกษาทางกฎหมายของการควบรวมในครั้งนี้ คือ กสทช. ไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติ แต่สามารถสร้างเงื่อนไขในการควบรวมได้ ถ้ากรณี กสทช. ต้องการยับยั้งการควบรวมต้องใช้อำนาจของศาลปกครองแทน
“กสทช. สามารถยื่นเงื่อนไขในการควบรวมได้ ถ้าบริษัทไม่ยอมรับเงื่อนไขสามารถนำกรณีดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองได้ แต่ตอนนี้คืออยากทำงานร่วมกับ กสทช. เพื่อตอบรับเงื่อนไขต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ส่วนประเด็นในเรื่องของราคาทาง กสทช. สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว”
ทั้งนี้ ตามระเบียบเดิมหลังจากยื่นเรื่องให้ทาง กสทช. ตั้งแต่เดือนมกราคม การพิจารณาตามกฎหมายที่ กสทช. ร่างไว้จะต้องเกิดขึ้นภายใน 90 วัน เนื่องจากเป็นรูปแบบของการควบรวม เพราะใบอนุญาตต่างๆ ยังอยู่เหมือนเดิม แตกต่างจากการซื้อกิจการที่ต้องขออนุญาตในการเข้าซื้อก่อน
พร้อมย้ำชัดว่า การควบรวมไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ ซึ่งทาง กสทช. ไม่ได้ต้องอนุมัติ แต่ว่า กสทช. มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบในทางลบ และสร้างผลประโยชน์ในทางบวก และทั้ง 2 บริษัทยินดีอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับ กสทช. เพื่อตอบเงื่อนไขเหล่านั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการควบรวม
“เข้าใจว่า กสทช. ที่เข้ามาใหม่ต้องการเวลาเพื่อศึกษาเพิ่มเติม แต่อยากเห็นให้เกิดขึ้นเร็ว เพราะส่งผลต่อตลาดทุนที่นักลงทุนทั้งในไทย และต่างประเทศให้ความสนใจอยู่ ตลอดจนบริการ สิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้บริโภค เพราะปัจจุบันทำตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. เรียบร้อย”
ศุภชัย กล่าวถึงก้าวต่อไป และโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังเกิดการควบรวมในลักษณะของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกว่า 90% ของทั้ง 2 ฝ่าย
สิ่งที่สำคัญคือบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จะเป็นบริษัทไทยที่จะช่วยให้เกิดเทค คอมพานี ที่จะช่วยให้เกิดการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการเป็นผู้นำเทคโนโลยีได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะทั้งซีพี และเทเลนอร์จะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่ถึง 50% หรือประมาณ 30% ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้เป็นบริษัทมหาชนที่สมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่
ประเด็นที่ ศุภชัย อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจาก Tech Transformation ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือการควบรวมจะช่วยทำให้ช่วย ลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Capital) โดยเฉพาะการที่อุตสาหกรรมโทรคมมีความใกล้ชิดกับเรื่องของภาคการศึกษา ที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็ก และเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งอยากทำการบ้านเหล่านี้ร่วมกับหน่วยงานกับกำดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ดิจิทัลฮับของอาเซียน (Digital Transformation) การลงทุนเรื่องของคลาวด์ ซอฟต์แวร์ เทคสตาร์ทอัป การสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนการ ขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับโลก (Sustainability) จากบริษัทที่ควบรวมใหม่นี้จะช่วยขับเคลื่อนได้ถ้ามีเป้าหมายร่วมกัน
ย้อนอ่านภูมิทัศน์ของการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปจากมุมมองของเทเลนอร์ :
‘เทเลนอร์’ เผยเหตุผลปรับธุรกิจในเอเชีย ควบรวมเพื่อแข่งขันในระดับโลก
สำหรับจุดประสงค์หลักในการควบรวมครั้งนี้ เนื่องจากพบว่าศักยภาพในการแข่งขันของทั้ง 2 องค์กรลดน้อยลง ภูมิทัศน์ของการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากในภาคโทรคมนาคมไม่ได้แข่งขันในเฉพาะอุตสาหกรรมแล้ว แต่ไปแข่งขันกับผู้ประกอบการระดับโลก โดยเฉพาะผู้ให้บริการดิจิทัลต่างๆ ที่เข้ามาใช้งานโครงข่ายในประเทศไทย ทั้งที่ไม่ต้องลงทุน
“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของอุตสาหกรรมลดลงทุกราย แต่การลงทุนสูงขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 4G เป็น 5G และในอนาคตต้องเปลี่ยนสู่ 6G โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากผู้ประกอบการ OTT ระดับโลกเข้ามาให้บริการและใช้งานเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น”
ปัจจุบัน รายได้จากการให้บริการเสียง และการส่งข้อความที่ลดน้อยลง ทำให้สนามของการแข่งขันเปลี่ยนไปเยอะมากๆ โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลมีเดียเข้ามาในภูมิทัศน์นี้ทำให้ทั้ง 2 องค์กรศักยภาพในการแข่งขันลดลงไปเรื่อยๆ
ในอีกมุมหนึ่งคือการควบรวมนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคและประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด แน่นอนว่าจะไม่สมบูรณ์แบบที่จะทำให้ค่าของ HHI (ดัชนีวัดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม) ลดลง แต่จะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการแข่งขัน เพราะหนึ่งในเงื่อนไขคือการเปิดโครงข่ายให้ผู้ประกอบการในลักษณะที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเองได้เข้าใช้งาน
เนื่องจากการเปิดโอกาสให้มีผุ้ประกอบการมาใช้คลื่นความถี่นั้น จะสามารถลดค่า HHI ได้ต่ำกว่าปัจจุบันนี้ และในขณะเดียวกัน สามารถเพิ่มประโยชน์ให้แก่ประเทศ ประชาชน และผู้บริโภค นอกเหนือจากประโยชน์โดยธรรมชาติของลูกค้าทรูมูฟ เอช และดีแทค ที่จะมีคลื่นความถี่ และสถานีฐานที่ให้บริการครอบคลุมมากขึ้น
“การควบรวมในครั้งนี้จะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นมีสถานีฐานครอบคลุมกว่า 49,800 สถานี เครือข่ายครอบคลุมทุกคลื่นความถี่ ได้รับประสบการณ์ 5G และมีโอกาสได้รับนวัตกรรมที่ดีขึ้นจากในองค์กร และการส่งเสริมสตาร์ทอัป รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น”
ศุภชัย ทิ้งท้ายว่า หลังจากการควบรวมนี้เกิดขึ้นจะไม่มีการปลดพนักงานออกอย่างแน่นอน เพราะเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และให้บริการแก่ลูกค้าต่อไปในอนาคต
ซิคเว่ เบรคเก้ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ธุรกิจสตาร์ทอัปจะเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค
เบื้องต้น ทั้ง 2 บริษัทมีแผนที่จะตั้งกองทุน (Venture Capital) มูลค่า 7,300 ล้านบาท (200 ล้านเหรียญ) ในการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัป และในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศ ยังสามารถดึงนักลงทุนต่างๆ จากทั่วโลกมาได้ ไปถึง 800-1,000 ล้านเหรียญ
ร่วมกับการสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศไทยที่จะเข้าถึงฐานลูกค้าในระดับภูมิภาค และระดับโลก จากจุดแข็งของทั้งซีพี และเทเลนอร์ที่โดดเด่นในตลาดโลกอยู่แล้วมาช่วยนำพาผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ซีพี-เทเลนอร์ ตั้งเป้าจับมือตั้งบริษัทเทคโนโลยี เตรียมศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมช่วยดันไทยเป็นฮับเทคโนโลยีของภูมิภาค
ซีพี-เทเลนอร์ ย้ำชัดตั้งบริษัทใหม่พัฒนาเทคโนโลยี พาไทยแข่งขันในเวทีโลก
***ทรู-ดีแทค แจ้ง ตลท. หลัง กสทช. ยืนยันข่าว “ผลโหวตอนุกรรมการ คว่ำดีล 3:1” เป็นข่าวเท็จ
ทรู-ดีแทค ชี้แจงกรณีที่มีรายงานข่าว เปิดผลโหวต 3:1 อนุฯ กสทช. “คว่ำ” ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” และไม่มีการอ้างอิงชื่อของแหล่งข่าว ซึ่งข่าวดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดต่อนักลงทุนและประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ
บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และการควบบริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ด กสทช. อีกทั้ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริง ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น และยังไม่ได้รับข้อมูลจากคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะ รวมทั้งไม่มีการโหวตอะไรด้วย
“กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ระหว่างนี้สำนักงาน กสทช.กำลังรวบรวมข้อมูลรายงานความเห็นของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะตลอดจนความเห็นของที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเห็นของสำนักงานฯ เสนอที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค.2565” นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าว