xs
xsm
sm
md
lg

‘เทเลนอร์’ เผยเหตุผลปรับธุรกิจในเอเชีย ควบรวมเพื่อแข่งขันในระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘เทเลนอร์’ เผยวิสัยทัศน์ Growth 2.0 ในการทำธุรกิจต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย 25 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นในรูปแบบของการเป็น Telecom-Tech Company เพื่อให้สามารถแข่งขันกับยักษ์ไอทีระดับโลกได้ หลังเดินหน้าควบรวมธุรกิจในหลากหลายประเทศ

ซิคเว่ เบรคเก้ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวย้อนถึงภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทยช่วง 25 ปีที่ผ่านมาว่า เทเลนอร์สามารถนำความเชี่ยวชาญจากการให้บริการในยุโรปเข้ามาให้บริการในประเทศไทย ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Growth 1.0) และดีแทค เข้ามาเป็นผู้ให้บริการที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทั้งการคิดค่าบริการจากนาที เป็นวินาทีตามการใช้งานจริง หรือการนำเสนอธุรกิจเติมเงิน (Happy) เข้าสู่ตลาด

กลับกันในปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่ได้มีการเติบโตในแง่ของจำนวนผู้ใช้ โดยเฉพาะในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ที่ประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือแล้ว เช่นเดียวกับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันตลาดเข้าสู่ช่วงที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแทน

“ในช่วงที่ผ่านมา ดีแทคเจอการเปลี่ยนแปลงของคู่แข่งทั้งการที่ออเร้นจ์ออกจากตลาดกลายมาเป็นทรู เมื่อรวมกับคู่แข่งรายสำคัญอย่างเอไอเอส ทำให้การแข่งขันที่เกิดขึ้นมีความน่าสนใจทั้งการแข่งขันทางด้านราคา รูปแบบการทำตลาดที่สร้างสรรค์ และทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์”

ปัจจุบันคู่แข่งของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ไม่ใช่เฉพาะคู่แข่งในอุตสาหกรรมแล้ว แต่เปลี่ยนไปเป็นบริษัทไอทีที่ให้บริการดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น AWS Google และ Microsoft ที่แม้จะเป็นพันธมิตรกับเทเลนอร์ แต่ก็เป็นคู่แข่งในระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะการแข่งขันในท้องถิ่นเท่านั้น

ในการเตรียมตัวที่จะแข่งขันกับผู้ให้บริการดิจิทัลเหล่านี้ ทำให้เทเลนอร์ต้องมีการปรับตัว อย่างการควบรวมเพื่อทำให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในยุคของการให้บริการเทคโนโลยีที่ไม่ได้อยู่เฉพาะการให้บริการแก่ผู้บริโภคทั่วไป แต่เข้าสู่การให้บริการในภาคธุรกิจที่จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น


ซิคเว่ ให้มุมมองเพิ่มเติมถึงการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวม จะไม่ได้อยู่เฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงการแข่งขันในการให้บริการดิจิทัล ดังนั้นการที่จำนวนผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย ไม่ได้สะท้อนว่าทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน

เพราะถ้ามองไปถึงส่วนแบ่งทางการตลาดในการให้บริการดิจิทัลที่มีตลาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้ง AWS Google และ Microsoft ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่ต่างไป อย่างในยุโรปในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดทำให้เห็นแล้วว่าตลาดของทั้ง AWS และ Google ที่ให้บริการนั้นใหญ่กว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมดรวมกัน

“ถ้าอยากให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้ในยุคที่การแข่งขันเข้าสู่รูปแบบใหม่ สิ่งที่ต้องทำคือการอนุมัติให้เกิดการควบรวมอย่างเท่าเทียมของดีแทค และทรู เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก”

ทั้งนี้ สิ่งที่เทเลนอร์ดำเนินการอยู่คือการทำงานร่วมกันกับกลุ่มซีพี เพื่อที่จะสร้างบริษัท โทรคมนาคม และเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นไปตามแผน Growth 2.0 ด้วยการตั้งบริษัทใหม่ร่วมกัน นำส่วนที่ดีจากทั้ง 2 องค์กรมาปรับใช้ และทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนไทย

ที่เห็นได้ชัดเจนคือสถานการณ์ในมาเลเซีย ที่ล่าสุดเซลคอม และดิจิ ที่ได้รับอนุมัติในการควบรวมจากทางคณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC) ซึ่งอยู่ภายใต้เหตุผลเดียวกันที่หลังจากควบรวมแล้วจะสามารถนำนวัตกรรมต่างๆ มาให้บริการแก่ผู้บริโภค


เยอเก้น โรสทริป รองประธานบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวย้ำว่า เทเลนอร์ต้องการเป็นผู้นำ ในยุค Growth 2.0 เพียงแต่จะเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม บนพื้นฐานของการเป็นพันธมิตรที่สำคัญต่อประเทศไทย และเพื่อคนไทย ที่จะสร้างสิ่งดีๆ ต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น ธุรกิจ รวมถึงสตาร์ทอัป

“เมื่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องเกิดการลงทุนระดับสูง (Massive Invesment) ที่ผู้ให้บริการเพียงรายใดรายหนึ่งไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมไปกับการพัฒนานวัตกรรมออกมาเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ต่อเนื่องในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือการมีคลื่นความถี่แพงที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกันค่าบริการอินเทอร์เน็ตก็ต่ำติดระดับท็อปในโลก ซึ่งเป็นเรื่องดีของผู้บริโภค แต่ในมุมของผู้ให้บริการทำให้ต้องแบกต้นทุนที่สูง ซึ่งแน่นอนว่าเห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดีแทค หรือเทเลนอร์ ลงทุนน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ซึ่งถ้าเกิดการเปลี่ยนการแข่งขันและมีตลาดที่คุ้มค่าในการลงทุนทางเทเลนอร์ก็พร้อมที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแน่นอน

สำหรับกระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแล คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นจะมีขั้นตอนต่อเนื่อง รวมถึงการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น