โซฟอส (Sophos) เปิดรายงานสำรวจภัยคุกคามจากแรนซัมแวร์ ระบุ 66% ขององค์กรที่สำรวจถูกโจมตีโดยแรนซัมแวร์ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 37% จากปี 2563 โดยองค์กรต้องจ่ายค่าไถ่เพื่อเข้าถึงรหัสข้อมูลสำคัญที่ถูกโจมตีโดยแรนซัมแวร์ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า หรือคิดเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท
เชสเตอร์ ไวสนิวสกี้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยด้านความปลอดภัยของโซฟอส กล่าวถึงเทรนด์การโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ที่เกิดขึ้นว่า นอกเหนือจากการจ่ายค่าไถ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นแล้ว ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่จ่ายค่าไถ่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีวิธีการอื่นๆ ให้เลือกก็ตาม
“สาเหตุที่เหยื่อทำเช่นนี้อาจมีได้หลายประการ เช่น การสำรองข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ หรือความต้องการที่จะป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่ถูกขโมยรั่วไหลสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งผลที่ตามมาจากการโจมตีของแรนซัมแวร์คือความกดดันจากการที่องค์กรต้องรีบสำรองข้อมูลและกลับมาดำเนินการต่อให้ได้เร็วที่สุด แต่การกู้คืนข้อมูลที่เข้ารหัสโดยใช้ข้อมูลสำรองอาจเป็นประบวนการที่ยากและใช้เวลานาน”
ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยการจ่ายค่าไถ่สำหรับคีย์ถอดรหัสอาจเป็นวิธีที่เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม วีธีนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง เพราะองค์กรไม่รู้ว่าผู้โจมตีได้ทำอะไรไปบ้าง เช่น การเพิ่มแบ็กดอร์ การคัดลอกรหัสผ่าน และอื่นๆ เป็นต้น หากองค์กรไม่ล้างข้อมูลที่กู้คืนกลับมาอย่างทั่วถึง อาจทำให้ข้อมูลที่เหลืออยู่ทั้งเครือข่ายเป็นพิษและอาจถูกโจมตีซ้ำได้อีกในอนาคต
ทั้งนี้ ผลสำรวจจากรายงาน State of Ransomware 2022 พบว่า ในปี 2564 องค์กรกว่า 11% ระบุว่าพวกเขาจ่ายเงินค่าไถ่ เป็นมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ซึ่งองค์กรที่เลือกวิธีการดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2563 ในขณะที่องค์กรที่จ่ายค่าไถ่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ มีจำนวนลดลงเหลือ 21% จาก 34% ในปี 2563
ขณะเดียวกัน 46% ขององค์กรที่มีการโจมตีเข้ารหัสข้อมูล ได้จ่ายค่าไถ่เพื่อรับข้อมูลกลับคืน โดย 26% ขององค์กรที่สามารถกู้คืนข้อมูลที่เข้ารหัสโดยใช้ข้อมูลสำรองในปี 2564 ก็จ่ายค่าไถ่เช่นกัน สำหรับต้นทุนเฉลี่ยในการกู้คืนจากการโจมตีล่าสุดของแรนซัมแวร์ในปี 2564 อยู่ที่ 1.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการกู้คืนจากความเสียหายและการหยุดชะงักของธุรกิจ โดยองค์กรเกือบ 90% ระบุว่า การโจมตีส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินการ และเหยื่อภาคเอกชนกว่า 86% กล่าวว่าพวกเขาสูญเสีบธุรกิจ และ/หรือรายได้เพราะถูกโจมตี
“ผลสำรวจชึ้ว่าการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ที่ผู้โจมตีเรียกร้องค่าไถ่ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการปะทะกับตลาดประกันภัยไซเบอร์ที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เนื่องจากบริษัทประกันพยายามลดความเสี่ยงและการต่อกรกับแรนซัมแวร์ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการประกันภัยทางไซเบอร์จำนวนมากได้เหมารวมค่าใช้จ่ายในการกู้คืนแรนซัมแวร์ ที่รวมการจ่ายค่าไถ่เข้าไปเรียบร้อยแล้ว”
โดยโซฟอส แนะนำแนวทางปฏิบัติในการช่วยองค์กรป้องกันแรนซัมแวร์และการโจมตีทางไซเบอร์ คือ ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบป้องกันคุณภาพสูงในทุกจุดแวดล้อมขององค์กร พร้อมตรวจสอบการควบคุมความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ตามความต้องการขององค์กร
ตรวจสอบและป้องกันภัยคุกคามในเชิงรุก เพื่อระบุและขจัดภัยคุกคามต่างๆ เสริมความแข็งแกร่งของระบบไอทีโดยการค้นหาและปิดช่องโหว่ความปลอดภัยต่างๆ เช่น อุปกรณ์ที่ไม่ผ่านการอัปเดตแก้ไข เครื่องที่ไร้การป้องกัน พอร์ต RPD ที่เปิดทิ้งไว้ และอื่นๆ