เอสเอพี ชี้กลุ่มธุรกิจรายย่อย SMEs ไทยกว่า 98% ยกให้ปรากฏการณ์ "การลาออกระลอกใหญ่" กระทบแผนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
เอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ The Great Resignation ได้สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อหลายองค์กร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ไม่ใช่แค่เพียงเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวและนำมาซึ่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต
"อย่างไรก็ตาม หากบริษัทขาดคนทำงานที่ใช่ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ล้วนหยุดชะงัก ฉะนั้น กลุ่ม SMEs ในประเทศไทยจะอยู่รอดและเดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านบุคลากรให้สอดคล้องกับการลงทุนด้านนวัตกรรม”
วิสัยทัศน์นี้เกิดขึ้นเมื่อเอสเอพี เอสอี (SAP) ดำเนินการศึกษาครั้งล่าสุด จนพบว่ามากกว่า 9 ใน 10 หรือกว่า 98% ของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทย กำลังเผชิญกับความผันผวนของกำลังคน อันเกิดจากปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ หรือ The Great Resignation ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อแผนการทำ Digital Transformation ของพวกเขา ขณะเดียวกัน 80% ของ SMEs ไทยยังมองว่า การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดขององค์กรในปีหน้า
จากการสำรวจกลุ่มธุรกิจ SME ภายใต้หัวข้อ "Transformational Talent : The impact of the Great Resignation on Digital Transformation in APJ’s SMEs" ซึ่งเอสเอพีมอบหมายให้บริษัท Dynata ทำการสำรวจความคิดเห็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจ SMEs จำนวน 1,363 ราย จาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น รวมถึง SMEs ในประเทศไทย จำนวน 207 ราย พบว่า ‘The Great Resignation’ เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของ SMEs ไทย เนื่องจากขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการสถานการณ์โควิด ธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหนึ่งประการ นั่นคือ 'การลาออกระลอกใหญ่ หรือ The Great Resignation' ที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2564 วลีนี้สะท้อนถึงแนวโน้มของพนักงานหลายล้านคนทั่วโลกที่ทยอยลาออกจากงานเป็นจำนวนมาก
ผลการศึกษาของเอสเอพี ชี้ให้เห็นว่า The Great Resignation กำลังส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจ SMEs ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 47% ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีพนักงานลาออกมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว ขณะที่กว่า 67% ของ SMEs ไทยมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะรับมือกับผลกระทบของการลาออกครั้งใหญ่ของพนักงาน
"ปรากฏการณ์นี้จึงลดทอนความสามารถขององค์กรในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่วิถีดิจิทัล รวมถึงปัจจัยด้านการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะ และการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานโซลูชันดิจิทัลที่มีอยู่ยังจัดเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ในการบรรลุเป้าหมายของการปรับตัวทางธุรกิจสำหรับกลุ่ม SMEs ในประเทศไทย เพิ่มเติมจากความท้าทายเดิมที่บริษัทต้องจัดการ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การขาดงบประมาณ เป็นต้น" แถลงการณ์ระบุ
เอสเอพีระบุว่า ปัจจุบัน กลุ่ม SMEs ไทยได้เดินหน้าเร่งเครื่องลงทุนในบุคลากร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการลาออกระลอกใหญ่ และเสริมศักยภาพให้บุคลากรก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยข้อมูลจากผลสำรวจกลุ่ม SMEs ลงความเห็นว่า พวกเขากำลังวางแผนลงทุนในปัจจัยต่างๆ ทั้งการเพิ่มทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้แก่พนักงาน คิดเป็น 39% เพื่อรักษาบุคลากรให้ทำงานกับบริษัทต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ SMEs ยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน ด้านผู้ตอบแบบสอบถามย้ำชัดว่า 12 เดือนหลังจากนี้จะมีการปรับปรุงเรื่องค่าตอบแทน และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น (ทั้ง 2 ปัจจัยคิดเป็น 39%)
นอกจากนี้ SMEs ไทยมากกว่าเจ็ดในสิบ (71%) กล่าวว่า การเพิ่มทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่งผลให้ 77% ของกลุ่ม SMEs ตั้งเป้ามุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานตลอดทั้งปีนี้
“The Great Resignation มักถูกตีความว่าพนักงานส่วนใหญ่ลาออกเพื่อไปเดินตามเส้นทางที่พวกเขาวางแผนไว้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แท้จริงแล้ว บุคลากรล้วนต้องการค่าตอบแทนที่เหมาะสม รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และภาพความก้าวหน้าในองค์กรที่ชัดเจน การให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพ พร้อมสนับสนุนด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีและมีพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสม จึงเป็นแนวคิดแบบ win-win ระหว่างพนักงานและตัวผู้ประกอบการ SMEs” เอทูล ทูลิ กล่าวเสริม
ในด้านเส้นทางการปรับตัวของ SMEs การสำรวจพบว่าการจัดการกับวิฤตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ SMEs ในประเทศไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนไปโฟกัสที่ด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากความยืดหยุ่น และ 78% ของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนี้ เชื่อมั่นว่าพวกเขามีความยืดหยุ่นระดับปานกลางจนถึงมากที่สุดในการปรับตัวรับมือกับผลกระทบของโควิด มีเพียง 6% เท่านั้นที่คิดว่าการดำเนินธุรกิจพวกเขาปราศจากความยืดหยุ่น
นอกจากนี้ ความมั่นใจในศักยภาพทางธุรกิจของเหล่า SMEs สะท้อนผ่านทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ผลสำรวจชี้ว่า 85% ของ SMEs ไทยมีความมั่นใจในระดับปานกลางจนถึงมากที่สุดต่อการเติบโตของพวกเขาในอีก 12 เดือนข้างหน้า
“ด้วย Mindset ที่ใช่ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค เนื่องจาก SMEs เปรียบเสมือนหัวใจหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคิดเป็น 97% ของธุรกิจในเอเชีย และกระตุ้นการจ้างงานกว่า 50% ของพนักงานทั่วเอเชีย เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อ SMEs เติบโต สภาพเศรษฐกิจตลอดจนความแข็งแกร่งของเอเชียก็จะเจริญรุดหน้าต่อไป การวางแนวคิดทางธุรกิจโดยผสานการใช้งานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ พร้อมให้ความสำคัญกับบุคลากร และระบบนิเวศของพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง จะทำให้ SMEs ในประเทศไทย ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ในระยะยาว” เอทูล ทูลิ กล่าวสรุป