สกมช.เดินหน้าพัฒนาคนไซเบอร์ จับมือ อว.ผลิตบัณฑิตป้อนตลาดอย่างน้อยปีละ 1,000 คน พร้อมหนุนกองทัพยกระดับรับมือภัยไซเบอร์
พล.อ.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวว่า สำนักงาน กมช. หรือ สกมช.ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยกระดับการดูแล การรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งประสานงาน สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายในการผลิตกำลังคนเฉพาะด้านพัฒนาทักษะ รวมทั้งการปฏิบัติตามนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
สำหรับความสำคัญของการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ และความเจริญก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน มีการใช้งานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก่อให้เกิดช่องโหว่ต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งนี้ แนวทางในการดำเนินการต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ใช้ได้ผลดี คือการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกัน เพราะลักษณะของภัยทางไซเบอร์นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบหรือจำกัดอยู่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่หากสามารถส่งผลกระทบและแพร่กระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องพันธกิจหนึ่งของ สกมช. คือ การแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในประเทศ หน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมการเพื่อจะลงนามบันทึกความร่วมมือกับประเทศอิสราเอล จีน อินเดีย อังกฤษ และอีกหลายประเทศ รวมถึงหน่วยงานในประเทศ เช่น กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามแนวนโนบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายไว้
ขณะที่ พล.อ.ต.อมร ชมเชย รองเลขาธิการ กมช.กล่าวว่า ความร่วมมือนี้มีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาคณาจารย์ให้พร้อมในการสอนหลักสูตรด้าน Cybersecurity และพัฒนาบัณฑิตผ่านโครงการ Sand Box อย่างน้อยปีละ 1,000 คน เพื่อให้ประเทศมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต่อไป
ความสำคัญของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมทั้งให้ สกมช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติ และประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง อันจะทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สกมช.ยังได้เอ็มโอยู กับกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยกระดับการดูแล การรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ และสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินการเพื่อปกป้อง ป้องกัน ส่งเสริม ลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตี ตลอดจนรับมือ และแก้ไขสถานการณ์ด้านภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
มีขอบเขตความร่วมมือในการพัฒนา สร้างการตระหนักรู้ พัฒนาขีดความสามารถทักษะและความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ผ่านโครงการ กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรทางด้านไซเบอร์ต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการเพื่อยกระดับการดูแลและการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ในลักษณะแบบ CERT (Computer Emergency Response Team) ซึ่งรวมถึงการร่วมกันกำหนดกลไกการตอบสนอง จัดการกับเหตุการณ์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Incident Response) และการดำเนินกิจกรรมซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Drill) พร้อมทั้งจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลง ตลอดจนร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ วิธีการโจมตีหรือการก่อภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือในด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง