xs
xsm
sm
md
lg

เอคเซนเชอร์มั่นใจไทยขึ้นนำเมตาเวิร์ส ชวนคิดใหม่ดันจีดีพีประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไทยถูกมองว่าก้าวหน้านำหลายประเทศเรื่อง Metaverse
เอคเซนเชอร์ (Accenture) ประเมินไทยแซงหน้าหลายประเทศเรื่องเมตาเวิร์ส (Metaverse) มั่นใจสามารถสร้างและขับเคลื่อนจีดีพีให้ประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็งได้มาก ขาดอย่างเดียวคือต้องรีอิมเมจจิ้น หรือคิดใหม่ทำใหม่ให้ได้ รับไทยเด่นเฉพาะบางเทรนด์ใน 4 แนวโน้มเมตาเวิร์สโลก เด้งเปิดตัวหน่วยธุรกิจใหม่ "Metaverse Continuum" ช่วยธุรกิจผสมโลกจริงและโลกเสมือน เพื่อสร้างโลกแห่งประสบการณ์แนวใหม่

น.ส.ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวในการเปิดเผยผลการสำรวจรายงาน Accenture Technology Vision 2022 ว่า เมตาเวิร์สจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจเกิดใหม่ในไทย เชื่อว่าจะพัฒนาบริการด้านสุขภาพ บริการด้านการเงินและธนาคาร การท่องเที่ยว การเกษตร ทำให้ไทยสามารถนำเอาเทคโมโลยีมาเสริมจุดแข็งของประเทศได้ด้วยการสร้างเมตาเวิร์สเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มเป้าหมายในช่วงก่อนที่จะเดินทางมาเห็นพื้นที่ให้บริการจริง

"ไทยต้องเตรียมความพร้อม ธุรกิจโรงแรมหรือท่องเที่ยวควรนำเสนอความพร้อมให้คนเห็น การที่ไทยจะเป็นฮับด้านสุขภาพ เมตาเวิร์สจะทำให้คนทั่วโลกได้เห็นโรงพยาบาล เครื่องมือ และการดูแลรักษาก่อนจะเดินทางมา ตรงนี้จะสร้างและขับเคลื่อนจีดีพีให้ประเทศได้มากทีเดียว ถ้าทำได้ ไทยจะเข้มเข็งมาก ขาดอย่างเดียวคือต้องรีอิมเมจจิ้นให้ได้"

ปฐมา จันทรักษ์
การคิดใหม่นี้มีต้นเรื่องจากอิทธิพลของ Metaverse จักรวาลของโลกดิจิทัลที่แผ่กระจายครอบคลุมโลกแห่งความจริงและโมเดลธุรกิจน้อยใหญ่ ทำให้เกิดแนวทางใหม่ต่อวิธีการทำงาน การดำเนินธุรกิจ และการมีปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน จุดนี้ปฐมา อธิบายว่าธุรกิจต่างแข่งขันกันเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่แตกต่างไปจากเดิม สิ่งที่เคยออกแบบมาสำหรับธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีเสมือนจริงล้ำสมัย extended reality บล็อกเชน ดิจิทัลทวิน และเอดจ์คอมพิวติ้ง ต่างกำลังปรับตัวเข้ามาประสานกันหมด และจะพลิกประสบการณ์ของมนุษย์ในรูปแบบใหม่ ทำให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกรวมถึงไทย ต้องคิดใหม่เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่

การสำรวจพบว่า ผู้บริหารไทยมีความเห็นสอดคล้องกับผู้บริหารทั่วโลก โดยรายงานล่าสุดของเอคเซนเชอร์ที่ส่วนหนึ่งได้ข้อมูลมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารด้านธุรกิจและเทคโนโลยีกว่า 4,600 คน จาก 23 อุตสาหกรรม ใน 35 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ชี้ว่าผู้บริหารทั่วโลก 71% มองว่าเมตาเวิร์สจะส่งผลในเชิงบวกต่อองค์กร และ 42% เชื่อว่า เมตาเวิร์สจะมีบทบาทต่อความความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับผลสำรวจจากผู้บริหารไทยที่ 72% มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเมตาเวิร์สจะส่งผลในเชิงบวกต่อองค์กร แต่มีเพียง 26% เท่านั้นที่เชื่อว่าเมตาเวิร์สจะมีบทบาทต่อความก้าวหน้า หรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

ผู้บริหารไทยและทั่วโลกเกิน 70% มองว่าเมตาเวิร์สจะส่งผลในเชิงบวกต่อองค์กร
อย่างไรก็ตาม ปฐมา ชี้ว่าหลายมหาวิทยาลัยและองค์กรไทยเริ่มเปิดตัวเมตาเวิร์สในทันทีที่ "มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก" เปลี่ยนขื่อบริษัทเป็นเมต้า (Meta) หลายองค์กรก็เริ่มเปิดให้ผู้ใช้ทั่วโลกเข้าไปดู มีการชมสวนทุเรียนออนไลน์ การเยี่ยมชมโรงพยาบาลจากระยะไกล มีการเปิดให้ได้เยี่ยมชมสถานที่ก่อนเข้าพัก ขณะที่บริษัทอสังหาฯ เริ่มมีบริการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้เห็นโลกเสมือนจริงก่อนซื้อ รวมถึงหลายมหาวิทยาลัยเปิดให้นักศึกษาได้ชมก่อนตัดสินใจมาเรียน สถานการณ์นี้ชี้ว่าไทยอินเทรนด์ที่สุด ซึ่งเอคเซนเชอร์จะมีการตั้งศูนย์เมตาเวิร์สขึ้น เพื่อให้ลูกค้าไทยได้เห็นยูสเคส ว่า เมตาเวิร์สนั้นมาแน่นอน

"แต่ปัญหาที่หลายคนต้องกลับมาวิเคราะห์ คือจะสร้างเงินจากผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างไร ในวันที่แบรนด์ใหญ่อย่างกุซซี่ออกสินค้าบนเมตาเวิร์สมาแล้วขายแพงกว่าของจริง ดังนั้น องค์กรจะต้องกลับไปคิดใหม่ว่าจะสร้างรายได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ใช้เทคโน แต่ต้องมองให้ขาดว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรสร้างเงิน สร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่าย"

เบื้องต้น ปฐมา ประเมินว่าแนวโน้มเด่นของวงการเมตาเวิร์สไทยคือเว็บมี (WebMe) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ชื่อเรียกที่เอคเซนเชอร์ตั้งขึ้นสำหรับเล่าถึงแนวโน้มการสร้างโลกเมตาเวิร์สของธุรกิจ โดยแทนที่จะเป็นเว็บไซต์และแอปหลากหลายประเภท แต่ WebMe คือการสร้างโลกเมตาเวิร์สด้วยเทคโนโลยีเว็บทรี (Web3) แนวโน้มนี้เป็นการสร้างสภาพแวดล้อม 3 มิติต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้สามารถ "ย้าย" จากพื้นที่คอนเทนต์หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ง่ายเหมือนเดินออกจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง

แนวโน้มเด่นของวงการเมตาเวิร์สไทยคือเว็บมี (WebMe) การสร้างโลกเมตาเวิร์สด้วยเทคโนโลยี Web3
สำหรับแนวโน้มที่ยังไม่เห็นชัดในไทยคือเทรนด์ที่ 2 และ 3 ในรายงาน นั่นคือเทรนด์โปรแกรมเมเบิลเวิล์ด (Programmable World) ซึ่งถูกนิยามว่าโลกที่กำหนดและปรับแต่งได้ที่ให้ประสบการณ์แบบเฉพาะคนที่ตั้งค่าไว้ล่วงหน้าได้ ขณะที่เทรนด์ที่ 3 คือดิอันเรียล (The Unreal) โลกที่ไม่แท้จริงที่ทำงานด้วยข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่ง 96% ของผู้บริหารกลุ่มตัวอย่างระบุว่ากำลังหาวิธีใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

"programable world ไทยอาจจะช้า แต่ควรทำ เพราะจะช่วยเรื่องสินค้าเกษตร และธุรกิจยุทธศาสตร์ของประเทศให้แข็งแกร่งได้ unreal ก็ยังมีน้อย และคนไทยมีภูมิคุ้มกันน้อยด้วย สิ่งที่อยากเห็นคือแพลตฟอร์มของประเทศ ที่จะแยกข้อมูลดีฟเฟก เพื่อปกป้องให้ผู้คนได้เสพข่าวจริงที่กรองแล้ว เพราะวันนี้แยกได้ยากมาก"

โลกที่กำหนดและปรับแต่งได้

โลกที่ไม่แท้จริงที่ทำงานด้วยข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
สำหรับเทรนด์สุดท้ายคือการใช้ระบบใหม่ New Machine ซึ่งเป็นเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่จะประมวลผลได้แม้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้ง และการประมวลผลจากข้อมูลชีวภาพ (biology-inspired computing) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าช่วยให้ธุรกิจสามารถแก้ปัญหาจากเดิมที่หากใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบเก่า อาจจะมีราคาแพงเกินไป ไม่มีประสิทธิภาพ หรือเป็นไปไม่ได้เลย 

ประเด็นนี้ปฐมา ย้ำว่าประเทศไทยไม่ด้อยเรื่องการใช้เครื่องประสิทธิภาพสูง และมีการเข้าไปคุยกับลูกค้าองค์กรไทยต่อเนื่องเรื่องควอนตัมคอมพิวติ้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่เอคเซนเชอร์จะตัดสินใจเปิดตัวกลุ่มธุรกิจ Accenture Metaverse Continuum ขึ้น ซึ่งนำทัพโดยพอล โดเฮอร์ตี้ หัวหน้าฝ่ายบริหาร กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีของเอคเซนเชอร์ และเดวิด โดรกา กรรมการบริหารของเอคเซนเชอร์ อินเทอร์แอ็กทีฟ

องค์กรยุคเมตาเวิร์สกำลังจะใช้ New Machine เครื่องจักรรุ่นใหม่ที่จะประมวลผลได้แม้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ในมุมของเอคเซนเชอร์ประเทศไทย ปฐมาระบุว่าปีนี้จะเน้นโฟกัส 3 จุด ได้แก่ การพัฒนาทักษะบุคลากร ที่ต้องเข้าใจเทคโนโลยีจากหลายเวนเดอร์ นอกจากนี้ คือการมุ่งเตรียมยูสเคส เพื่อรองรับและช่วยองค์กรที่วันนี้ต้องพบความท้าทายเรื่องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และการเป็น "one accenture" ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นผลดีกับลูกค้า

"วันนี้เรามีธุรกิจที่ปรึกษากลยุทธ์ และธุรกิจให้บริการร่วมสร้างเทคโนโลยี เป็นการลงมือทำเลย เรามีศูนย์เทคโนโลยีที่ตั้งในไทย มีบริษัทร่วมทุน เราตั้งใจสร้างอิมแพกต์เรื่องช่วยลูกค้าให้ได้มากที่สุด"


กำลังโหลดความคิดเห็น