xs
xsm
sm
md
lg

เซลฟี่ส่วนตัวไม่ผิด PDPA แต่แอบถ่าย-Live ต้องระวัง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ปรึกษากรรมการฯ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแจงเซลฟี่ส่วนตัว หากติดภาพผู้อื่น ไม่ผิดกฎหมาย เหตุไม่มีเจตนาแอบถ่าย ส่วนการไลฟ์สดต้องระวังผิด กม.หวั่นประชาชนไม่เข้าใจ เกิดการร้องเรียนจำนวนมาก แจง กม.ยึดหลักไกล่เกลี่ยก่อนการลงโทษทางปกครอง

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ชี้แจงข้อสงสัย เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.2565 หากถ่ายภาพเซลฟี่แล้วติดใบหน้าคนอื่น เจ้าของภาพสามารถฟ้องคนถ่ายได้หรือไม่ ว่า กฎหมายมีข้อยกเว้น การถ่ายภาพเพื่อประโยชน์ส่วนตัว งานวรรณกรรม ศิลปกรรม และงานสื่อสารมวลชนที่ดำเนินการตามแนวจริยธรรม ทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณชน หากติดภาพผู้อื่นไปไม่ถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย

เจตนาของผู้ถ่ายภาพเซลฟี่ ถึงจะติดภาพผู้อื่นมาแต่ไม่มีเจตนาถ่ายภาพคนนั้น ไม่ได้แอบถ่าย สามารถทำได้ อย่างไรก็ดี ถ้าเจ้าของภาพต้องการใช้สิทธิให้ลบสามารถขอให้ลบได้ กฎหมายไม่ได้บอกว่าผิดชัดเจน อาจใช้วิธีการเบลอ ส่วนงานวรรณกรรม กฎหมายไม่ได้ห้ามงานวรรณกรรม การเขียนถึงใครคนหนึ่ง กฎหมายให้การยินยอม ถ้างานเขียนนั้นไม่ได้เป็นการละเมิดทำให้ผู้อื่นเสียหาย และไม่ใช้ในการแสวงหากำไร กรณีสื่อมวลชน มีประมวลจริยธรรมคุ้มครองอยู่ สื่อมวลชนย่อมทราบดีว่าจะถ่ายภาพหรือเขียนอย่างไรให้เป็นไปตามจริยธรรมและไม่ไปละเมิดผู้อื่น สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องระวังคือการไลฟ์บนสื่อโซเชียล กฎหมายไม่ให้การคุ้มครอง

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ตระหนักว่าในปีแรกน่าจะมีความไม่เข้าใจและเกิดการฟ้องร้องกันมาก คณะกรรมการได้กำหนดมาตรการยึดหลักการไกล่เกลี่ยก่อน การลงโทษทางปกครองจะเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย ขอย้ำว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายจะส่งเสริมธุรกิจ โดยหลักการกฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์มุ่งเน้นการปราบปรามหรือเคร่งครัดเหมือน GDPR ของยุโรป ขอย้ำว่า อย่ากังวลกับกฎหมายฉบับนี้ แนวปฏิบัติของกฎหมายจะดูแลธุรกิจกฎหมายต้องการเอาผิดกับคนกระทำความผิดที่เอาข้อมูลส่วนบุคคลไปทำให้เกิดความเสียหาย เน้นการลงโทษกับคนที่ละเมิดผู้อื่น ละเมิดเด็ก หรือทำให้เกิดความเสียหาย


กำลังโหลดความคิดเห็น