แคนนอน (Canon) มั่นใจตลาดรวมพรินเตอร์ไทยคึกคักครึ่งหลังปี 65 เชื่อทุกแบรนด์เร่งโฟกัสทำการตลาดหลังจากกำลังผลิตกลับมาปกติ ตั้งเป้าเติบโต 135% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่ส่วนแบ่งตลาดหดเพราะสินค้าไม่พอจำหน่าย เล็งออกเครื่องพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 9 รุ่นปีนี้ รับยอดขายเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ททั่วไทยที่คาดการณ์ว่าจะทะลุ 9 แสนเครื่องในช่วงปิดปี
น.ส.เนตรนรินทร์ จันทร์จรัสสุข ผู้อำนวยการ ฝ่ายขายและการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์ซิสเต็ม (พรินเตอร์) บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวในงานเปิดตัวแคมเปญ “แคนนอนพรินเตอร์ มือใคร...ก็ใช้ง่าย” ถึงความเชื่อมั่นว่าครึ่งหลังของปี 2565 จะเป็นช่วงเวลาผ่อนคลายของปมปัญหาชิปเซ็ตขาดแคลนที่ทำให้กำลังการผลิตเครื่องพิมพ์แคนนอนสะดุดลง จนส่งผลให้ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดพรินเตอร์ของแคนนอนในช่วงปี 64 ลดลงเหลือ 26% เมื่อปี 2565 เป็นปีที่ตลาดเครื่องพิมพ์ หรือพรินเตอร์ไทยมีแนวโน้มจะกลับมามีเสถียรภาพเช่นเดิม แคนนอนจึงวางแผนทำแคมเปญใหม่และโฟกัสกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุม เพื่อไปสู่เป้าหมายการเติบโตปีนี้ที่วางไว้ 135%
"ปัจจัยลบที่แคนนอนเห็นในตลาดพรินเตอร์ไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้คือความไม่แน่นอน และสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เรามั่นใจว่าถ้าของไม่ขาด การขนส่งไม่มีปัญหา เราก็จะกลับมาเป็นเบอร์ 1 ได้ ส่วนแบ่งตลาดต้องได้ 35% และกลุ่มแท็งก์แท้จะไม่ต่ำกว่า 30%"
สำหรับ “แคนนอนพรินเตอร์ มือใคร...ก็ใช้ง่าย” นั้นเป็นแคมเปญล่าสุดของแคนนอนที่โฟกัสเรื่องการปลดล็อกทุกข้อจำกัดงานพิมพ์ เพื่อเข้าถึงผู้ใช้ทุกระดับ จากการเคลมตัวเองว่าเป็นผู้นำด้านดิจิทัลอิมเมจจิ้งและไอทีโซลูชันระดับโลก แคมเปญนี้จึงมุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยนวัตกรรมและบริการที่ครบวงจร ติดปีกให้ลูกค้าทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ให้สามารถเลือกใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าสูงสุด โดยแคนนอนมุ่งพัฒนากลยุทธ์เชิงรุกให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคทุกระดับหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เพื่อมอบประสบการณ์เครื่องพิมพ์ประสิทธิภาพสูงที่ใช้ง่าย ทนทาน คุ้มค่าการลงทุน
ไอเดียของแคมเปญนี้คือผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของแคนนอน ที่พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนเคยผ่านการใช้งานพรินเตอร์มาแล้ว ไม่ว่าจะซื้อใช้เองหรือใช้งานของบริษัทหรือสถานบันการศึกษา แต่น่าแปลกใจที่ผู้ใช้งานส่วนมากกลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นมือใหม่อยู่เสมอ เนื่องจากเทคโนโลยีพรินเตอร์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคย แคนนอนจึงอยากเปลี่ยนความคิดนี้ผ่านการเน้นย้ำจุดแข็งที่แคนนอนได้พยายามสื่อสารมาโดยตลอด นั่นคือเรื่องของ "ความง่าย" ถึง 6 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา, กลุ่ม Work from Home/Freelance ผู้ทำงานจากที่บ้าน หรือรับจ้างอิสระ, กลุ่มธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs, กลุ่มองค์กรใหญ่ Enterprise/Workgroup, กลุ่มครอบครัว และกลุ่มช่างภาพ โดยปัจจุบัน แคนนอนมีลูกค้ากลุ่มธุรกิจราว 20% และกลุ่มผู้บริโภค 80%
ภาวะตลาดพรินเตอร์ไทยมีปัจจัยบวกหลายด้าน แคนนอนชี้ว่าสถานการณ์โควิดในช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการพรินเตอร์ภาพรวมเติบโตขึ้น ซึ่งเกิดจากผู้คนในองค์กรธุรกิจทุกระดับเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work From Home รวมถึงการเรียนระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้งานพรินเตอร์มีความหลากหลายมากขึ้น เป็นที่มาของความเคลื่อนไหวแคนนอนที่ต้องการสื่อสารไปยังทุกกลุ่มผู้ใช้งาน เพื่อต่อยอดความง่ายไปมากกว่าแค่ในเชิงธุรกิจ และทำให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ มือโปร หรือมือไหนๆ ก็สามารถใช้เครื่องพิมพ์ได้ง่ายทุกมือ
ในภาพรวม แคนนอนประเมินว่าตลาดรวมอิงค์เจ็ทจะมียอดขายราว 9 แสนเครื่องในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนเติบโต 22% จากปี 64 คาดว่า 75% ของยอด 9 แสนเครื่องจะเป็นเครื่องพิมพ์แท็งก์แท้ เป็นภาวะตลาดฟื้นตัวหลังจากที่ซบเซาในช่วงก่อนไตรมาส 1 เบื้องต้นแคนนอนวางโฟกัสทำตลาดเครื่องพิมพ์แท็งก์แท้เป็นหลัก รองลงมาคือกลุ่มเครื่องพิมพ์ที่ใช้ตลับหมึก ซึ่งคาดว่า 60-70% อาจจะปรับขึ้นไปใช้เครื่องพิมพ์แท็งก์แท้ในปีนี้