ปณท จับมือแอปยาพร้อมส่งยาถึงบ้าน เริ่มทดลองให้บริการพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ตั้งเป้าร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 2,000 ร้านค้าภายในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 10,000 ร้านค้า ภายใน 3 ปี คาดมีผู้ใช้งานจำนวน 2 ล้านคนภายใน 3 ปี
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย จับมือร่วมกับบริษัท ยาพร้อม จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ยาพร้อม” ในการจัดส่งยาของร้านค้าที่อยู่บนแอปพลิเคชัน โดยบุรุษไปรษณีย์จะเข้าไปรับยาและส่งไปยังลูกค้าปลายทาง ซึ่งไปรษณีย์ไทยมีความเชี่ยวชาญในการส่งยาและเวชภัณฑ์น้ำยาล้างไต ตลอดจนยาสามัญประจำบ้านสำหรับผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว ด้วยความพร้อมด้านการส่งยาและเวชภัณฑ์ทั้งแบบอุณหภูมิปกติ และการส่งด้วยรถควบคุมอุณหภูมิความเย็น ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อให้สามารถส่งยาเฉพาะตามแพทย์สั่งไปยังคนไข้ที่บ้านได้ ดังนั้น ในระหว่างที่รอกฎหมาย ความสามารถในการส่งยาสามัญประจำบ้าน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำลี เอทีเค เป็นต้น จึงทำได้และเชื่อว่าจะกลายเป็นเทรนด์ของผู้บริโภค เพราะไม่ต้องการไปแออัดรับยาที่โรงพยาบาล หรือเดินทางไปซื้อยาเอง
"ไปรษณีย์ไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบการให้บริการทางการแพทย์แบบ Telehealth,Telemedicine ที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายในการรับการรักษาไปรษณีย์ไทยจึงใช้ศักยภาพในการขนส่งที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วยบุรุษไปรษณีย์กว่า 20,000 คน เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขของไทย โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา และการใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วด้วยบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดส่ง เพื่อควบคุมให้ยายังคงคุณภาพตลอดระยะทางการจัดส่งจนถึงมือผู้ป่วย โดยจะเริ่มทดลองให้บริการจัดส่งยาจากแอปพลิเคชันยาพร้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล"
น.ส.สิริน ฉัตรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยาพร้อม กล่าวว่า การพัฒนาแอปพลิเคชัน “ยาพร้อม” เพื่อให้ร้านขายยา เภสัชกร และผู้ป่วยสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงยาและการให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากที่สุด เช่น ระบบให้บริการแบบ Realtime ระหว่างเภสัชกรกับคนไข้ทั้งรูปแบบ Chat / Voice / Video เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการยาที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย ระบบ Pharmacist Call Center กลาง ที่ช่วยรับสายลูกค้าและส่งออเดอร์ไปยังร้านยาที่ใกล้ที่สุด รวมถึงระบบแผนที่ร้านขายยา (Geolocation) ที่ช่วยค้นหาร้านขายยาที่อยู่ใกล้ เป็นต้น ตั้งเป้าร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 2,000 ร้านค้าภายในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 10,000 ร้านค้า ภายใน 3 ปี และคาดมีผู้ใช้งานจำนวน 2 ล้านคน ภายใน 3 ปี
ตลอดปีนี้บริษัทจะทยอยเปิดระบบการให้บริการต่างๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการสูงสุดเพื่อสร้างให้แอปพลิเคชัน “ยาพร้อม” เป็นระบบการให้บริการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และรักษาอาการเจ็บป่วยที่ครอบคลุม (All in one Apps) มากที่สุด ซึ่งถือเป็นจุดขายที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยเน้นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น ระบบ Call Center สำหรับเภสัชกร ระบบ AI เพิ่มการให้บริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น เช่น การวิเคราะห์อาการเบื้องต้น (Yaphrom Primacy Care) ระบบการเลือกหาร้านขายยา (Geolocation) ระบบการแจ้งเตือน Drug Allergy / Drug Interaction และระบบการแจ้งเตือนการรับประทานยา (Drug Notification) เป็นต้น
สำหรับจุดขายที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ คือการที่ผู้ใช้บริการสามารถปรึกษาเภสัชกรได้ผ่านทาง Chat / Voice / Video รวมถึงมีการบันทึก OPD Card สำหรับประวัติการรักษา รองรับหลายภาษา ทั้งภาษา ไทย อังกฤษพม่า จีน ระบบปรึกษาและสั่งยาแทนสำหรับคนในครอบครัว ระบบการขนส่งยา รักษาคุณภาพยาที่ได้มาตรฐาน โดยมีโรงงานผลิตยาที่พร้อมสนับสนุนสินค้าเพื่อร้านขายยา รวมถึงระบบรองรับการจัดเก็บข้อมูลเพื่อป็นหลักฐานระหว่างการสนทนาของเภสัชกร และผู้ป่วยที่ได้รับคำปรึกษาผ่านระบบนี้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีระบบ B2B สำหรับซื้อยาจากโรงงานผู้ผลิต และระบบ POS (Point of sale) สำหรับร้านขายยา ที่สำคัญระบบยาพร้อม ยังสามารถIntegrate ร่วมกับ platform อื่นๆ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้า และผู้ประกอบการอีกด้วย
ปัจจุบันพันธมิตรหลักของ “ยาพร้อม” ประกอบด้วย ร้านขายยา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 5,000 ร้านที่อยู่ใน Geolocation Mapping ของยาพร้อม และบริษัทผู้ผลิตยาหลากหลาย รวมถึงบริษัทอีคอมเมิร์ซ อย่าง OCC ในเครือของสหพัฒนพิบูลย์ ในส่วนของเวชภัณฑ์ เวชสำอาง และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย ตลอดจนมีบริการจากสถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงไทย ที่ร่วมพัฒนาระบบชำระเงินรูปแบบออนไลน์ในแอป เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าและบริการให้ร้านขายยาได้ทันที พร้อมให้บริการสินเชื่อคู่ค้าพารวย ในรูปแบบ Digital Supply Chain Financing โดยกำหนดวงเงินจากข้อมูลการสั่งซื้อยาของร้านขายยา และไม่ต้องใช้หลักประกันในการขอสินเชื่อ เพื่อให้ร้านขายยาสมาชิกมีเงินทุนหมุนเวียนในการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้าน และสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างราบรื่น โดยยาพร้อม ตระหนักถึงมาตรการและมาตรฐานของทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาให้แอปพลิเคชันนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ทั้งนี้ จำนวนร้านขายยา (ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2564) อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 23,956 ร้าน ขณะที่ตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 136,800 ล้านบาท แบ่งเป็นช่องทางโรงพยาบาลและคลินิก107,600 ล้านบาท และร้านขายยา 29,200 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าตลาดยาปี 2565 ยังเติบโตอยู่ที่ 3-5%