ดีอีเอส จับมือ สกมช. ตรวจสอบเว็บไซต์ ป.ป.ช. ยันไม่ได้ถูกเเฮก ระบบป้องกันข้อมูลรัฐดี ส่วนข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในเว็บอื่น เป็นข้อมูลที่ ป.ป.ช.เปิดเผยอยู่แล้วตามกฎหมาย ทั้งบัญชีทรัพย์สิน มติชี้มูลความผิด
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากเหตุการณ์กรณีที่มีนําเสนอข่าว มีข้อมูลทรัพย์สิน 780 บัญชี-เรื่องชี้มูล 1,366 คดี รั่วไหลไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานอื่นของภาคเอกชน ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่า เว็บไซต์ของสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถูกแฮก ทางกระทรวงดีอีเอส และสํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ร่วมกับ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วพบว่า เรื่องนี้ไม่ได้ถูกแฮก ไม่ได้ถูกโจมตี
ระบบของ ป.ป.ช.ยังมีความมั่นคงปลอดภัย โดยข้อมูลที่รั่วไหลออกไปเป็นข้อมูลที่ป.ป.ช.เปิดเผยอยู่แล้วตามกฎหมายบัญชีทรัพย์สิน ข้อมูลมติชี้มูลความผิดซึ่งป.ป.ช.เปิดเผยอยู่แล้ว แต่มีบุคคลบางกลุ่มนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ของกลุ่มบุคคลนั้นซึ่งทำให้เกิดความสับสน ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน บิดเบือน เปลี่ยนแปลง ทาง ป.ป.ช.จึงได้มีการแจ้งเตือนไม่ให้นำข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวไปใช้ ให้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์ของป.ป.ช.เท่านั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่ได้ถูกแฮก หรือโจมตี
ด้านนาวาอากาศเอกอมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบพบเจอเหตุการณ์นี้ครั้งแรก วันที่ 13 มกราคม 2565 และหลังจากนั้นได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับทาง ป.ป.ช. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าจากข้อมูลที่พบเจอนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ตัวเว็บรวมทั้งระบบต่างๆ ของ ป.ป.ช.ยังมีความมั่นคงปลอดภัย แต่ในสิ่งที่ถูกสื่อเสนอออกไปว่ามีการถูกแฮกนั้นมันไปเกิดขึ้นกับตัวระบบของหน่วยงานอื่นที่ได้ดูดข้อมูลนี้ไปแล้วก่อให้เกิดการเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นในส่วนประเด็นนี้คือ ตัวองค์กรที่เกี่ยวข้องยังมีความมั่นคงปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ทาง สกมช. กับทางดีอีเอสจะเตรียมการและเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งประเด็นนี้ และประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคต