“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส เผย Cyber Security การเงินไทยยอดเยี่ยม แนวโน้มการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ดันปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์เป็นภัยใกล้ตัว ย้ำนายกรัฐมนตรีใส่ใจความปลอดภัยไซเบอร์กับประชาชน หนุนเสริมขีดความสามารถรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ วอนทุกภาคส่วนตระหนักและสร้างความเข้าใจ ร่วมขับเคลื่อนการทำงาน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงความปลอดภัยไซเบอร์ 2022 ว่า ปัจจุบันความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความสําคัญใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจําวัน และจะทวีความสําคัญยิ่งขึ้นตามแนวทางของโลกที่กําลังปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในหลากหลายมิติ ยิ่งมีการใช้งานหรือทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับดิจิทัลมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์
ทั้งนี้ หลายประเทศตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ และได้กำหนดมาตรการในการป้องกัน ยกระดับขีดความสามารถของหน่วยงาน ตลอดจนการเร่งรัดพัฒนาบุคลากรทางไซเบอร์ เพื่อให้สามารถรองรับกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
ในส่วนของประเทศไทย มีกฎหมายคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 ซึ่งกําหนดให้มีการจัดตั้งสํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ขึ้นมา เพื่อดําเนินการในการกําหนดนโยบาย จัดทําแผนปฏิบัติการทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ ตลอดจนการประสานงาน เฝ้าระวัง แก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ชื่นชมที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ดีมาก
โดยเฉพาะระบบการเงินการธนาคารยังไม่มีการถูกแฮก ถึงแม้อาจมีการถูกโจมตีก็สามารถป้องกันได้ สามารถรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบการเงินการธนาคารได้ดี รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เรื่องไฟฟ้าหรือประปา หรือการขนส่งมวลชนต่างๆ ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เรามีระบบป้องกันที่ดี ซึ่งรัฐบาล ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ เป็นห่วงภัยดังกล่าวใกล้ตัวประชาชน จึงได้ออกกฎหมายเพื่อตั้งหน่วยงานมากำกับดูแลเรื่องนี้ เรียกว่าสำนักงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งตอนนี้มีการออกมาตรฐานกำกับดูแลสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม มีความชัดเจนและให้มีการพัฒนาระบบการมั่นปลอดภัยไซเบอร์ให้ทันสมัยต่อไป
ขณะที่ สกมช. ยังมีหน้าที่เร่งรัดการพัฒนาบุคลากร การยกระดับขีดความสามารถของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศหน่วยงานถาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ให้มีความพร้อมในการรับมือ ตอบโต้ภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ
“ส่วนตัวผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ในฐานะเป็นประธานกรรมการกํากับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) และประธานกรรมการบริหาร สํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กบส.) และเป็นกรรมการใน สกมช. จะร่วมมือกันทําหน้าที่กําหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สําหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศ (CII) ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบ และสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และประเทศชาติ เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ” นายชัยวุฒิ กล่าว
รมว.ดีอีเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า การทําหน้าที่ของดีอีเอส และ สกมช. จําเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจําเป็นต้องสร้างความเข้าใจถึงภาระหน้าที่ และความจําเป็นที่ต้องมีหน่วยงานรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ อันจะเป็นการส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคม และประชาชนในวงกว้าง