xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจ AIS Business เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจไทยด้วยโครงข่ายอัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอไอเอส บิสสิเนส เดินหน้าช่วยผู้ประกอบการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลแบบ 100% ภายใต้การนำเสนอโครงข่ายอัจฉริยะ พร้อมตั้งเป้ารักษาการเติบโตต่อเนื่องหลังเตรียมความพร้อมเทคโนโลยี 5G เพื่อองค์กรธุรกิจ หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงความท้าทายของการแข่งขันในกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่การนำเสนอเทคโนโลยี หรือเรื่องของโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะหันมาลงทุนทางด้านเทคโนโลยี แต่จะอยู่ที่ทำอย่างไรถึงจะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะความรวดเร็วในการนำเสนอ และการขยายตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม

“ความท้าทายที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่เรื่องของบุคลากรเป็นหลัก ซึ่งนับเป็นปัญหาในระดับประเทศ ทำให้การมีแนวทางในการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกจะเข้ามาช่วยให้ผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปได้”

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาในแต่ละปี เอไอเอสใช้เงินลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานราว 30,000-35,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีสถานีฐาน AIS 5G กว่า 19,000 สถานีฐานครอบคลุม 76% ของประชากรทั่วประเทศ และมีแผนที่จะขยายความครอบคลุมเป็น 85% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้


จุดแข็งสำคัญที่ทำให้เอไอเอส บิสสิเนส สามารถดึงจุดเด่นของ AIS 5G มาใช้งานได้ในเวลานี้คือการที่มีโครงข่าย 5G ครอบคลุม 99% ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และครอบคลุม 90%ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำความสามารถของ 5G ไปใช้งานได้แล้ว

ขณะเดียวกัน จากการนำเสนอขีดความสามารถของเทคโนโลยี 5G เพื่อให้บริการในฝั่งองค์กรธุรกิจ ประกอบด้วยการให้บริการ 5G Private Netwotk การทำ Multi-Access EDGE Computing ให้รองรับการเชื่อมต่อดีไวซ์จำนวนมาก รวมถึงการทำ Network Slicing เพื่อแบ่งช่องเครือข่าย 5G ให้ใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้งานแบนด์วิดท์ประเภทอื่น และการให้บริการ 5G FWA (Fixed Wireless Access) ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

“เทคโนโลยีเหล่านี้เอไอเอส ได้เริ่มลงทุน และพัฒนามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้ในปีนี้เอไอเอส บิสสิเนส พร้อมแล้วที่จะเข้าไปให้บริการองค์กรธุรกิจทั่วประเทศ ให้สามารถนำเทคโนโลยี 5G ไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกิจ”

สำหรับในปีที่ผ่านมา ภาพรวมรายได้ของกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจเติบโตขึ้นกว่า 16% ด้วยรายได้ 5,291 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้จากองค์กรธุรกิจในฝั่งโมบายแล้วจะคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 10-12% แต่ที่สำคัญคือมีโอกาสที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด

“โควิด-19 ได้เข้ามาเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งกลายเป็นตัวเร่งที่ดีมากๆ เปรียบเหมือนในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส และที่สำคัญคือมาในช่วงที่เทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนเพื่อเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ได้ทันที”


ในปีนี้ เอไอเอส บิสสิเนส คาดการณ์ว่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตต่อเนื่องในระดับ 2 หลักได้เช่นเดิมเนื่องจากยังมีโอกาส และช่องทางอีกมากให้เข้าไปแข่งขัน เพื่อให้กลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจของเอไอเอสกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักในยุคที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

ธนพงษ์ ระบุว่า โจทย์สำคัญของเอไอเอสในปีนี้คือการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถนำโซลูชันเข้าไปทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ตั้งแต่ระดับ SMEs จนถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ

“แม้ว่าในภาพรวมของการแข่งขันจะมากขึ้น จากการที่ขยายขอบเขตการให้บริการในกลุ่มองค์กรธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันคู่แข่งก็น้อยลง เมื่อเข้าไปนำเสนอในลักษณะของโซลูชันที่รวมทั้งธุรกิจโมบาย และธุรกิจไอซีที โดยเฉพาะในแง่ของการเข้าไปให้คำปรึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในการเติบโตไปด้วยกันจากการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย”

***นำ 5 กลยุทธ์ขยับสู่ Cognitive Telco


สำหรับกลยุทธ์หลักของเอไอเอส บิสสิเนส ในปีนี้ภายใต้การขยับขึ้นไปเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ (Cognitive Telco) จะอยู่ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ประกอบไปด้วย 1.เชื่อมต่อ 5G Ecosystem ในการเชื่อมต่อโครงข่าย AIS 5G ที่เปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ให้สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม ภายใต้การดึงศักยภาพของเทคโนโลยีร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์


2.ยกระดับการทำงานของโครงข่ายด้วย Intelligent Network จากปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 50% ด้วยการเป็นผู้ให้บริการด้านการเชื่อมต่อที่ครบวงจรทั้งเครือข่ายใยแก้วนำแสง และเครือข่ายไร้สายสำหรับลูกค้าองค์กร

“การที่มีทีมงานที่เชี่ยวชาญ จะทำให้เอไอเอส บิสสิเนส สามารถบริหารจัดการเพื่อส่งมอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าตามรูปแบบและพฤติกรรมของการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแตกต่างกันอย่างชัดเจน”


3.มุ่งเสริมความสมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและแพลตฟอร์ม ด้วยการขยายผลในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้าน CCII ที่ครอบคลุม เทคโนโลยีที่ครบครัน ทั้งโซลูชันคลาวด์ (Cloud) บริการความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) บริการ IoT (Internet of Things) และบริการด้านไอซีทีโซลูชัน (ICT Solution)


4.เสริมอาวุธด้านการตลาด และเพิ่มโอกาสการเติบโตด้วย Business Big Data การนำประสบการณ์ด้านงานดูแลลูกค้าทั่วไป เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขัน รวมถึงอาวุธใหม่ๆ สำหรับการสื่อสารทางการตลาดที่จะสร้างยอดขายและการเติบโตได้มากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่เอไอเอส บิสสิเนสต้องเข้าไปช่วยลูกค้าที่มาใช้งาน คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถนำข้อมูลที่มีมาสร้างประโยชน์ให้เกิดสูงที่สุด แต่ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้งาน”


สุดท้าย 5.ส่งมอบบริการด้วยทีมงานมืออาชีพ จากการที่มีซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ทำให้วันนี้ เอไอเอส บิสสิเนส เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในตลาดที่มีความพร้อมสูงสุด มีบุคลากรในสายงาน ICT ที่เชี่ยวชาญและรอบด้าน ทำให้การส่งมอบบริการเพื่อตอบโจทย์องค์กรธุรกิจมีความต่อเนื่อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ประเมิน ติดตั้ง บริหารโครงการ และบริการหลังการขายอย่างมืออาชีพ

“ในปีนี้ เอไอเอสตั้งเป้าที่จะพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเฉพาะทางเพิ่มขึ้น 3 เท่า พร้อมกับเปิดตัวบุคลากรที่มีทักษะไอซีทีอย่างต่อเนื่อง”


นอกเหนือจากในกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มนำเทคโนโลยีไปใช้งานกันแล้ว ยังมีในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ที่ทางเอไอเอสจะยังเดินหน้าแผน “AIS SME 7S” เพื่อนที่มั่นใจได้ทุกเรื่อง ในการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยโซลูชัน และบริการที่หลากหลายทั้งบริการ AIS SME Mobile Services บริการสื่อสารสำหรับธุรกิจ AIS SME Internet Services ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้า AIS SME Digital Marketing Services ช่วยทำออนไลน์มาร์เกตติ้ง AIS SME IT & Digital Solutions พัฒนาระบบไอทีหลังบ้าน

AIS SME Full e-Services อย่างบริการรับบิลและใบเสร็จทางออนไลน์ AIS SME Special Privileges ให้ทำธุรกิจและการใช้ชีวิตง่ายและคุ้มขึ้น สุดท้าย AIS SME Strategic Partnership สร้างโอกาสแห่งการเติบโตจากการผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ เอไอเอส บิสสิเนสยังเตรียมความพร้อมรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างการนำ AI เข้ามาใช้งานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับโซลูชันต่างๆ รวมถึงเข้าไปศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Web 3.0 การนำบล็อกเชนมาใช้ จนถึงเมตาเวิร์ส หรือโลกเสมือนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นอนาคตของเทคโนโลยี

“สิ่งที่เอไอเอสทำคือมอนิเตอร์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่คาดว่ายังเร็วเกินไปที่จะชี้ให้เห็นว่านำไปใช้ในการทำธุรกิจองค์กรอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะได้เห็นโซลูชันจากทางเอไอเอสแน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น