xs
xsm
sm
md
lg

ดีจีเอเล็งปล่อย “แม่เหียะโมเดล” ต้นแบบบริการรัฐบาลดิจิทัล สู่สายตานานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โชว์ผลงานวิจัย “แม่เหียะโมเดล” จากเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังได้รับรางวัล Best Paper Award จากงาน DGTI-Con 2022 อวดศักยภาพนักวิชาการไทยไปทั่วโลก พร้อมประเดิมลงฐานข้อมูล Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) และตีพิมพ์ใน Journal of Intelligent Informatics and Smart Technology

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) หรือดีจีเอ กล่าวว่า ตามที่ดีจีเอได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ DGTI-Con 2022 เพื่อโชว์ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาครัฐ และได้เปิดให้มีการส่งผลงานวิจัยหรือบทความวิชาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปเผยแพร่ในฐานข้อมูลนานาชาติของ Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) มีผู้ส่งรายงานทั้งหมด 63 ผลงาน ผ่านเข้าสู่การนำเสนอผลงานในงาน 22 ผลงาน โดยผู้นำเสนอทั้ง 22 ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์เข้าฐานข้อมูลนานาชาติของ IEEE
 
สำหรับผลงานที่ได้รางวัล Best Paper Award : Digital Transformation of Public Service by Maehia Municipality เป็นผลงานจากเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น ประจำปี 2563 และได้มีการพัฒนาโครงการ “แม่เหียะโมเดล” เป็นระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ E-OFFICE ระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ระบบหนังสือรับรองการแจ้งออนไลน์ และระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะออนไลน์
 
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ชาวแม่เหียะได้รับ คือ ประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐทั้งในเวลาราชการและนอกเวลา โดยมีช่องทางการให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ (เว็บแอปพลิเคชัน) หรือสแกนผ่าน QR Code ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการให้บริการประชาชน และสามารถให้บริการพร้อมกันได้หลายคน อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการของเทศบาล/อบต. ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง ผลของการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทำให้มีระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดเก็บหนังสืออย่างเป็นระบบ/ค้นหา/ตรวจสอบการสั่งการ/สถานะการดำเนินการ/หนังสือตกหล่น ขณะที่เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ เช่น รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ การแจ้งซ่อมต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า “แม่เหียะโมเดล” ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐในการให้บริการประชาชน และสามารถให้บริการแบบเว้นระยะห่างได้
 
ส่วนความคืบหน้าด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดีจีเอ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการศึกษาในการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์สนทนาอัตโนมัติ หรือแชตบ็อตสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก ในการถามตอบกึ่งอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ นำไปสู่ระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม และต้นแบบนวัตกรรมที่หลากหลายตามความต้องการ สำหรับงานบริการประชาชนให้ครอบคลุมในมิติต่างๆ มากขึ้น

“หลังเปิดทดสอบเทคโนโลยีแชตบ็อตก่อนนำไปใช้งานจริงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้จะพร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ จากหน่วยงานที่ยื่นคำขอใช้งาน 80 แห่ง ปัจจุบันได้มีการนำร่องใช้งานแล้ว 20 แห่ง คาดว่าภายในปีนี้จะมีหน่วยงานรัฐใช้แชตบ็อตมากถึง 200 แห่ง”
 
นายสุพจน์ กล่าวว่า ดีจีเอได้เตรียมพร้อมหน่วยงานภาครัฐของไทยในการนำ AI มาใช้เพื่อให้บริการประชาชน บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ แต่ขณะเดียวกัน เป็นโอกาสที่ดีจีเอจะเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาให้นักเทคโนโลยี เพื่อลดอุปสรรคในการพัฒนา และทำลายข้อติดขัดต่างๆ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปปรับใช้ ดีจีเอได้พัฒนาระบบ Auto Tag และโปรแกรมจำเสียงอัตโนมัติ ที่นำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า อนาไลติกส์ ผนวกกับเทคโนโลยีเครื่องจักรเรียนรู้ (แมชชีนเลิร์นนิ่ง) เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบที่สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดหมวดหมู่ ข้อความเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐแบบอัตโนมัติได้อย่างเรียลไทม์ รวมทั้งการจัดทำหนังสือ Digital innovation in Local Government ที่เป็นเหมือนไกด์ไลน์ในการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น