จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติกับ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ส่งเสริมนิสิตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโลกทางด้านนวัตกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและนานาชาติ
รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ (Chulalongkorn School of Integrated Innovation : ScII) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ Sutardja Center for Entrepreneurship and Technology (SCET) University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การวิจัย และการพัฒนาทางด้านนวัตกรรม โดยผู้บริหารของ SCET ได้มาเยี่ยมชมสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้
รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวว่า การดำเนินงานของสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ เกี่ยวข้องกับความเป็นนานาชาติและทั่วโลก (Global) การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการบูรณาการข้ามศาสตร์ (Transdisciplinarity) ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการสร้างทักษะการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Mindset) ทำให้นิสิตได้เรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์จริงที่ SCET ซึ่งเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่มีชื่อเสียงของโลก เป็นการพัฒนาบัณฑิตไทยสู่ความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ที่สามารถทำงานร่วมกับคนจากทุกมุมโลกได้
“การลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย ความร่วมมือกับ University of California, Berkeley ในครั้งนี้เป็นผลมาจากความมีชื่อเสียงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งทางด้านคณาจารย์ นิสิต องค์ความรู้ต่างๆ และผลงานวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม และการเป็น International innovation Hub In Asia ของจุฬาฯ ในอนาคต” รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวในที่สุด
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ เปิดเผยว่า สถาบันฯ มีพันธกิจในการส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี มีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการทั้งในประเทศและพันธมิตรระดับสากลโลก Sutardja Center for Entrepreneurship and Technology เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและเทคโนโลยีที่สำคัญระดับโลก จึงเล็งเห็นเป้าหมายและประโยชน์ร่วมกันที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาและงานวิจัยต่างๆ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนนิสิต นักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรระหว่างสองสถาบัน เพื่อเตรียมพร้อมนิสิตให้เป็นผู้นำนวัตกรรมและผู้ประกอบการในระดับนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 17 คือ Partnerships for the Goals ที่มุ่งเน้นการยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก
ศ.ดร.วรศักดิ์กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งพัฒนานิสิตให้มีศักยภาพในการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมในระดับนานาชาติ SCET, UC Berkeley เป็นสถาบันที่มีคุณภาพระดับโลกและอยู่ในบริเวณพื้นที่แห่งนวัตกรรมอย่าง Silicon Valley ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีทางด้านนวัตกรรมที่นิสิตจะได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานจริง โดยนิสิตในหลักสูตรนวัตกรรมบูรณาการ (BAScii) จะได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ SCET ปีละ 20 คน ระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี ซึ่งนิสิต BAScii รุ่นแรกที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้โครงการความร่วมมือครั้งนี้สร้างความประทับใจให้ SCET เป็นอย่างมาก นิสิตได้นำโครงงานที่ทำอยู่ ไปต่อยอดพัฒนาที่ SCET ได้เรียนรู้ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ และความรู้พื้นฐานต่างๆ สามารถเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” ศ.ดร.วรศักดิ์กล่าว
Dr. Pietro Borsano, Deputy Executive Director for Industrial and Global Alliances of Chulalongkorn School of Integrated Innovation กล่าวว่า SCET เป็นส่วนหนึ่งของระบบนวัตกรรมของ Silicon Valley ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก โดยสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ (ScII) เป็น 1 ใน 2 สถาบันการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นพันธมิตรระดับโลกของ SCET ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้นิสิตในหลักสูตรได้เปิดมุมมองใหม่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาคเรียนสตาร์ทอัพและเข้าค่ายฝึกปฏิบัติที่ SCET โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นให้นิสิตมีทักษะการเป็นเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี นิสิตสามารถนำเสนอโครงงานสตาร์ทอัพให้กับนักลงทุนและเมนเทอร์ใน Silicon Valley หากนิสิตสามารถสร้างสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาได้ ก็จะเป็นการขยายตลาดด้วยนวัตกรรมข้ามพรมแดน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติ โดยสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ ได้มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเหมือนอย่าง Silicon Valley เนื่องจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นจะสามารถยกระดับนวัตกรรมให้สูงยิ่งขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทางสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ (ScII) ร่วมมือกับทางพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนนานาชาติที่มีความสามารถ เพื่อมาสร้าง startups ในประเทศไทย
ทั้งนี้ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ ยังมีเป้าหมายในการขยายเครือข่ายความร่วมมือเพื่อให้ครอบคลุมระบบนิเวศของผู้ประกอบการที่สำคัญในประเทศอื่นๆ ด้วย ที่ผ่านมาสถาบันฯ มีความร่วมมือกับ TUSPark และ TUS Holdings ซึ่งเป็นแผนกวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย Tsinghua ประเทศจีน และความร่วมมือกับ CloudBae ซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมและเมืองอัจฉริยะของจีน อีกทั้งเราได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย Arts London, Kyushu ประเทศญี่ปุ่น และสถาบันซึ่งอยู่ในยุโรปและออสเตรเลียอีกมาก
รวมทั้ง กำลังเจรจาสัญญาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในฮ่องกงและมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ในปีหน้า โดยนักเรียนบางส่วนของเรานั้นได้เข้าร่วมออนไลน์บูทแคมป์ในปีที่แล้ว ซึ่งในปีต่อมาเราจะส่งนักเรียนไปเข้าร่วมงานที่สหรัฐอเมริกา จะมีการส่งนิสิตไปที่ค่ายฝึกปฏิบัติของ Berkeley method of Entrepreneurship และกำลังหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดค่ายฝึกปฏิบัตินี้ในประเทศไทย