xs
xsm
sm
md
lg

‘dtac’ เปิดแคมป์ เสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้เยาวชนไทย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
เมื่อปัญหาความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ (Cyber Risk) กลายเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่เยาวชนกว่า 2 ล้านคนจาก 150 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงผ่านแผนเยาวชนฟื้นฟูโลก (Youth Recovery Plan) ในที่ประชุม World Economic Forum แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจโลกออนไลน์มากขึ้น

โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลความเป็นส่วนตัว (Privacy) และการปกป้องข้อมูล (Data Protection) ที่เริ่มมีความกังวลใจเกี่ยวกับการให้ข้อมูลผ่านดิจิทัลเซอร์วิสต่างๆ ทั้งแบบที่ตั้งใจรับทราบ และแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เริ่มมองหารูปแบบและวิธีการที่จะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านั้น อย่างการส่งเสริมให้ประชาชนที่เข้าถึงโลกออนไลน์มีการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) ที่จะรับมือกับการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ พร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกันให้คนทุกคน 

ถัดมาคือการส่งเสริมให้เข้าถึงเครื่องมือทางดิจิทัลที่ช่วยเสริมความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างเท่าเทียม พร้อมกับจะต้องมีการส่งเสริม และกำหนดบังคับใช้กฎหมายเพื่อเพิ่มการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว

นอกเหนือจากประเด็นในเรื่องความเสี่ยงบนโลกออนไลน์แล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องหลักที่เยาวชนทั่วโลกให้ความสนใจคือ ประเด็นในแง่ของความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการดิจิทัล (Digital Access) กับปัญหาของภัยในโลกออนไลน์ อย่างเรื่องของการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และข้อมูลที่จงใจบิดเบือนเพื่อหวังผลสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ทำให้เป็นที่มาของการที่ในปีนี้ dtac ออกมาขับเคลื่อนเยาวชนไทยอีกครั้งด้วยการจัดอบรม ‘Young Safe Internet Leaders Cyber Camp’ เพื่อเสริมความรู้ และความเข้าใจเรื่องความเสี่ยง และมีทีมที่จะคอยให้คำแนะนำในการรับมือกับภัยออนไลน์จากไซเบอร์ซิเคียวริตี



อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดีแทคเริ่มจัดการเข้าค่ายให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในโลกออนไลน์ ภายใต้โครงการอย่าง ‘Safe Internet’ ให้แก่เยาวชนในช่วงมัยธมต้น และมัธยมปลาย ทำให้เห็นมุมมองของความเสี่ยงในโลกออนไลน์ที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น จนถึงเทรนด์ของความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิในการแสดงออกความคิดเห็นออนไลน์ ก่อนนำมาต่อยอดเป็นแคมเปญเพื่อสังคม

ขณะที่ในปีนี้ได้ความร่วมมือจากโกลบอลพาร์ตเนอร์ของกลุ่มเทเลนอร์ อย่างซิสโก้ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี จนกลายมาเป็นหัวข้อหลักของการจัดค่ายในปีนี้ โดยจะเน้นที่กลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่มีความสนใจเป็นหลัก พร้อมกับได้หลักสูตรการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มาช่วยเสริมด้วย

‘จากการฟังเสียงของเยาวชนยุคใหม่ทำให้เข้าใจได้ถึงพฤติกรรมของการเรียนรู้ที่ไม่ชอบในลักษณะของการเรียนเป็นเส้นตรงอย่างการทำความเข้าใจเนื้อหา และนำแบบทดสอบมาวัดผล แต่ชื่นชอบการเรียนรู้ในลักษณะที่ได้เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อให้ได้ความรู้ติดตัวเพิ่มเติม’


อย่างก่อนหน้านี้ ดีแทคได้เริ่มทดลองเปิดพื้นที่ Safe Internet Lab ในการเป็นพื้นที่สำหรับทดลองไอเดียที่สามารถต่อยอดสร้างสรรค์วัฒนธรรมออนไลน์ ให้ใช้ในการทดสอบทดลองความคิด สอดคล้องกับสิ่งที่เยาวชนต้องการคือพื้นที่ที่เปรียบเหมือนเลิร์นนิ่งสเปซของเยาวชนที่ไม่มีรูปแบบตายตัว เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ปลดปล่อยไอเดีย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมถึงการให้คำแนะนำกับเยาวชนด้วย

***ปรับหลักสูตรสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต


มีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวถึงจุดประสงค์หลักในการเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ เนื่องจากต้องการให้เยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ได้นำไปถ่ายทอดต่อกันในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ความเสี่ยงของภัยไซเบอร์ต่างๆ และในระยะยาวจะช่วยทำให้เกิดสังคมที่ดีในโลกดิจิทัลขึ้นได้

โดยทาง ETDA ได้มีการนำหลักสูตรอย่าง Digital Citizen ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยที่แบ่งออกเป็น 5 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1.อัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity) สร้างความตระหนักรู้ในการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ เข้าใจ และระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) จัดสรรเวลาหน้าจอได้อย่างสมดุลและรับรู้ผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งกับตนเองและผู้อื่น

3.การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) ให้รู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงหรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล 4.การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) สร้างองค์ความรู้ให้เข้าใจความหลากหลายของข้อมูลบนโลกดิจิทัลและสามารถสร้างสื่อดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์ 5.การสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) ก่อให้เกิดความเข้าใจของผลกระทบจากการสร้างร่องรอยดิจิทัลทั้งทางบวกและลบเพื่อนำไปสู่การจัดการร่องรอยทางดิจิทัลในทางที่ดี


‘การที่ประชาชนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียสูงมากๆ รวมถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ จึงกลายเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพนำมาใช้ในการฉ้อโกง ซึ่งกลุ่มที่เปราะบางที่สุดจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และเยาวชน ทำให้เชื่อว่าการเสริมสร้างความรู้ในการใช้งานดิจิทัลจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อเยาวชนไทยทุกคน’

***ดึงพันธมิตรระดับโลก เสริมภูมิภัยคุกคามไซเบอร์


ประกอบกับ ด้วยแนวโน้มของภัยคุกคามไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมหาศาล จากทั้งปริมาณผู้ใช้งาน และดีไวซ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กลายเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และที่สำคัญคือเมื่อมิจฉาชีพได้ข้อมูลไปแล้ว มักจะมีการนำข้อมูลไปใช้ในการหลอกลวงคนรู้จักเพื่อทำให้เกิดความเชื่อใจก่อนหลอกลวง


ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จากความร่วมมือกับทั้งเทเลนอร์ และดีแทคในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการนี้ได้เรียนรู้ถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เตรียมพร้อมในการรับมือในอนาคต

‘ปัจจุบันซิสโก้มีการทำโปรแกรมซีเอสอาร์อย่าง Cisco Networking Academy มาต่อเนื่องกว่า 25 ปีแล้ว ในการนำเนื้อหาเกี่ยวกับการเสริมทักษะทางดิจิทัลให้แก่บุคคลที่สนใจ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ภายในโครงการไซเบอร์แคมป์ครั้งนี้ได้’

โดยที่ปัจจุบันการป้องกันภัยไซเบอร์จะแบ่งหลักๆ ออกเป็น 2 ส่วนคือ โดยความสามารถส่วนบุคคล ในการตรวจสอบข้อมูลที่เข้ามาว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่ และการนำเครื่องมือมาใช้อย่างการยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอนในการล็อกอินใช้งานดิจิทัลเซอร์วิสต่างๆ จนถึงการแนะนำเครื่องมือที่จะมาช่วยปกป้องเพิ่มเติม ทำให้เชื่อว่าในโครงการนี้จะช่วยยกระดับความเข้าใจของเยาวชนได้อย่างแน่นอน


***นำโลกเสมือนจริงช่วยให้เกิดการเรียนรู้

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากในโครงการ Young Safe Internet Leaders Cyber Camp คือการนำแพลตฟอร์ม Metaverse อย่าง Gather Town มาใช้งานบนความตั้งใจที่จะสร้างประสบการณ์เข้าแคมป์ที่เยาวชนสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้เกิดการโต้ตอบต่างๆ ช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น โดยหลังจากเข้าร่วมโครงการเพื่อเรียนรู้ทักษะในการรับมือภัยไซเบอร์แล้ว ยังมีโอกาสที่จะคิดค้นไอเดียรับมือกับภัยไซเบอร์ เพื่อรับทุนการศึกษา และนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น