ค่ายมือถือพร้อมใจขานรับแผนเปิดทางให้ผู้ใช้ซ่อมโทรศัพท์ของตัวเองได้ด้วยอะไหล่แท้ 100% ล่าสุด เป็นกูเกิล (Google) ที่ตามรอยแอปเปิล (Apple) และซัมซุง (Samsung) ยอมอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถซ่อมแซมแก้ไขสมาร์ทโฟนพิกเซล (Pixel) ของตัวเองได้ น่าเสียดายยังจำกัดเฉพาะลูกค้าในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป
รายงานระบุว่า กูเกิลจะเปิดจำหน่ายอะไหล่แท้สำหรับสมาร์ทโฟนรุ่น Pixel 2 ขึ้นไปจนถึงรุ่น Pixel 6 Pro โดยจะเป็นพาร์ตเนอร์กับเว็บไซต์แนะนำการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ "ไอฟิกซ์อิท" (iFixit) เพื่อเปิดตลาดในปลายปี 2022 ให้ลูกค้าในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรปสามารถซื้อได้ โดยตามคำแถลงการณ์ บริษัทกล่าวว่า ชิ้นส่วนต่างๆ จะประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นในการซ่อมอุปกรณ์ Pixel อย่างครบถ้วน รวมถึงแบตเตอรี่ จอแสดงผลสำรอง กล้อง และอื่นๆ
กูเกิลย้ำว่า ชิ้นส่วนต่างๆ จะมีจำหน่ายแยกกัน สามารถแก้ปัญหาได้หากโทรศัพท์ของใครเสียหายเพียงส่วนเดียว ขณะเดียวกัน สามารถเลือกซื้อเป็นชุด iFixit Fix Kits ซึ่งจะมาพร้อมกับไขควงและอุปกรณ์อื่นเพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างเวิร์กชอปของตัวเองที่บ้านได้
สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ กูเกิลระบุว่า ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการซ่อมอิสระ 750 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา รวมถึงผู้ให้บริการในเยอรมนี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมการซ่อมแซมและต่ออายุการใช้งานของอุปกรณ์ให้ยาวนานขึ้น
ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างกูเกิลยังยืนว่า บริษัทได้มุ่งมั่นที่จะอัปเดตความปลอดภัยอย่างน้อย 5 ปีสำหรับ Pixel 6 และ Pixel 6 Pro เพื่อให้ทุกสามารถใช้งานฮาร์ดแวร์เดิมได้ต่อเนื่องอีกหลายปี ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์เมื่อกูเกิลสร้างโทรศัพท์ Pixel เครื่องแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง
แอนนา คอร์ราเลส (Ana Corrales) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ส่วนงานฮาร์ดแวร์สำหรับผู้บริโภค บริษัท กูเกิล ยอมรับว่ายังมีอีกหลายอย่างที่กูเกิลต้องทำ ทั้งการขยายเครือข่ายการซ่อมของกูเกิล และการปรับปรุงความสามารถในการซ่อมแซมในทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งกูเกิลหวังว่าจะได้แบ่งปันมากขึ้น ในขณะที่บริษัทได้ดำเนินการตามคำมั่นสัญญานี้
แม้จะ แถลงการณ์อย่างสวยหรู แต่ใครก็รู้ว่ากูเกิลเป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายล่าสุดที่จำเป็นต้องดำเนินการตามคำเรียกร้องของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศซีกโลกตะวันตก ที่ต้องการให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั้งแอปเปิล ซัมซุง และอื่นๆ ต้องซ่อมแซม (และอัปเดต) สินค้าที่ตัวเองขายเป็นเวลาหลายปี ซึ่งทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องเสนอขายอะไหล่ทดแทนในราคาที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภค
ข้อเรียกร้องนี้กำลังเป็นก้าวใหม่ในวงการสมาร์ทโฟน ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งกฎที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนปฏิบัติตาม บนความหวังที่จะลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากอายุการใช้งานสมาร์ทโฟนที่สั้นลง เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์สื่อสารไฮเทคจะสามารถซ่อมแซมและใช้งานได้นานขึ้น โดยที่ผู้ผลิตจะต้องจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่และบริการอัปเดตซอฟต์แวร์ และต้องเปิดเผยราคาของชิ้นส่วนทดแทนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงค่าซ่อมที่แท้จริง
เบื้องต้น มีรายงานว่า EC ได้กำหนดกรอบเวลาผลักดันให้มีการซ่อมและอัปเดตสมาร์ทโฟนเป็นเวลา 5 ปี และ 6 ปีสำหรับแท็บเล็ตแล้ว แต่ ประเทศเยอรมนีกำลังหาทางพยายามยืดอายุการใช้งานให้เกิน 7 ปี โดยเรียกร้องให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรับประกันการจัดส่งอะไหล่ที่รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องรอการซ่อมแซมนานเกินไป พร้อมกับที่สหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการซ่อม หรือ Right to repair เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่หมดประกัน สามารถนำเอาอุปกรณ์ไปเข้าศูนย์ซ่อมอื่นที่ไม่ใช่ของค่ายเดิมได้
กฎเหล่านี้นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ใช้เลือกซ่อมโทรศัพท์เครื่องที่ใช้อยู่แทนการซื้อเครื่องใหม่ทั้งหมด เป็นการต่อยอดจากการดำเนินการในฝรั่งเศส ซึ่งผู้บริโภคในประเทศจะได้รับข้อมูลดัชนีความสามารถในการซ่อมแซม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแต่ละรุ่นสามารถแก้ไขได้ง่ายหรือยากเพียงใด
สำหรับแบรนด์อย่างแอปเปิล ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์และชิ้นส่วนของตัวเอง การซ่อมแซมสมาร์ทโฟนอาจมีราคาสูง ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะเปิดกว้างให้อัปเดตซอฟต์แวร์ได้นานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ลูกค้ายังต้องเผชิญกับการซ่อมแซมอุปกรณ์ด้วยราคาสูงต่อไป ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องใหม่แทนที่จะจ่ายเงินซ่อมแซม ขณะที่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ มักมีปัญหาที่การอัปเดตซอฟต์แวร์ พบว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่ได้รับอัปเดตไม่เกิน 2 ปีก่อนที่จะเข้ากันไม่ได้กับซอฟต์แวร์ล่าสุด ทำให้ผู้บริโภคต้องอัปเกรดเป็นรุ่นล่าสุดเกือบทุก 2 ปี
ปัญหาเหล่านี้ทำให้แอปเปิลเปิดตัวโปรแกรมซ่อมเครื่องเองพร้อมให้บริการจำหน่ายอะไหล่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยลูกค้าที่สนใจสามารถอ่านคู่มือการซ่อมอย่างเป็นทางการของแอปเปิลได้ และสามารถสั่งซื้อจากแคตตาล็อกอะไหล่ที่มีให้เลือกมากกว่า 200 ชิ้นในร้าน Apple Self Service Repair Online Store ในช่วงปี 2022 นี้
ขณะที่ซัมซุงก็ประกาศจำหน่ายอะไหล่สมาร์ทโฟนในแนวทางเดียวกัน ผ่านการร่วมมือกับ iFixit