กระทรวงดีอีเอส-ตำรวจจับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม มูลค่าความเสียหายกว่า 13 ล้านบาท หลังติดตามจับกุมเจ้าของร้านขายสินค้าภายใต้ชื่อไอจี และเพจ The Sandy Brand มาดำเนินคดี
วันนี้ (11 เม.ย.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมแถลงข่าวกับ พ.ต.อ.เอกนิรุจฒิ์ วันสิริภักดิ์ ผกก.2 บก.สอท.1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เกี่ยวกับ “ผลการดำเนินคดีกับเพจสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า” โดยล่าสุดติดตามตัวและจับกุมเจ้าของร้านขายสินค้าภายใต้ชื่อไอจี และเพจ The Sandy Brand มาดำเนินคดีได้แล้ว ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ” พร้อมตรวจยึดของกลางกว่า 60 รายการ และล่าสุดมีการอายัดบัญชีแล้ว
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เมื่อกลางเดือน ก.พ.65 มีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนหนึ่งรวมตัวเดินทางมาร้องเรียนกรณีสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากเพจ The Sandy Brand แล้วไม่ได้รับสินค้า ครอบคลุมตั้งแต่ราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน พบมีผู้เสียหายอย่างน้อย 71 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 13 ล้านบาท
เรื่องดังกล่าวต้องการให้เป็นอุทาหรณ์ไปยังประชาชนในการซื้อสินค้าราคาสูงทางออนไลน์ ต้องตรวจสอบผู้ค้าให้ดีว่ามีความน่าเชื่อถือ และถ้าจะโอนเงินต้องมีหลักประกัน อย่าเชื่อแต่รูปภาพสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์ เพราะอาจไม่มีสินค้าจริง หรือมีแล้วอาจไม่จัดส่งให้ โดยเมื่อเกิดความเสียหาย กระบวนการดำเนินคดีต้องใช้ระยะเวลารวบรวมหลักฐาน และกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อติดตามเอาเงินคืน ซึ่งปัจจุบันช่องทางการซื้อขายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดมากกว่า 80% คือเฟซบุ๊ก
"เราเข้าใจความรู้สึกคือเงินเราจ่ายไปแล้วเราก็อยากได้ของ ถ้าของไม่ได้เราก็อยากได้เงินเราคืนให้เร็วที่สุด ซึ่งทางนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งจับกุมดำเนินคดีแล้วอายัดบัญชี คือไม่ให้บัญชีโอนเงินไปที่อื่น ตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินย้อนหลังเพื่อจะได้เงินคืนให้พวกเราให้ได้มากที่สุดอันนี้คือแนวทางนโยบายที่ผมได้ให้ไป" นายชัยวุฒิ กล่าว
สำหรับพฤติกรรมการกระทำความผิดของมิจฉาชีพ คือ การเปิดเพจร้านขายผ่อนกระเป๋าแบรนด์เนม มีการถ่ายรูปออฟฟิศสร้างความน่าเชื่อถือ มีตัวอย่างสินค้า ทำการไลฟ์สด แต่เมื่อจ่ายเงินไปแล้วปรากฏว่าไม่ได้รับสินค้า เมื่อติดต่อทวงถามจะบ่ายเบี่ยง อ้างว่าไม่สามารถส่งสินค้าได้ เนื่องจากระบบขนส่งเป็นอัมพาตจากเหตุโควิดระบาด
สำหรับคดีนี้ผู้เสียหายมีการแจ้งความไว้ และเดินทางมาร้องเรียนที่ดีอีเอส เบื้องต้นได้ดำเนินการแจ้งไปยังเฟซบุ๊ก ขอความร่วมมือให้ดำเนินการปิดกั้นยูอาร์แอลของร้านค้าออนไลน์รายนี้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 กรณีเป็นผู้ให้บริการ และหากยังไม่ได้รับความร่วมมือจะเร่งขอคำสั่งศาล ตามมาตรา 20 ที่ว่าด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์ และที่เป็นความผิดกฎหมายอื่น/ลักษณะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
“ผมได้สั่งการให้เร่งติดตามผู้กระทำเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายให้ได้เงินคืนโดยเร็ว อีกทั้งป้องกันไม่ให้ประชาชนรายอื่นๆ เป็นเหยื่อกลโกงของผู้ค้าออนไลน์ในลักษณะนี้ โดยเป็นไปตามนโยบายของท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความเป็นห่วงเรื่องนี้ มอบหมายให้ดีอีเอสใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รีบปิดกั้น อายัดบัญชี และดำเนินคดีโดยเร็ว แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน อีกทั้งเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อธุรกิจออนไลน์” นายชัยวุฒิ กล่าว
ด้านชนิดาภา นาราภัทรสกุล ผู้เสียหายกล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องหาได้ เเละอยากเตือนคนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ กระเป๋าเเบรนด์เนมอยากให้ระวังถ้าเกิดเอาให้ชัวร์ที่สุดคือนัดรับสินค้าเลยดีกว่า เเละไม่อยากให้เห็นว่าของถูก หรือน่าเชื่อถือคือที่เห็นนี่มันไม่ได้เพราะว่าเราก็โดนกันมาแล้ว นัดรับดีที่สุด นอกจากนี้ อยากให้ดำเนินการให้ถึงที่สุด ไม่อยากให้ผู้ต้องหาที่ทำผิดเเล้วพอพ้นโทษไปแล้วหรือเอาเงินคืนผู้เสียหายแล้วมายอมความกันเเละกลับมาทำอาชีพแบบเดิมอีก
ขณะที่ น.ส.ฐานวีร์ ลีเลิศพันธุ์ ผู้เสียหาย กล่าวว่า อยากให้ดูให้ดีก่อน ถ้าเป็นพวกบิทราคาค่อนข้างเร็ว เพราะด้วยราคาจะต้องแข่งกันอาจจะต้องศึกษาร้านที่เข้าไปดูให้ดีก่อนว่าเขาส่งของจริงหรือไม่ หรือว่ามีรีวิว หรือกลุ่มเฟซบุ๊ก ให้เช็กกันว่าร้านนี้ส่งจริงไหม เข้าไปเช็กในนั้นก่อนก็ได้ เบื้องต้นอยากให้ตรวจสอบให้ดีก่อน
สำหรับการจับกุมครั้งนี้ดำเนินการตามหมายจับศาลอาญา ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โดยการทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บช.สอท. เร่งบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาจากการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส ปัญหา หรือขอคำปรึกษาเข้ามาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ผ่านช่องทาง ดังนี้ สายด่วนโทร.1212 อีเมล 1212@mdes.go.th เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังสามารถแจ้งได้ผ่านกล่องข้อความของเพจอาสาจับตาออนไลน์ที่ https://m.facebook.com/DESMonitor/ หรือโทร.สายด่วนของ บช.สอท.1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง