xs
xsm
sm
md
lg

“นักกฎหมาย” แนะนักสืบโซเชียลโพสต์คดีแตงโม ยังไงไม่เสี่ยงคุก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายอู๋” ชี้วิธีโพสต์โซเชียลแบบไม่ผิดกฎหมาย ต้องไม่ระบุตัวบุคคล ไม่ใช้อักษรย่อ ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง แต่เป็นการตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคม ยันการโพสต์คลิปหรือข้อความหากเป็นไปโดยสุจริต ไม่รู้มาก่อนว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จหรือไม่ ไม่ได้ทำเพื่อหาผลประโยชน์ ก็ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ด้านนายกสภาทนายความ แนะการแสดงความเห็นต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น

จากกรณีการเสียชีวิตแบบผิดปกติของ “แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์” ดาราสาวชื่อดัง ซึ่งคนทั้งประเทศต่างจับตาถึงความผิดปกติในคดีที่เกิดขึ้นมากมาย ประชาชนเฝ้าติดตามและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เหล่านักสืบโซเชียลต่างพากันตรวจสอบขุดคุ้ยและตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่ไม่ชอบมาพากล ขณะที่ทั้งนักกฎหมาย ส.ส. ส.ว. และผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ร่วมกันค้นหาความจริงโดยมิได้นัดหมาย ด้วยหวังจะทวงความยุติธรรมให้แตงโม และสร้างบรรทัดฐานในการทำคดีในอนาคต

อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายบางคนออกมาระบุว่า การที่บุคคลซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีแตงโม ได้แสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลผ่านโซเชียลโดยไม่มีหลักฐานอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชาวโซเชียลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากไม่รู้ว่าควรแสดงความเห็นในการติดตามข่าวสารในคดีแตงโม รวมถึงคดีต่างๆ บนหน้าสื่อโซเชียลอย่างไรจึงจะไม่ผิดกฎหมาย?

ทนายอู๋ บัญชา สุชญา เจ้าของเพจทนายอู๋สู้เคียงข้างคุณ
ทนายอู๋ "บัญชา สุชญา" เจ้าของเพจทนายอู๋สู้เคียงข้างคุณ ได้ชี้แจงถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในคดีที่ปรากฏในสื่อโซเชียลต่างๆ ว่า การจะแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลอย่างปลอดภัยนั้นต้องพิจารณาหลักๆ 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1) หากเป็นการกล่าวพาดพิงคนอื่นทำให้ได้รับความเสียหาย เป็นการให้ร้าย เจาะจงเฉพาะตัวบุคคล โดยคลิปหรือโพสต์ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ จะเข้าข่ายข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 แต่หากเป็นการแสดงความคิดเห็น เป็นการตั้งข้อสังเกต โดยตั้งคำถามว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่ ทำอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย

ยกตัวอย่าง คดีการเสียชีวิตของแตงโม-นิดา ถือเป็นเรื่องของอาญาแผ่นดิน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นประชาชนและสังคมจึงร่วมกันตรวจสอบโดยการแสดงความเห็น ตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือเจาะจงไปยังบุคคลใดว่าเป็นผู้กระทำผิดแน่ๆ เพราะจะถือเป็นการหมิ่นประมาท

ทั้งนี้ ความผิดกรณีหมิ่นประมาทนั้นแม้จะไม่มีเจตนาแต่ก็ต้องดูว่าข้อความที่โพสต์เป็นอย่างไร เพราะเวลาคดีขึ้นสู่ศาลจะต้องนำข้อความทั้งหมดให้ศาลพิจารณา โดยหัวใจหลักคือจะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทก็ต่อเมื่อต้องไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง แม้แต่กรณีการใช้อักษรย่อที่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นใคร ก็ถือว่ามีความผิด เช่น คดีแตงโม บอกว่านาย บ. ซึ่งอยู่บนเรือ คนทั่วไปก็รู้ได้ว่าหมายถึงใคร

อย่างไรก็ดี มีกรณียกเว้นเช่นกัน เช่น หากตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่กระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่กล่าวหากันเป็นการส่วนตัว ก็ไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท เช่น โพสต์ในทำนองสงสัยว่าตำรวจที่ทำคดีรับเงินหรือเปล่า ถือเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อคนหมู่มาก ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท

คลิปที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการทำร้ายกันบริเวณหัวเรือในวันที่ แตงโม-นิดา เสียชีวิตหรือไม่
2) การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) นั้นจะต้องมีเจตนาพิเศษ นั่นคือโดยเจตนาทุจริต หรือเจตนาหลอกลวง ซึ่งคำว่าโดยทุจริตหรือหลอกลวงนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) ระบุว่า เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น หากขาดซึ่งเจตนาที่จะหลอกลวง หรือหวังผลประโยชน์ การนำเข้าข้อมูลนั้นก็ไม่มีความผิด แม้ว่าข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จะเป็นเท็จแต่หากไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเท็จและไม่มีเจตนาทุจริตก็ไม่มีความผิด เนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ยกตัวอย่าง คดีการเสียชีวิตของแตงโม ผู้ที่โพสต์หรือแชร์คลิปเกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตต่างๆ ในคดีโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาหลอกลวง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ ถือว่าไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีแตงโมทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครรู้


ทนายอู๋ อธิบายเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) นั้นเป็นเรื่องของการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่หากประเด็นนั้นเข้าข่ายกรณีหมิ่นประมาทเสียแล้วก็จะไม่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องด้วยตอนท้ายของมาตรา 14(1) เรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ระบุว่า ยกเว้นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท เช่น หากโพสต์ถึงตัวบุคคลเป็นการเฉพาะเจาะจงและยืนยันข้อเท็จจริงแล้วทำให้เขาได้รับความเสียหายจะถือว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงไม่เข้าข่ายความผิดเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่หากเป็นกรณีที่ประชาชนช่วยกันแชร์ภาพ แชร์หลักฐานซึ่งไม่รู้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จหรือไม่ และไม่ได้กระทำไปเพื่อแสวงประโยชน์ต่อตัวเองหรือบุคคลอื่น ก็ไม่เข้าความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) แม้สุดท้ายจะพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จก็ตาม

“อย่างกรณีที่มีการแชร์ภาพที่เหมือนมีการตีหัวกันบริเวณหัวเรือที่แตงโมนั่ง แต่ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นคนตี หรือตั้งคำถามว่าแตงโมถูกตีหัวหรือเปล่า ก็ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท และไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะประชาชนที่แชร์ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ ไม่ได้ตั้งใจหลอกลวงหรือทำเพื่อแสวงประโยชน์ ส่วนการโพสต์แสดงความคิดเห็นต้องดูข้อความโดยรวม เช่น คลิปมีเงาตะคุ่มๆ ไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร แต่ผู้โพสต์แสดงความเห็นมีการระบุชื่อว่าคนนั้นคนนี้ตีหัวแตงโม จะถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งมีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท หรือในกรณีที่โพสต์ว่าคดีแตงโม แม่รับเงินแน่ๆ ก็ต้องไปซักกันในชั้นศาลอีกว่าเจตนาของผู้โพสต์คืออะไร เงินที่ว่าหมายถึงเงินเยียวยา หรือเงินปิดปาก หรืออะไร ดังนั้นการที่มีนักกฎหมายมาไล่บี้ประชาชน บอกว่าคนที่แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับคดีแตงโม เดี๋ยวจะฟ้องให้หมด ก็ต้องถามว่าคุณจะฟ้องอะไร ตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้เลยว่าข้อเท็จจริงในคดีแตงโม เป็นอย่างไร ถ้าบอกได้ป่านนี้ปิดคดีไปแล้ว” ทนายอู๋ ระบุ

ทนายอู๋ ยังได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่จะโพสต์คลิปหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีต่างๆ ในสื่อโซเชียล ว่า มีสิ่งที่ต้องตระหนัก 2 ประการ คือ

1.หากไม่อยากโดนข้อหาหมิ่นประมาท อย่ากล่าวอ้างถึงบุคคล หรือแม้แต่ใช้อักษรย่อ และอย่ายืนยันข้อเท็จจริง เพราะอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ควรโพสต์ในลักษณะตั้งคำถาม เช่น ชวนสงสัยว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่ มีเจตนาอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า และการแสดงความเห็นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น เป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งประชาชนจำเป็นต้องช่วยกันทำหน้าที่ของพลเมืองในการติดตามตรวจสอบ

2.การแชร์คลิปหรือข้อมูลโดยสุจริตเพื่อบอกต่อข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงผู้อื่น แม้ภายหลังจะพิสูจน์พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่าไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) เรื่องนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการหลอกลวงเพื่อหวังในทรัพย์สิน ดังนั้น หากขาดซึ่งเจตนาทุจริตก็ไม่ครบองค์ประกอบของความผิด

“ส.ส.เต้” นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทจากกรณีนำเสนอคลิปเรื่องขอนไม้หรือร่างของแตงโม
ส่วนกรณีที่บุคคลต่างๆ เข้าไปสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีการเสียชีวิตของแตงโม และถูกระบุว่าอาจจะถูกฟ้องดำเนินคดีหากข้อมูลที่เปิดเผยไม่เป็นความจริงนั้น ทนายอู๋ ชี้แจงว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคม โดยไม่ได้หวังผลประโยชน์ ไม่ได้มีเจตนาให้ร้ายใคร ก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด เช่น กรณีขอนไม้ของ “ส.ส.เต้” นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นั้นเนื่องจากนายมงคลกิตติ์ ในฐานะ ส.ส.ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีการเสียชีวิตของแตงโม ซึ่งเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นขอนไม้ หรือร่างของแตงโม อีกทั้งยังระบุว่าไม่แน่ใจว่าเป็นขอนไม้หรือแตงโม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ส.ส.เต้ ขาดเจตนา เพราะไม่รู้สาระสำคัญว่าสิ่งที่นำมาเผยแพร่นั้นจริงหรือเท็จ และไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้น จึงไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

หรือกรณีที่ “นายเอกพันธ์ บันลือฤทธิ์” ในฐานะอาสากู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู บอกว่าแตงโมฟันหัก แต่ผลชันสูตรออกมาว่าฟันแตงโมไม่ได้หักนั้น หากติดตามข้อมูลตั้งแต่ต้นจะพบว่า นายเอกพันธ์ ระบุว่าเขาเห็นด้วยตาของเขา ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าตอนที่ร่างของแตงโมโผล่ขึ้นมาจากน้ำอาจจะมีคราบดินไปเกาะฟันของแตงโม ทำให้นายเอกพันธ์เห็นอย่างนั้น เขาจึงยืนยันในสิ่งที่เขาเห็น ไม่ได้ยืนยันในเท็จจริง ซึ่งถือเป็นการแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ อีกทั้งต้องดูว่าภารกิจและหน้าที่ของบุคคลที่ให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นนั้นคืออะไร นายเอกพันธ์มีหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิซึ่งทำงานแบบจิตอาสา ไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดๆ และเขาให้ข้อมูลในฐานะเจ้าหน้าที่คนแรกที่พบร่างของแตงโม ดังนั้นแม้สิ่งที่เขาเห็นจะไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นก็ถือว่าไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1)

“การตีความในคดีอาญานั้นต้องยึดองค์ประกอบตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เจตนาคือองค์ประกอบภายใน ส่วนพฤติการณ์คือองค์ประกอบภายนอก ถ้าไม่เข้าองค์ประกอบก็ถือว่าไม่ผิด” ทนายอู๋ กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสมาคมสภาทนายความ
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสมาคมสภาทนายความ ชี้ว่า การแสดงความเห็นในคดีแตงโมจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้นต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น การแสดงความเห็นนั้นไปกระทบสิทธิใครหรือไม่ หากเป็นการแสดงความเห็นเชิงกฎหมายอย่างเดียวก็สามารถทำได้ แต่หากไปกระทบถึงบุคคลอื่นก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ดังนั้น ชาวโซเชียลจึงต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น โดยพื้นฐานคือต้องพิจารณาก่อนว่าการแสดงความเห็นนั้นได้สร้างความเสียหายให้ใครหรือไม่

“แม้การแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ จะถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องดูว่าการแสดงความเห็นทางสื่อโซเชียลต่างๆ ไปละเมิดสิทธิใครหรือไม่ การนำคลิปต่างๆ มานำเสนอต้องดูเจตนาว่าสุจริตหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ นั้นบางเรื่องก็เป็นประโยชน์แก่สังคม ทำให้เกิดการติดตามคดีที่รวดเร็วขึ้น หรืออาจทำให้ได้ข้อเท็จจริงมากขึ้น ดังนั้น การแสดงความเห็นจะมีความผิดหรือไม่ก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป” นายกสภาทนายความ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น