xs
xsm
sm
md
lg

กรมสรรพากร “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ปรับตัวรับยุคดิจิทัล ก้าวทันโทรคมนาคมใหม่ ตัดริบบิ้นเดินหน้าเก็บภาษี "อี-เซอร์วิส" ประเดิม Facebook, Google, Youtube, Netflix

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสรรพากรปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป เช่น การส่งข้อความ การประชุมทางไกล การให้บริการคอนเทนต์ บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งมีผู้ประกอบการจากทั่วโลกเข้ามาให้บริการ เช่น ผู้ประกอบการสื่อสารทางเสียง (Voice Service) จากหลากหลายบริการ เช่น การโทรผ่าน Line, Facebook Messenger, Skype ซึ่งมีจำนวนการใช้งานแซงหน้าการใช้โทรศัพท์แบบเดิมไปไกลแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันในการส่งข้อความ และการให้บริการคอนเทนต์ บริการยอดนิยมที่ใช้เทคโนโลยี OTT เป็นต้นว่า Netflix, Amazon Prime Video, Hulu, Apple TV+, Disney Plus, HBO Now, Peacock, iTunes ซึ่งผู้ชมต้องใช้อุปกรณ์สื่อสตรีมมิ่ง เช่น Smart TV, Roku หรือคอนโซลเกมจึงจะดูเนื้อหาได้ ทั้งนี้ บริการจากผู้ประกอบการต่างชาติเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนี้ เม็ดเงินโฆษณาที่หลั่งไหลเข้าสู่สื่อดิจิทัล อินเทอร์เน็ต ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 9,150 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเจนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT) โดย 90% ของเงินจำนวนดังกล่าวตกเป็นรายได้ของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ อย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิล (Google) ยูทูบ (YouTube) และไลน์ (Line) ซึ่งสถานะในไทยเป็นเพียงสำนักงานสาขาที่รับแต่รายได้ ไม่ต้องรับภาระภาษีใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 ซึ่งจะเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างประเทศ กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทย โดย พ.ร.บ. จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 7 ถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่า รัฐได้ปรับตัวได้อย่างก้าวทันต่อการเปลี่ยนของตลาดโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อจัดทำระบบการจ่ายภาษีให้ง่ายที่สุด หลังกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีเวลาอีก 180 วัน ก่อนจะมีผลกับการเก็บภาษีจริง

ทั้งนี้ กรมสรรพากรประเมินว่าจะมีรายได้เพิ่มจากการเก็บภาษีประเภทนี้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากขณะนี้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องเสียภาษี โดยขณะนี้มีประเทศที่บังคับใช้กฎหมายแล้วกว่า 60 ประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ด้าน ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ภาษี e-Service เป็นการเรียกเก็บจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่ให้บริการในไทย มีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมีการให้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

• แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ (E-Commerce)
• แพลตฟอร์มโฆษณา เช่น Facebook หรือ Google
• แพลตฟอร์มบริการออนไลน์จองที่พัก-โรงแรม ตั๋วเดินทาง เช่น Bookingดอทคอม, Agoda
• แพลตฟอร์มตัวกลาง เช่น เรียกรถรับส่ง สั่งอาหาร
• แพลตฟอร์มบริการออนไลน์ เช่น เกม ดูหนัง ฟังเพลง ระบบ Cloud ประชุมออนไลน์ Subscription และ Digital Content อื่นๆ เช่น App Store, Play Store, PlayStation Store, Netflix, Youtube, Spotify, Zoom หรือ Dropbox

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการที่เข้าข่ายเสียภาษี e-Service จะต้องเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) ซึ่งกรมสรรพากรได้อัปเดตรายชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่จดทะเบียนแล้ว โดยภาษี e-Service จะเป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติเท่านั้นไม่กระทบผู้ค้าออนไลน์

ที่ผ่านมา ผู้เล่นต่างชาติในตลาดโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) ที่มีการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม พบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่กฎหมายกำกับดูแลก้าวตามไม่ทัน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐกำกับได้แค่ผู้เล่นบางรายในตลาด เช่น เอไอเอส ทรู ดีแทค และ NT ทำให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ยังไม่ได้รับการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม ลดอำนาจทางการตลาดที่เหนือผู้ประกอบการไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น