xs
xsm
sm
md
lg

ทรู มันนี่ จับมือชิลด์ ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ ตรวจจับมิจฉาชีพ-ฉ้อโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทรู มันนี่ จับมือชิลด์ เพิ่มความปลอดภัยใช้งานอีวอลเล็ต ตรวจจับความปลอดภัยไซเบอร์ กันมิจฉาชีพ-การฉ้อโกงออกนอกระบบ คาดภายใน​ปีนี้ผู้ใช้งานทรูมันนี่ 30 ล้านคน และในปี 2566 จะเพิ่มเป็น 50% ของประชากรไทย

น.ส.มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการทรู มันนี่ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ใช้บริการทรู มันนี่ วอลเล็ตในประเทศไทยมีจำนวน 24 ล้านคน สอดรับกับพฤติกรรมการใช้การเงินแบบออนไลน์ ซึ่งบริการของทรู มันนี่ มีทั้ง การจ่ายเงิน การออมเงิน การกู้เงิน และการลงทุน ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานหรือไซเบอร์ ซิเคียวริตีจึงเป็นสิ่งที่บริษัทลงทุนและให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ล่าสุด ได้จับมือเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยี กับบริษัท ชิลด์ เอ ไอ เทคโนโลจีส์ จำกัด เพื่อมอบการป้องกันภัยไซเบอร์ การคุกคามจากการฉ้อโกงในภูมิภาคแก่ผู้ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทรู มันนี่ให้บริการอยู่ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเร็วๆ นี้จะเปิดให้บริการในมาเลเซีย ตามการขยายกิจการของ แม็คโคร โลตัส

สำหรับการจับมือครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทจะร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มการบริหารจัดการความเสี่ยงอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเอไอ โดยเทคโนโลยีของชิลด์ จะอยู่ในระบบหลังบ้านเพื่อตรวจจับและวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าว่ามีความผิดปกติในการเป็นมิจฉาชีพ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการฉ้อโกง หรือไม่ รวมถึงจะตรวจจับความเสี่ยงที่จะถูกแฮก หรือถูกขโมยตัวตนหรือข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าด้วย เพื่อกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้บริการทรู วอลเล็ตไปในทางฉ้อโกง ขณะที่ผู้ใช้งานเองจะใช้งานได้ปลอดภัยขึ้นด้วยการนำระบบยืนยันใบหน้ามาใช้ เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน​ปีนี้ผู้ใช้งานทรู มันนี่จะเพิ่มขึ้น 20% หรือคิดเป็น 30 ล้านคน และในปี 2566 จะเพิ่มเป็น 50% ของประชากรไทย

ด้านนายจัสติน ลี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ชิลด์ (SHIELD) ภายใต้ บริษัท ชิลด์ เอ ไอ เทคโนโลจีส์ จำกัด กล่าวว่า จากสถิติทั่วไปของการใช้งานอีวอลเล็ต พบว่าจะถูกโจมตีทางไซเบอร์ 5-10% ของจำนวนการทำธุรกรรมการเงินแต่ละครั้ง ดังนั้น เมื่อช่องโหว่เกิดก็จะเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ ดังนั้น เทคโนโลยีของบริษัทจะสามารถตรวจจับและป้องกันได้จากการดูพฤติกรรมการใช้งานที่ผิดปกติด้วยเทคโนโลยีเอไอ ทั้งการถูกแฮก การถูกปลอมบัญชี การหลอกฟิชชิ่งเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว เป็นต้น

“เรามีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับหนึ่งในสถาบันชั้นนำด้านฟินเทค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความไว้วางใจสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มแห่งโอกาสเพื่อความเท่าเทียมทางการเงินที่ทั่วถึงสำหรับทุกคน”


กำลังโหลดความคิดเห็น