หัวเว่ย เอ็มโอยูมหาวิทยาลัยนครพนม พัฒนาความสามารถด้านไอซีที บ่มเพาะเยาวชนไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที และช่วยเตรียมความพร้อมให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศมุ่งสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมอย่าง บิ๊กดาต้า และบริการคลาวด์
ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนครพนม มีนโยบายการพัฒนาสู่การเป็น SMART University ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายจังหวัดนครพนมที่จะเป็น SMART CITY ดังนั้น การร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านไอทีแก่นักศึกษาและบุคลากร ได้บูรณาการนวัตกรรมสมัยใหม่ ให้พร้อมสำหรับการปรับสู่โลกอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาห้องเรียนอัจฉริยะ การเก็บข้อมูลด้วยคลาวด์ การสร้าง Big Data และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยกันผลักดันและสร้างแนวคิดการมีโซลูชันต่างๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ภายใต้ MoU ฉบับนี้มีขอบเขตระยะเวลา 1 ปีในการทำงานร่วมกัน โดยจะมีการพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาด้านไอที ส่งเสริมการฝึกงาน และต่อยอดการทำงานระหว่าง 2 สถาบันในอนาคตต่อไป ผมขอขอบคุณหัวเว่ยเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยนครพนมก้าวสู่การเป็น Smart University อย่างเต็มรูปแบบ
นายจัสติน ฟ่าน รองประธานอาวุโสฝ่ายการจัดจำหน่ายโซลูชันและการตลาด กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเข้าไปช่วยมหาวิทยาลัยนครพนม สำรวจและใช้ประโยชน์จากโซลูชันเชิงนวัตกรรมที่รวดเร็วและเชื่อถือได้มากขึ้น เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันหยุดนิ่ง อีกทั้งยังสามารถผลิตบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมไอซีทีได้อีกด้วย
“เชื่อมั่นที่ว่าไอซีทีเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา หัวเว่ยจึงมุ่งมั่นช่วยเหลือสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศในการเตรียมบ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ อันจะนำไปสู่การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้เป็นไปได้อย่างแท้จริง”
เบื้องต้น เป้าหมายของหัวเว่ย คือ จะช่วยทรานส์ฟอร์มมหาวิทยาลัยนครพนมให้ก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ หรือ Smart University เพื่อช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ และช่วยบ่มเพาะเหล่านักศึกษาให้พร้อมต่อการเป็นบุคลากรที่เพียบพร้อมด้วยทักษะอุตสาหกรรมสำหรับการก้าวไปสู่โลกแห่งการทำงาน
ทั้งนี้ ในความร่วมมือกับหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ และสมาคมบุคลากรด้านไอซีที (ICT Talent Alliance) นักศึกษาของมหาวิทยาลัยนครพนมจะได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติจากผู้ฝึกสอนจากโครงการ Huawei ICT Academy และจะได้รับการรับรองจากหัวเว่ย ทำให้สามารถเริ่มต้นก้าวสู่โลกแห่งการทำงานได้โดยทันที นอกจากนี้ นักศึกษายังจะสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ Huawei ICT Competition และ Huawei ICT Job Fair ได้อีกด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชั้นนำของไทยหลายแห่ง เพื่อช่วยสร้างระบบนิเวศด้านบุคลากรที่แข็งแกร่งและขยายการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลไปทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยนครพนมกำลังจะเข้าร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ที่ได้บรรลุข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับหัวเว่ย โดยหัวเว่ยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้นิสิตนักศึกษาสามารถขยายความรู้ด้านไอซีที กระตุ้นความสนใจที่จะเรียนรู้และความสามารถด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนปรับปรุงความสามารถในการเรียนรู้และการแก้ปัญหาด้วยตนเอง