อะโดบี เปิดเผยผลรายงานเทรนด์ดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) พบองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวรับมือการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลใช้เม็ดเงินลงทุนสูง โดยปัญหาขาดแคลนบุคลากรยังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในภูมิภาค
จากเทรนด์การใช้งานออนไลน์รูปแบบใหม่ที่มีผู้ใช้งานกว่า 130 ล้านคน เริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา และเกิดพฤติกรรมออนไลน์ระดับสูงอย่างการชำระเงินผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยกว่า 77% ขององค์กรธุรกิจใน APAC ต้องรับมือกับการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของลูกค้ารายใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา และ 77% พบรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ แต่มีองค์กรธุรกิจเพียง 25% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนเองมีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เน้นการใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก
สก็อต ริกบี้ ประธานที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของอะโดบี เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า จากการศึกษาทำให้เข้าใจว่าความต้องการของผู้บริโภคออนไลน์รุ่นใหม่ที่เน้นการใช้งานบนมือถือเป็นหลักได้กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันใหม่สำหรับองค์กรธุรกิจใน APAC
“องค์กรจำนวนมากรับมือกับสถานการณ์นี้ด้วยการขยายการลงทุนอย่างรวดเร็วเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ดิจิทัล แต่ลำพังเพียงแค่การลงทุนอาจไม่สามารถสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันและสร้างผู้นำได้อย่างแท้จริง”
จากความพยายามที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังใหม่ๆ ของลูกค้า องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ใน APAC จึงเดินหน้าลงทุนในด้านการจัดการประสบการณ์ลูกค้า (59%) ซึ่งนับว่าสูงกว่าอเมริกาเหนือ (57%) และยุโรป (53%) นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจใน APAC ส่วนใหญ่มีแผนที่จะเร่งการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลลูกค้าถึง 60% อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษายังพบว่า องค์กรธุรกิจใน APAC โดยทั่วไปยังขาดพาร์ตเนอร์ระดับโลกที่มีความสามารถในการดำเนินงานเมื่อเทียบกับองค์กรในภูมิภาคอื่นๆ
โดย 83% ของผู้บริหารองค์กรธุรกิจใน APAC รู้สึกกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดทักษะที่จำเป็น เมื่อเทียบกับ 79% ในยุโรป และ 73% ในอเมริกาเหนือ พร้อมระบุว่า ทักษะด้านดิจิทัลเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัล เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องการบูรณาการที่ไร้ประสิทธิภาพระหว่างระบบและเทคโนโลยีต่างๆ
องค์กรธุรกิจในเอเชียระบุว่า “ปัญหาการขาดแคลนทักษะคืออุปสรรคสำคัญที่สุด” ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเป็นอย่างมาก และทุกองค์กรเห็นช่องว่างในการปรับปรุงขีดความสามารถด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า