xs
xsm
sm
md
lg

อีก 3 ปีจะดีขึ้นอีก! ไทยติด 3 อันดับประเทศที่บุคลากรให้คะแนนความพร้อมด้านดิจิทัลสูงสุดของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เตือนแม้จะอันดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่มุมมองคนไทยให้คะแนนความพร้อมด้านดิจิทัลของตนเองที่ 48 จาก 100 ต่ำกว่าคะแนนเต็มเกินครึ่ง
เซลล์ฟอร์ซ (Salesforce) โชว์รายงานดัชนีทักษะดิจิทัล (Digital Skill Index) เผยประเทศไทยติด 3 อันดับประเทศที่บุคลากรให้คะแนนความพร้อมด้านดิจิทัลสูงสุดของโลก เตือนแม้จะอันดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่มุมมองคนไทยให้คะแนนความพร้อมด้านดิจิทัลของตนเองที่ 48 จาก 100 ซึ่งต่ำกว่าครึ่งโดยบุคลากรไทยยกให้การเข้ารหัสและความปลอดภัยทางไซเบอร์จัดเป็นทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานที่สำคัญที่สุดในอนาคตข้างหน้า มองไกล 3 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่ภาพรวมความพร้อมด้านดิจิทัลของไทยจะดีขึ้นอีก เนื่องจากเทคโนโลยีมีส่วนในชีวิตประจำวันของผู้คนจนไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป

กิตติพงษ์​ อัศวพิชยนต์ รองประธานประจำภูมิภาคและกรรมการผู้จัดการเซลส์ฟอร์ซประเทศไทยกล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าคนไทยประเมินความพร้อมและทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อการทำงานของตนเองสูงกว่าผู้ร่วมการศึกษาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกโดยเห็นได้จากผลคะแนนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินตนเองนี้ก็ยังห่างจากคะแนนเต็มอยู่อีกมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่องค์กรธุรกิจภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกันให้เกิดการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่พนักงานและคนในวัยทำงาน ตลอดจนผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศอย่างจริงจัง

“ธุรกิจต้องส่งเสริมพนักงานของตนในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้สามารถรับมือกับความต้องการด้านดิจิทัลและเตรียมความพร้อมสำหรับรูปแบบการทำงานในอนาคตที่ทุกกระบวนการต้องนำเอา Digital เข้ามาใช้เสมอ (Digital First) ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า”

การประเมินความพร้อมด้านดิจิทัลของคนไทยนี้มาจากการสำรวจของเซลส์ฟอร์ซ บริษัทซอฟต์แวร์ระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ที่ระบุในรายงานเรื่อง Global Digital Skills Index ถึงวิกฤตทางด้านทักษะดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยตัวรายงานได้มีการสำรวจเพื่อชี้วัดความพร้อมด้านดิจิทัลของบุคลากรคนทำงานทั่วโลกกว่า 23,000 รายใน 19 ประเทศ รวมถึงผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยกว่า 1,400 ราย

 กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์
จากการสำรวจมุมมองและทัศนคติของคนทำงานถึงความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลที่สำคัญสำหรับธุรกิจในปัจจุบันและในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยมากกว่าครึ่ง หรือ 51% รู้สึกว่าตนมีทักษะด้านดิจิทัลที่เพียงพอสำหรับการทำงานในปัจจุบันซึ่งสูงกว่าเปอร์เซ็นเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก (40%) อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยเกินครึ่งรู้สึกว่าตนมีความพร้อมในเชิงทักษะดิจิทัลในที่ทำงาน แต่มีเพียง 42% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลได้ ซึ่งนอกจากนี้ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยจำนวน 43% ได้กำลังวางแผนที่จะเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลอย่างจริงจังในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย

นอกจากประเทศไทย การสำรวจพบว่าประเทศที่กำลังพัฒนามีความมั่นใจในด้านความพร้อมทางดิจิทัลมากที่สุด โดยผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย อินเดีย เม็กซิโก และบราซิล มีความมั่นใจมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วเกี่ยวกับอนาคตด้านดิจิทัลโดยคนทำงานในประเทศอินเดียให้คะแนนความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลของตัวเองสูงที่สุด (63 จาก 100) โดย 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจในอินเดียรู้สึกว่ามีความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลสำหรับทำงาน และ 69% พร้อมต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่

สำหรับประเทศไทยผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนความพร้อมต่อทักษะทางดิจิทัลของตนเองสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 (48 จาก 100 คะแนน) โดยแม้ 51% ของผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยจะลงความเห็นว่าตัวเองมีความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลสำหรับการทำงานแต่มีเพียง 39% เท่านั้นที่ยอมรับว่าพร้อมต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่

รายงาน Global Digital Skills Index ยังพบว่าแม้ช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลจะเป็นปัญหาที่โลกต้องเผชิญ แต่ปัญหาดังกล่าวก็มาพร้อมโอกาสด้วยเช่นกัน เนื่องจากธุรกิจทั่วโลกกำลังเปลี่ยนมาใช้โมเดลที่เน้นดิจิทัลเป็นหลัก ส่งผลให้ความต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นตามมา

จากภาพรวมรายงาน Salesforce Index ที่มีการสำรวจและให้คะแนนความพร้อมทางดิจิทัลจากการประเมินในแง่ของความพร้อม ความชำนาญในทักษะ ความสามารถในการเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการปรับระดับทักษะดิจิทัลเผยว่า มุมมองความพร้อมทางดิจิทัลของคนทำงานทั่วโลกให้คะแนนตัวเองเฉลี่ยอยู่ที่ 33 จาก 100 คะแนนโดยระดับคะแนนสูงสุดที่ได้คือ 63 และต่ำสุดคือ 15 คะแนนโดยคะแนนที่แตกต่างนี้เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องเร่งการลงทุนเพื่อปิดช่องว่างทางทักษะดิจิทัลและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมให้แรงงาน

การสำรวจนี้สอดคล้องกับรายงานจากองค์กร RAND Europe ที่พบว่าช่องว่างของทักษะทางดิจิทัลในการทำงานจะเป็นปัญหาทั่วโลกโดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการกระจายแรงงานจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดช่องว่างทางทักษะของแรงงานในแต่ละประเทศ

นอกจากประเทศไทย การสำรวจพบว่าประเทศที่กำลังพัฒนามีความมั่นใจในด้านความพร้อมทางดิจิทัลมากที่สุด
อีกไฮไลต์ที่สำคัญจากการสำรวจ คือ ทักษะด้านดิจิทัลสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันนำมาใช้กับการทำงานไม่ได้เสมอไป ทั้งโซเชียลมีเดียหรือการท่องเว็บอาจไม่สามารถนำมาใช้แทนทักษะดิจิทัลสำหรับทำงานได้ เพราะการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางธุรกิจและส่งเสริมการเติบโตอาศัยทักษะดิจิทัลที่เจาะจงมากกว่านั้นโดยในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ (83%) ภูมิภาคยุโรป (82%) และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (70%) มีทักษะด้านโซเชียลมีเดียในระดับ 'สูง' หรือ 'ปานกลาง' แต่ก็มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น (31% 24% และ 34% ตามลำดับ) ที่รู้สึกมีความพร้อมสำหรับทักษะดิจิทัลเพื่อการทำงานที่สำคัญและจำเป็นในอนาคต 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ทักษะดิจิทัลที่สำคัญที่สุดที่หลายธุรกิจกำลังต้องการนั้นแตกต่างกัน โดยจากรายงาน Salesforce Index พบว่า 63% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกมองว่าทักษะด้านเทคโนโลยีในการทำงานร่วมกันอย่าง Slack เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่ธุรกิจกำลังต้องการในปัจจุบัน และในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยมองว่าการเข้ารหัสและความปลอดภัยทางไซเบอร์จัดเป็นทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานที่สำคัญที่สุดในอนาคตข้างหน้า ตามมาด้วยทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการค้าทางดิจิทัล การบริหารด้านดิจิทัล การตลาดรูปแบบดิจิทัลมาร์เกตติ้งและเทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน

จุดนี้การสำรวจชี้ว่าธุรกิจต่างๆ สามารถก้าวไปข้างหน้าเพื่อปิดช่องว่างทางทักษะที่พบได้โดยนำเอาศักยภาพของพนักงานที่มีอยู่ออกมาให้มากที่สุด โดยรายงาน Salesforce Index ชี้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจที่อายุน้อยมีความมั่นใจและความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่มากกว่าผู้ตอบแบบสำรวจที่อายุมากกว่า โดยมากกว่าหนึ่งในสามของกลุ่ม Gen Z กำลังเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในอนาคต 5 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับ 12% ของกลุ่ม Baby Boomers นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ กำลังมีโอกาสที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานที่มีศักยภาพสูงรุ่นใหม่ผ่านการจัดหาโอกาสเรียนรู้ที่เหมาะสมให้พวกเขาอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรมพร้อมทั้งเพิ่มความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมและสร้างความเป็นผู้นำให้พนักงานเหล่านี้ในอนาคต

บทสรุปที่การสำรวจนี้เน้นย้ำ คือ ธุรกิจกำลังมีบทบาทที่สำคัญเนื่องจากธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบันต้องมีส่วนในการรับผิดชอบโดยต้องร่วมมือกับภาครัฐ พันธมิตรและชุมชนเพื่อจัดการกับวิกฤตทักษะทางดิจิทัลโดยให้การฝึกอบรมสร้างโอกาสในการทำงานเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความพร้อมต่อการทำงานในอนาคตอย่างเท่าเทียม

“เซลส์ฟอร์ซมุ่งมั่นในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่าง Trailhead โดยในปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวกว่า 3.9 ล้านคนเพื่อเรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานในอนาคต และยังมี Trailblazer Community ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานและผู้เชี่ยวชาญมากมายทั่วโลก นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทยเซลส์ฟอร์ซได้ร่วมงานกับ depa ในโปรแกรม “Salesforce depa Career Kickstarter”ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างทักษะทางดิจิทัลเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตให้แก่นักศึกษาไทย”

นอกจากสิ่งที่ทำแล้วอย่างโครงการที่ร่วมมือกับ depa กิตติพงษ์ ย้ำว่า จะมีโครงการลักษณะนี้อีก คู่กับโครงการที่จะทำกับหน่วยงานในระดับโลกช่วงปีนี้
กิตติพงษ์​ คาดการณ์ว่าผลการศึกษาในอนาคตจะให้ผลที่ดีขึ้นอีก เนื่องจากคำถามที่ทุกฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องกับความพร้อมด้านดิจิทัลนั้นไม่ใช่คำถามว่า “ควรทำหรือเปล่า?” แต่เป็นการถามว่าควรทำอย่างไรให้ได้ผล ซึ่งแม้จะเชื่อว่าระดับความพร้อมทางดิจิทัลของไทย 3 ปีข้างหน้ามีโอกาสดีขึ้นอีกในเรื่องที่เลือกมาใช้หรือให้ความสำคัญ แต่ยังจะต้องการการเรียนรู้ที่เปิดกว้างต่อไป เพราะเทคโนโลยีนั้นเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันจนไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป

นอกจากสิ่งที่ทำแล้วอย่างโครงการที่ร่วมมือกับ depa ซึ่งมีการสอนนักศึกษาจบใหม่ 100 คน กิตติพงษ์​ ย้ำว่า จะมีโครงการลักษณะนี้อีก คู่กับโครงการที่จะทำกับหน่วยงานในระดับโลกช่วงปีนี้

“ช่องว่างด้านทักษะทางดิจิทัลเป็นปัญหาควรได้รับการแก้ไข และธุรกิจองค์กรต่างๆ ทั่วโลกล้วนมีบทบาทที่สำคัญในการปิดช่องว่างดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดด้านการศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากร การลงทุนที่ยั่งยืนและการเป็นพันธมิตรที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือเพียงเท่านี้ธุรกิจต่างๆ ก็จะสามารถเป็นแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น