ไปรษณีย์ไทยมักถูกจับตาอยู่เสมอในฐานะเจ้าตลาดด้านการขนส่งพัสดุ เมื่อมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาที่มักสู้กันด้วยราคา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า โจทย์ที่ท้าทายของผู้บริหารไปรษณีย์ไทย คือทำอย่างไรให้ยังคงรักษาตลาด สร้างรายได้ และผลกำไรไว้ให้ได้ ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงมักถูกตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาถึงผลประกอบการและกำไร ที่สำคัญคือกลยุทธ์ในการแข่งขันและการบริหารบุคลากรที่มีอยู่กว่า 40,000 คนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตอบโจทย์การแข่งขันและบริการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
***เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม-สร้างความต่างมากกว่าราคา
‘ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ผลประกอบการของปี 2564 ยังอยู่ระหว่างการปิดบัญชี แต่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท ส่วนเรื่องกำไรขอให้ลืมเรื่องนี้ไปก่อน เพราะไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรของรัฐ ในปี 2564 กิจกรรมของไปรษณีย์ไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งยาถึงบ้าน การช่วยชาวสวนส่งผลไม้ การส่งเตียงกระดาษเพื่อสร้างศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด และโครงการอื่นๆ ของรัฐที่ไปรษณีย์ไทยสามารถช่วยเหลือได้
แม้ว่ารายได้ในปีที่แล้วมีเพียง 22,000 ล้านบาทก็ตาม แต่หากพูดถึงส่วนแบ่งการตลาดแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังคงมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 40% ในแง่ของรายได้ และ 57% ในแง่ของจำนวนพัสดุ ขณะที่มูลค่าตลาดขนส่งพัสดุอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท มีการเติบโต 19% ซึ่งยอมรับว่าตลาดนี้มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ไปรษณีย์ไทยต้องเดินหน้ารักษาส่วนแบ่งตลาดนี้ไว้ด้วยการหากลุ่มลูกค้าที่แตกต่างและไม่เพียงแค่เล่นเรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าด้วย ซึ่งปีนี้ไปรษณีย์ไทยวางงบลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
เขาอธิบายเพิ่มเติมถึงการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ว่า ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้เฝ้าดูการเติบโตและกระบวนการทำงานของตลาดอี-คอมเมิร์ซมาโดยตลอด ซึ่งตลาดนี้มีการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 25-30% แม่ค้าออนไลน์เมื่อเริ่มการขายครั้งแรก เขาจะฝากสินค้าในแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ของคนอื่นก่อน จากนั้นเขาถึงจะมีพื้นที่ออนไลน์ของตนเอง และแม่ค้าแต่ละคนขายของแต่ละอย่างก็มีความต้องการส่งพัสดุที่ไม่เหมือนกัน เมื่อเราจับพฤติกรรมของตลาดนี้ได้ว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่น ต้นไม้ ขนม ผลไม้ อาหารแช่แข็ง ย่อมต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ต่างกัน เราก็สามารถเข้าไปจับตลาดเฉพาะกลุ่มนี้ได้
ไม่เพียงแต่การให้บริการขนส่งเท่านั้น ไปรษณีย์ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าด้วยการให้บริการตั้งแต่เรื่องการให้ความรู้เรื่องการขายออนไลน์สำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ การเพิ่มยอดขายต้องทำอย่างไร การนำสินค้าไปขายในต่างประเทศ การทำระบบซีอาร์เอ็ม การยิงโฆษณาออนไลน์ การรีพอร์ตการขาย ตลอดจนการบริการแพก รับของ และส่งให้ โดยที่แม่ค้าออนไลน์ไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานตรงนี้ จะได้มีเวลาโฟกัสที่การขายเป็นหลัก
‘ปี 2565 คาดว่ารูปแบบขนส่งด่วนจะแข่งขันดุเดือดยิ่งขึ้น ทั้งด้วยปัจจัยจากแพลตฟอร์มการค้าใหม่ๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การพึ่งพาของตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งแบบ B2B, B2C และ C2C ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าระหว่างปี 2565-2567 ขนาดของตลาดขนส่งด่วนจะมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยที่ 11.23% ต่อปี และจะเป็นมาตรฐานที่คุ้นชินของภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาการขนส่งแบบด่วนอย่างมีนัยสำคัญ’
***เปิดแคมเปญอีเอ็มเอส ใช้บริการได้ทุกวัน
ในปี 2565 ไปรษณีย์ไทยจึงได้เดินหน้าแคมเปญ ‘EMS ทุกวัน’ พี่ไปรฯ ทุกวัน เพื่อทุกวันที่ดีของคุณ ซึ่งเป็นการยกระดับงานบริการการส่งด่วนให้เข้าถึงได้ง่าย รองรับกับทุกไลฟ์สไตล์ ทันสมัย มีความเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น (Companionship) และสามารถใช้บริการได้ทุกวัน ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งนิวเจน อีคอมเมิร์ซ ประชาชนทั่วไป โดยสามารถขับเคลื่อนทุกความต้องการในการขนส่งหลากหลายรูปแบบ เช่น รับฝากส่งสิ่งของถึงบ้าน (pick up service) ส่งของใหญ่หรือของรูปร่างพิเศษ (Logispost) ส่งของดีจากชุมชนที่เว็บไซต์ thailandpostmart ส่งยา/เวชภัณฑ์ ส่งต้นไม้/กล้าพันธุ์ไม้ ส่งของไปต่างประเทศ ส่งสินค้าแบบครบวงจรด้วยบริการคลังสินค้า Fulfillment หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิบริการ FUZE POST พร้อมกันนี้ ยังได้จัดโปรโมชันพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้ได้ส่งสิ่งของแบบด่วนในราคาพิเศษ
นอกจากนี้ เพื่อการันตีมาตรฐานบริการ EMS ส่งด่วน ไปรษณีย์ไทยพร้อมย้ำ 4 เรื่องสำคัญที่จะสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ได้แก่ นำจ่ายตรงเวลา สถานะสิ่งของถูกต้อง ติดต่อผู้รับ ส่งของสำเร็จ และจะเพิ่มประสิทธิภาพของบริการหลังการขายให้ดียิ่งขึ้น เช่น ทีมแคร์ ดูแลลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ช่วยเหลือติดตามสิ่งของให้อย่างรวดเร็วหากลูกค้ามีปัญหา และพี่ไปรฯ กว่า 20,000 คน ที่พร้อมทำหน้าที่ส่งด่วนทุกวัน
***ไปรษณีย์ไทยต้องเป็นมากกว่าโลจิสติกส์
‘ดนันท์’ กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยจะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ จะทำอะไรก็ได้ที่คนไทยอยากให้ไปรษณีย์ไทยทำ แต่จะทำอะไรบ้างนั้นต้องรอดูต่อไป ปีนี้ไปรษณีย์ไทยได้เริ่มต้นด้วยการรีเฟรชแบรนด์ใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น จะสื่อสารแบรนด์ของไปรษณีย์ไทยให้ชัดขึ้นถึงความเป็นแบรนด์ที่เชื่อมโยงไปรษณีย์ไทยกับสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง คนของไปรษณีย์ไทยที่มีอยู่กว่า 40,000 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นบุรุษไปรษณีย์นั้นต้องมีการบริหารจัดการให้ทำงานอย่างลงตัวมากขึ้น ขั้นตอนไหนใช้เครื่องจักรได้จะนำมาใช้และนำคนไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในตำแหน่งที่ขาดหรือกำลังจะเกิดขึ้นในบริการใหม่ๆ
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมสีเขียว เหมือนกับองค์กรชั้นนำทั่วโลก มีการเริ่มต้นนำรถไฟฟ้ามาใช้ในการนำจ่ายพัสดุไปยังปลายทางของลูกค้า ซึ่งปีนี้จะได้เห็นรถไฟฟ้าจำนวน 250 คัน มาทดแทนรถที่ใช้น้ำมันซึ่งได้เวลาในการเปลี่ยนรุ่นใหม่พอดี ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนโดยรวมได้ 30% และไม่สร้างมลพิษให้โลก ประกอบกับราคาต้นทุนด้านน้ำมันที่ยอมรับว่ามีผลต่อการขนส่ง เพราะราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนถึง 30% ของการทำงานที่สำคัญเช่นกัน และในอนาคตอันใกล้ที่ทำการของไปรษณีย์ไทยสาขาต่างๆ จะเป็นสถานีชาร์จสำหรับรถไฟฟ้าให้ประชาชนด้วย