xs
xsm
sm
md
lg

'เอคเซนเชอร์' เผยเทรนด์คนยุคหลังโควิดไม่ง้อทำงานเต็มเวลา ชี้เมตาเวิร์สมาแน่ คาดคนใช้งาน 1 ชม.ต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานฟยอร์ดเทรนด์ ของเอคเซนเชอร์ เผย 5 เทรนด์ พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยน ส่งผลต่อกลยุทธ์องค์กรเร่งปรับตัว ชี้ผู้คนยุคหลังโควิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น คือความท้าทายที่องค์กรไทยต้องรับมือทั้งกับพนักงานของตนเองและลูกค้า ขณะที่เทรนด์เมตาเวิร์สมาแน่ แนะองค์กรลงทุนให้ไว หลากหลาย แต่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เพื่อทดลองใช้และหาโซลูชันที่เหมาะสมที่สุดกับองค์กรและลูกค้า

นายดาวิน สมานนท์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวถึงรายงาน Fjord Trends 2022 ถึงผลสำรวจพฤติกรรมมนุษย์ที่จะส่งผลต่อวัฒนธรรม สังคม และธุรกิจในปีนี้ ว่า ประกอบด้วย 5 เทรนด์ได้แก่ เทรนด์แรก เป็นอย่างที่ตัวเองเป็น (Come as you are) : การที่ผู้คนรู้สึกสามารถควบคุมชีวิตตัวเอง (sense of agency) ได้มากขึ้นในช่วง 2 ปีที่โควิดแพร่ระบาดนั้น ส่งผลกระทบต่อวิธีการทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและการบริโภคทั้งสิ้น นอกจากนั้น ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความสำนึกถึงตัวตน สิ่งที่สำคัญกับชีวิตและความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้นด้วยมุมมอง “me over we” ซึ่งสำคัญต่อองค์กรในแง่ของการบริหารและจูงใจพนักงาน ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างค่านิยมให้แก่พนักงานใหม่ และแนวทางการสานสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ดาวิน สมานนท์
เทรนด์นี้นับเป็นความท้าทายและเป็นสิ่งที่องค์กรไทยรับมือยากที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของคนมีมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย และสถานการณ์โควิด ทำให้คนทำธุรกิจของตนเองง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายของ ร้านอาหาร ทำคอนเทนต์ สามารถทำที่บ้านตัวเองได้ คนเริ่มพึงพอใจกับตำแหน่งงานที่มี และงานที่ทำอยู่ จึงไม่มีแรงผลักดันในการทำงานให้โตแบบก้าวกระโดด ผลกระทบคือ เมื่อก่อนองค์กรใหญ่จะมีการแย่งคนจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง แต่ตอนนี้เป็นการแย่งคนจากที่ทำงานฟรีแลนซ์มากขึ้น ผลสำรวจพบว่ามีคนแค่ 15% เท่านั้นที่ต้องการทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศเหมือนเดิมหลังโควิดจบ องค์กรจึงต้องหาความสมดุลของความต้องการของบริษัทพนักงาน และลูกค้าของตนเองด้วย

เทรนด์ที่สอง หมดยุคเหลือเฟือ? (The end of abundance thinking?) : ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนต้องเผชิญกับสภาพชั้นสินค้าว่างเปล่า บิลค่าไฟเพิ่ม อีกทั้งบริการที่เคยใช้ในแต่ละวันก็ขาดหายไป ด้านการขาดแคลนของปัจจัยหลายๆ อย่างแม้จะเป็นปัญหาระยะสั้นชั่วคราว แต่จะส่งผลที่ต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแนวคิด จากการ “คิดเผื่อ” ที่อยู่บนฐานของการที่ทุกอย่างมีให้ใช้อย่างเหลือเฟือ สะดวก และรวดเร็ว เปลี่ยนไปเป็นถึงความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งธุรกิจต้องรับมือกับความกังวลถึงปัจจัยต่างๆ ว่าจะมีพอหรือไม่อย่างที่หลายคนประสบทั่วโลก ดังนั้น จึงจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าคนยินดีในการใช้งานมากขึ้นกับแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจการนำของกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล หรือการตระหนักว่าการเลี้ยงโคเพื่อนำมากิน เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เทรนด์ที่สาม พรมแดนใหม่ (The next frontier) : การแตกตัวทางวัฒนธรรมขนานใหญ่นั้นกำลังรอเวลาที่จะเกิดขึ้น เมตาเวิร์สจะกลายเป็นพรมแดนใหม่ของอินเทอร์เน็ตที่หลอมรวมเลเยอร์ต่างๆ ของข้อมูล อินเทอร์เฟซ และพื้นที่ที่ผู้คนสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเข้าไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันจะกลายเป็นพื้นที่ใหม่ในการสร้างรายได้ การสร้างงานในรูปแบบใหม่ และการสร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุดให้กับแบรนด์ด้วย เพราะผู้คนคาดหวังให้ธุรกิจสร้างสรรค์และนำพาพวกเขาไปสู่สิ่งใหม่ ซึ่งโลกจะไม่หยุดที่หน้าจอและหูฟังเท่านั้น แต่ยังเปิดประตูไปสู่ประสบการณ์และสถานที่ต่างๆ ในโลกจริงที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกดิจิทัลได้อีกด้วย คาดว่าภายในอนาคตอันใกล้จะมีการใช้เมตาเวิร์สวันละ 1 ชั่วโมง ดังนั้น องค์กรต้องเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ ต้องรีบทำอย่างรวดเร็ว ต้องลองทำหลายๆ อย่างพร้อมกันโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ เพื่อดูว่าจะสามารถลงทุนกับสิ่งที่ทดลองได้หรือไม่ ขณะที่เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลก็สำคัญ ที่ต้องมีการเก็บและใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะกฎหมายจะตามเทคโนโลยีเสมอ บริษัทที่ต้องทำก่อนจึงต้องใช้จริยธรรมของบริษัทเข้ามานำก่อนกฎหมาย

เทรนด์ที่สี่ ตอบเร็ว ตอบจริง (This much is true) : ทุกวันนี้ผู้คนคาดหวังที่จะได้รับคำตอบต่างๆ จากการกดปุ่มแค่ครั้งเดียวหรือสั่งงานด้วยเสียงผ่านระบบ voice assistant ด้วยวิธีการที่แสนง่ายและได้คำตอบในทันที หมายความว่าผู้คนจะซักถามมากขึ้น ซึ่งสำหรับแบรนด์สินค้าแล้ว หมายถึงขอบเขตของคำถามจากลูกค้าและช่องทางการสอบถามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การออกแบบวิธีการตอบคำถามจึงเป็นความท้าทาย และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่พร้อมเสริมสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในอนาคตด้วย

และเทรนด์สุดท้าย ใส่ใจมากขึ้น (Handle with care) : การดูแลใส่ใจทุกด้านเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างเด่นชัดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง ดูแลผู้อื่น การบริการดูแลสุขภาพ และช่องทางที่ให้บริการทั้งทางดิจิทัลและโลกออฟไลน์ สภาวะเช่นนี้ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับนายจ้างและแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือการดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบในการดูแลตนเองและผู้อื่นจะยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในชีวิต นักออกแบบและองค์กรธุรกิจจึงต้องคำนึงเหมือนกันว่าจะการสร้างพื้นที่สำหรับฝึกการดูแลเรื่องต่างๆ ในภาคปฏิบัติได้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น