xs
xsm
sm
md
lg

สายเปย์ต้องระวัง! ชาวโซเชียล 45% เสียเงินเพราะกลโกงรักออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) โชว์งานวิจัย รักปลอมๆ มักมีค่าเสียหาย ชี้ผู้ใช้โซเชียลในอาเซียน 45% เสียเงินเพราะกลโกงรักออนไลน์ แนะ 6 วิธีรักษาทั้งหัวใจและเงินให้ปลอดภัยจากนักต้มตุ๋นความรักในโลกไซเบอร์

นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่าเมื่อตอนที่อายุยังน้อย ผู้ใช้หลายคนมักจะอยากรู้อยากเห็นและประมาท แต่เมื่อโตขึ้น หลายคนมีเวลาและเงินเกษียณในบัญชีธนาคารเหลือเฟือ อาชญากรไซเบอร์รู้ถึงความเป็นจริงเหล่านี้ เช่นเดียวกับแนวโน้มของมนุษย์ที่จะโดดเดี่ยวและกระหายการอยู่ร่วมกันมากขึ้นเมื่อถูกบังคับให้ต้องอยู่คนเดียวในบ้านตัวเอง

“อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราพบเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจให้เราระมัดระวังในขณะที่เราฟังเสียงหัวใจ เนื่องจากไม่มีอะไรเจ็บปวดมากไปกว่าการมีคู่รักจอมปลอมและกระเป๋าที่ไร้เงิน เราจึงขอให้ทุกคนทุกวัยตื่นตัวและแยกแยะความถูกต้องของความสัมพันธ์ที่เรากำลังสร้างทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์”

แคสเปอร์สกี้เผยผลสำรวจความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ออนไลน์ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ ความเสี่ยงนี้อาจเป็นความเสียหายแบบจำนวนเงิน เนื่องจากการหลอกลวงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ นี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงมีการระบาดใหญ่ของโควิดครั้งแรกในโลก

"ด้วยการเคลื่อนไหวทางกายภาพที่จำกัด อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ได้ให้การเชื่อมต่อที่สำคัญสำหรับผู้คน การวิจัยของแคสเปอร์สกี้พบว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากกว่าครึ่ง (53%) ทั่วโลกใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมากกว่าเมื่อก่อน"

กลุ่มคน Gen Z ส่วนน้อย (8%) ระบุว่าสูญเงินมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐจากภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับความรัก
งานวิจัยเดียวกันนี้ยังเผยให้เห็นว่าผู้ใหญ่ 18% จากจำนวน 1,007 คนที่ทำแบบสำรวจเพื่อเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลักเพื่อค้นหาความรัก และคนส่วนใหญ่ (76%) ยืนยันว่าโซเชียลมีเดียได้ให้การเชื่อมต่อที่สำคัญในช่วงภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบหนึ่งในสี่ (24%) กล่าวว่า ตนได้สร้างมิตรภาพแบบตัวต่อตัวในชีวิตจริงกับผู้คนที่พบกันครั้งแรกบนโซเชียลมีเดีย ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 18% ยอมรับว่าเดทกับคนที่พบบนแพลตฟอร์มโซเชียลเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การหาคู่ที่เติบโตเช่นนี้ยังมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านอารมณ์และการเงินอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ในปี 2021 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากสิงคโปร์และมาเลเซียร่วมมือกันติดตามกลุ่มที่เชี่ยวชาญเรื่องกลโกงเรื่องความรัก อยู่เบื้องหลังการหลอกลวงอย่างน้อย 8 ครั้งในทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงกรณีของสตรีชาวสิงคโปร์วัย 41 ปี ซึ่งจบลงด้วยการสูญเสียเงินรวม 28,000 ดอลลาร์

การวิจัยของแคสเปอร์สกี้อีกหนึ่งเรื่องชื่อ “Mapping a secure path for the future of digital payments in APAC” เปิดเผยว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเกือบหนึ่งในสอง (45%) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูญเสียเงินเนื่องจากการถูกหลอกลวงเรื่องความรักทางออนไลน์

เหตุการณ์ส่วนใหญ่ (22%) มีค่าเสียหายน้อยกว่า 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าอายุของเหยื่อและค่าเสียหายที่เป็นไปได้ของการหลอกลวงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ นี้ ดูเหมือนจะทับซ้อนกัน

สำหรับความเสียหายน้อยกว่า 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มคนอาวุโสสูงที่สุด 2 รุ่น (Baby Boomer และ Silent Generation) มีสัดส่วนเสียหายเปอร์เซ็นต์สูงสุดทั้งคู่ที่ 33%

กลุ่มคนอาวุโสสูงที่สุดสองรุ่น (Baby Boomer และ Silent Generation) มีสัดส่วนเสียหายจากรักออนไลน์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดทั้งคู่ที่ 33%
กลุ่มอายุที่อาวุโสที่สุดสูญเสียมากที่สุด โดยจำนวนเกือบสองในห้าคนยอมรับว่าสูญเสีย 5,000-10,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐจากการหลอกลวงเรื่องความรักทางออนไลน์

และสุดท้าย กลุ่มคน Gen Z ส่วนน้อย (8%) ระบุว่าสูญเงินมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐจากภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับความรัก

สัญญาณเตือนของการหลอกลวงหาคู่ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มหรือแอป มีตั้งแต่การแสดงอารมณ์รุนแรงในเวลาอันสั้น การเปลี่ยนจากไซต์หรือแอปหาคู่ไปยังช่องทางส่วนตัวอย่างรวดเร็ว การที่นักต้มตุ๋นถามคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว เพราะยิ่งรู้จักมากเท่าไหร่ เหยื่อก็จะถูกจัดการได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีภาวะที่เรื่องราวไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากบางครั้งนักต้มตุ๋นทำงานเป็นทีม โดยต่างคนต่างซ่อนตัวอยู่หลังตัวตนเดียวกัน ดังนั้น หากบุคคลที่กำลังพูดด้วยดูไม่สอดคล้องกัน ให้สงสัยไว้ก่อนได้ ขณะเดียวกัน นักต้มตุ๋นไม่มีรอยเท้าดิจิทัล แม้ว่าบางคนจะไม่ใช้โซเชียลมีเดีย และพยายามลดปริมาณข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ต แต่ก็อาจน่าสงสัยหากไม่พบร่องรอยของบุคคลใดๆ เลยในโลกออนไลน์

อีกจุดที่สำคัญคือไม่มีการคุยผ่านวิดีโอหรือพบเจอแบบเห็นหน้ากัน มักแก้ตัวอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงการไปหน้ากล้อง เหตุผลที่ชัดเจนคือหน้าตาของนักต้มตุ๋นไม่เหมือนกับรูปโปรไฟล์ อีกทั้งยังต้องการหลีกเลี่ยงการถูกระบุตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกติดตามได้ในภายหลัง รวมถึงมีการขอเงินจากความทุกข์ยากส่วนตัว ตัวอย่างเช่น มีญาติที่ป่วยหรือธุรกิจที่ล้มเหลว

6 วิธีหลีกเลี่ยงการหลอกลวงหาคู่ออนไลน์ เริ่มด้วย 1.เมื่อใช้เว็บไซต์โซเชียลมีเดีย อย่ายอมรับคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่ไม่รู้จัก 2.หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไปในโปรไฟล์การออกเดท หรือกับคนที่แชตด้วยทางออนไลน์ 3.ทำสิ่งต่างๆ ช้าๆ ถามคำถาม และระวังความไม่สอดคล้องกันที่อาจเปิดโปงผู้แอบอ้างได้

4.ใช้เว็บไซต์หาคู่ที่มีชื่อเสียง และติดต่อสื่อสารผ่านบริการส่งข้อความของเว็บไซต์นั้น ผู้ฉ้อโกงต้องการให้เปลี่ยนไปใช้ข้อความโซเชียลมีเดียอื่นหรือใช้โทรศัพท์อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่มีหลักฐานว่าได้ขอเงินผ่านเว็บไซต์หาคู่ 5.อย่าให้เงินใคร เว้นแต่รู้จักและมีความสัมพันธ์แบบออฟไลน์

และ 6.หากใครไปเดท อย่าลืมบอกคนในชีวิตจริงให้รู้ว่าจะอยู่ที่ไหนเพื่อความปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น