xs
xsm
sm
md
lg

dtac Safe Internet ชวนรู้ทันภัยกลโกงออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



dtac Safe Internet ชวนทำความรู้จักภัยกลโกงไซเบอร์ที่อาจแฝงมาในวันวาเลนไทน์ ‘Romance Scam’ หรือการ ‘หลอกให้รัก หวังแสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อใจของเหยื่อ’ โดยหลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สินไปให้ ปัจจุบันมีผู้เสียหายจากการหลอกโอนเงินมากมาย และหนึ่งในกลโกงออนไลน์ที่มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อมากที่สุดคือ Romance Scam

สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ระบุว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2561 จนถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ.2562 สถิติการรับเรื่องคดีที่เป็น Romance Scam มีผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินจำนวน 332 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 193,015,902.11 บาท

พ.ต.อ มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชน จากคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต และวิทยากรในห้องเรียนออนไลน์วิชา Online Privacy & Sexual Abuse ของ dtac Young Safe Internet Cyber Camp กล่าวว่า เมื่อเหยื่อตระหนักรู้มากขึ้น นักล่าก็ต้องอัปเลเวลเพิ่มมากขึ้น การปลอมแปลงตัวตน เปลี่ยนรูปแบบการรับเงินโอนบัญชีมาฟอกผ่าน ‘คริปโต’ ที่สำคัญนักล่าไม่ใช่แค่เพียงเป็นต่างชาติแต่เป็นคนไทยด้วย หรือแม้กระทั่งคนใกล้ตัว และคนใกล้ชิดในครอบครัว

เพื่อรู้เท่าทันกับภัยออนไลน์ Romance Scam ดีแทค Safe Internet ขอแนะนำให้ผู้ใช้งานดิจิทัลต้องทำความเข้าใจกลอุบายเหล่านี้เสียก่อนว่า ผู้ที่เข้ามาหลอกลวงมักจะมาด้วยอุบายสุดฮิตคือ

- ทำทีมาจีบและให้ความหวังว่าอยากจะมาแต่งงานที่เมืองไทย และส่งทรัพย์สินให้ “แต่ต้องชำระเงินค่าภาษีก่อน”
- ได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาล “แต่ต้องชำระภาษีมรดก”
- ป่วยหนัก “แต่ประกันยังเบิกจ่ายไม่ได้”
- ส่งของรางวัลราคาแพงมาให้ แต่ติดอยู่ที่ด่านตรวจ “ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน”
- เป็นนักธุรกิจที่จะมาลงทุน “แต่ต้องการให้ร่วมทุนด้วย”

ผู้ใช้งานดิจิทัลสามารถสังเกตและจับเท็จผู้ที่เข้ามาหลอกลวงได้ โดยสังเกตจากการที่มิจฉาชีพมักใช้รูปโปรไฟล์ที่ดูดี มีฐานะ ทักทายด้วยคำหวาน และใช้ภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกหลักไวยกรณ์ มิจฉาชีพส่งอีเมลหรือลวงให้ใส่ข้อมูลธนาคาร เมื่อผู้ใช้งานดิจิทัลเริ่มรู้สึกสงสัย หรือเริ่มระแคะระคายว่าจะโดนหลอกเข้าให้แล้ว ผู้ใช้งานควรจะหาวิธีรับมือ ตัวอย่างเช่น

- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเอง หลีกเลี่ยงการเปิดกล้อง หรือพูดคุยเห็นหน้า
- ตรวจสอบรูปโปรไฟล์ว่านำมาจากที่อื่นหรือไม่
ตั้งสติ ใจเย็น หมั่นถามคำถาม
- หากมีการนัดพบ ควรมีเพื่อนไปด้วย
- หลีกเลี่ยงการโอนเงินทุกกรณี
- ระวังตัวอยู่เสมอ เพราะนักต้มตุ๋นออนไลน์มีทุกที่

หากรู้ตัวว่าได้ตกเป็นเหยื่อแล้วควรตั้งสติและจัดการกับปัญหาดังนี้

- เตรียมเอกสารส่วนตัวและสำเนาบัตรประชาชน
- เตรียมหลักฐาน เช่น ภาพสนทนาในแอปที่ใช้ รวมถึงรูปโปรไฟล์ของผู้กระทำผิด
- เตรียมหลักฐานการโอนเงินต่างๆ เช่น สลิป หรือรูปการทำธุรกรรม
- รีบไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุที่ใกล้ที่สุด หรือโทร.สายด่วย 1710 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)












กำลังโหลดความคิดเห็น