xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจใหญ่ ‘SAMART’ ปั้น SDC ให้สู้แบบสตาร์ทอัป รับชีวิตดิจิทัลคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อภาพรวมของอุตสาหกรรมไอทีเริ่มกลับมาฟื้นตัว และเกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าไปลงทุน พร้อมให้บริการแก่ภาครัฐ ในกลุ่มธุรกิจ ‘สามารถเทลคอม’ (Samart Telcoms) มีทิศทางที่ชัดเจนเพื่อรองรับการทำงานของ e-Goverment ทำให้ในปีนี้ ‘กลุ่มสามารถ’ (SAMART) เริ่มหันกลับมาปูเส้นทางใหม่ให้แก่กลุ่มธุรกิจ ‘สามารถ ดิจิตอล’ (Samart Digital) ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการเป็นดิจิทัลครีเอเตอร์ให้บริการ ‘ข้อมูล’ แก่ลูกค้า มาเป็นผู้นำบริการดิจิทัลเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Digital Lifestyle Enabler) เพื่อเข้าสู่น่านน้ำใหม่ของธุรกิจดิจิทัล


เบื้องต้น ในปี 2022 นี้กลุ่มสามารถตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่เติบโต 60% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 14,000 ล้านบาท มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ SAMTEL ที่สร้างรายได้หลักให้แก่กลุ่มที่ 7,000 ล้านบาท ตามด้วย SDC ที่ 3,000 ล้านบาท U-Trans 2,500 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ อีกราว 1,500 ล้านบาท

​วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความท้าทายของธุรกิจในปีนี้ คือ การมองหาโอกาส และสร้างธุรกิจใหม่จากรากฐานเดิมที่มีความแข็งแรง

​‘เมื่อเป้าหมายระยะยาวของกลุ่มสามารถคือการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างรายได้ระยะยาวที่เข้ามาต่อเนื่องในทุกๆ ปี ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิส และโซลูชันเพื่อรองรับการทำงานขององค์กรธุรกิจ และผู้บริโภคเพื่อให้เกิดช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ’

​ที่ผ่านมา ในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐ กลุ่มสามารถได้เริ่มปรับตัวและมีโปรเจกต์ที่สร้างรายได้ระยะยาวเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของธุรกิจด้านดิจิทัล ไอซีที โซลูชัน ของกลุ่มสามารถเทลคอม ที่มีงานในมือกว่า 7,200 ล้านบาท และวางเป้าหมายเข้าโครงการใหม่ในปีนี้กว่า 11,000 ล้านบาท

"นโยบายรัฐในการพัฒนา e-Goverment Service เพื่อรองรับบริการประชาชนในยุควิถีชีวิตใหม่ จะส่งผลให้ธุรกิจด้านดิจิทัล ไอซีที โซลูชัน ที่มีความชำนาญในการนำเทคโนโลยีที่ครบวงจรเข้ามาให้บริการแก่ภาครัฐมีโอกาสมากขึ้น"

​ขณะเดียวกัน ด้วยแนวทางธุรกิจใหม่ในการเข้าไปเป็นเอาต์ซอร์ส (Outsourcing Services) ให้หน่วยงานภาครัฐในการลงทุนติดตั้งระบบก่อน และเปิดให้ภาครัฐเข้ามาใช้งานจะช่วยเร่งให้การบริการประชาชนในยุคดิจิทัลทำได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย

*** นำเทคโนโลยีบริการดิจิทัลภาครัฐ

​สิ่งที่ SAMTEL ทำคือ การเปลี่ยนจากผู้ติดตั้งระบบไอทีโซลูชัน (SI) ให้กลายเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร (Enabler) เพื่อทำให้นโยบายภาครัฐเกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะงานไอทีในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐมีแผนจะลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอโซลูชันดิจิทัลที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งในส่วนของการเก็บข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะในแง่ของการปกป้องข้อมูลจากภัยคุกคามต่างๆ ที่ต้องรัดกุมมากยิ่งขึ้น

​ถัดมาคือเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างการนำข้อมูล Big Data มาใช้ AI ในการวิเคราะห์ เพื่อนำไปวางแผนจัดการบริหารประเทศ ให้บริการแก่ภาคประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และเร็วขึ้น สุดท้ายคือการนำบริการครบวงจรส่งถึงมือประชาชน ผ่านบริการดิจิทัลต่างๆ ทั้งการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ไปจนถึงสมาร์ทคอนแทกต์ต่างๆ

​โดยภายในปี 2022 จะมีโปรเจกต์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของ Government Service Outsource มูลค่า 5-6,000 ล้านบาท ในการเข้าไปให้บริการระบบให้บริการทางธุรกรรมต่างสาขา การซื้อ ขาย โอนทรัพย์สิน และบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการเข้าถึงของประชาชน อย่างการตรวจสอบสิทธิ สถานะบริการ และอื่นๆ รวมถึงโครงการในกลุ่มสาธารณูปโภคอีกกว่า 6,500 ล้านบาท ในการวางโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการไฟฟ้า น้ำประปาต่างๆ และอีกกว่า 750 ล้านบาท จากภาคธนาคารที่จะมีการปรับตัวสู่ดิจิทัล และการขยายสาขาเพิ่มเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน

​ขณะเดียวกัน ยังมีรายได้จากโครงการพิมพ์รหัสบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) ที่ร่วมงานกับกรมสรรพสามิต จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่อง 7 ปี นับจากวันเปิดให้บริการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท

*** ท่องเที่ยวฟื้นตัว หลังโควิดคลี่คลาย


ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้จากสายธุรกิจ Utilities & Transportation ไม่สามารถเติบโตได้ แต่เชื่อว่าจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่หลายประเทศเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทาง และการพัฒนาโครงการพื้นฐานในประเทศเพื่อให้บริการแก่ประชาชนจะช่วยให้รายได้จากสายธุรกิจนี้เติบโตได้

​รายได้ส่วนหนึ่งของธุรกิจในกลุ่ม Utilities & Transportation คือ บริษัท CATS (Cambodia Air Traffic Services) ที่กลุ่มสามารถเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ซึ่งในปีนี้กัมพูชามีโครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่ ทั้งในพนมเปญ เสียมเรียบ และสีหนุวิลล์ เพื่อรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อีกบริษัทก็คือ TEDA ที่เชี่ยวชาญในการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า การวางสายส่งไฟฟ้าทั้งบนดิน และใต้ดิน ที่ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือกว่า 3,300 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มรายได้ที่รอการรับรู้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทในปีนี้ จากโครงการเกี่ยวกับสายส่งพลังงาน


นอกจากนี้ กลุ่มสามารถยังอยู่ระหว่างการศึกษาด้านพลังงานทางเลือก และพลังงานสะอาดเพื่อลงทุนในอนาคต ซึ่งจากงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทำให้คาดว่ารายได้จากกลุ่มนี้จะไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน

*** มุ่งสู่ Digital Lifestyle Content Enabler


สุดท้ายในสายธุรกิจสามารถ ดิจิตอล (SDC) ที่ปัจจุบันให้บริการใน 2 ส่วนหลักๆ คือ ดิจิทัล ทรังก์ เรดิโอ (DTRS) ที่ลงทุนไปเริ่มสร้างรายได้กลับเข้ามา โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้เซ็นสัญญากับทางบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ในการให้บริการแก่การไฟฟ้าฯ กระทรวงมหาดไทย ทำให้มีรายได้จากทั้งค่าอุปกรณ์สื่อสาร และรายได้จากการให้บริการที่ทยอยรับรู้รายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา DTRS มีจำนวนลูกค้าที่ใช้งานอยู่ 89,000 ราย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 120,000 รายในปีนี้ ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 180,000 รายในปี 2023 จากการเข้าไปเจาะในกลุ่มหน่วยงานความมั่นคงของรัฐที่ต้องการอุปกรณ์สื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ

​ตามมาด้วยในสายธุรกิจบริการดิจิทัลและคอนเทนต์ ที่เดิม SDC มีความแข็งแรงในสายพยากรณ์ กีฬา กิน ดื่ม เที่ยว และให้บริการผ่านช่องทาง IVR 1900 และ SMS ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคหันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับสัญญาของ IVR 1900 ใกล้จะสิ้นสุด ทำให้มีแผนที่จะยกเลิกให้บริการในช่องทางดังกล่าว


พร้อมกับมุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่การเป็น Digital Lifestyle Contect Enabler เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าสู่ชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการนำประสบการณ์ในการให้บริการคอนเทนต์ทางด้านโหราศาสตร์กว่า 25 ปี มาพัฒนาแอปพลิเคชัน Horoworld ให้เป็น One stop Service ทางด้านโหราศาสตร์และความเชื่อ

​‘ทิศทางของ Horoworld ในปีนี้จะเน้นไปที่การเข้าไปเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงิน สินค้าต่างๆ ที่สามารถนำดวงไปผูก อย่างฤกษ์ออกรถยนต์ ฤกษ์แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ต่างๆ สอดคล้องกับความเชื่อของคนไทย และนำมาทำให้สะดวกขึ้น’

​รวมถึงเตรียมเปิดบริการออนไลน์สำหรับสายบุญทั้งในและต่างประเทศ (Thai Merit) สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่สายมู และคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนที่ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในไทย ด้วยบริการดูภาพวิดีโอสดออนไลน์จากสถานที่สำคัญต่างๆ การบริจาคเงินเข้าวัด แก้บนออนไลน์ เสี่ยงเซียมซีออนไลน์ และมาร์เกตเพลสวัตถุมงคล


​นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะต่อยอดบริการออนไลน์ไปสู่การฟังเทศน์ ไหว้พระ ในลักษณะของ Metaverse จนถึงสร้างเหรียญบุญผ่านการทำ NFT และเหรียญดิจิทัล ที่ปัจจุบันกำลังศึกษารายละเอียดเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการอยู่

​อย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของบริการดิจิทัล ทำให้กลุ่มสามารถ วางแผนที่จะจัดตั้งบริษัทในรูปแบบของสตาร์ทอัป เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และประสิทธิภาพในการขยายธุรกิจ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ภายในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

​‘จากทิศทางที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัว และการเปลี่ยนของของกลุ่มสามารถที่เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน’ วัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น