xs
xsm
sm
md
lg

อีเวนต์ฝ่าวิกฤตหวังฟื้น 4 พันล้าน อินเด็กซ์จัดหนัก 2 เท่ารับปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ทวงคืนงานอีเวนต์จากมาตรการของ ศบค. เรียกร้องปรับใหม่ให้สอดคล้องสถานการณ์จริง หวังตลาดอีเวนต์ฟื้นสู่ 30% จากที่เคยพีกสุด 15,000 ล้านบาท “อินเด็กซ์” จัดเต็มรับปี 65 ลุยอีเวนต์ร่วม 20 งานด้วยแพลตฟอร์ม Experience and Content Platform ต่อยอดจากกระแส FOMO FOTO ลุ้นรายได้กลับมาแตะ 1,000 ล้านบาท จากปี64 ปิดรายได้ที่ 580 ล้านบาท

นายเกรียงไกร กาญจนโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการตลาดครีเอทีฟ อีเวนต์เชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงวัคซีนหรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาเกิน 70% แล้วและกำลังก้าวถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 กันแล้ว แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ยังคงดำเนินการทุกอย่างเหมือนวันแรกที่ไทยเจอโควิด-19

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการเฝ้าระวัง การรายงานสถานการณ์โควิดแบบรายวัน รวมถึงมาตรการโซเชียลดิสแทนซิ่ง เว้นระยะห่างของการจัดงานอีเวนต์ที่จำกัดไม่เกิน 500 คนต่อ 1 งาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงอยากให้มีการปรับมาตรการต่างๆ ใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ และทำให้ธุรกิจอีเวนต์ฟื้นกลับมา


ในส่วนของตลาดอีเวนต์รวม เชื่อว่าปี 2565 นี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัว หรือดีที่สุดมูลค่าตลาดอีเวนต์จะทำได้ถึง 3,000-4,000 ล้านบาท คิดเป็น 25-30% จากที่เคยสูงสุด 15,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าเหลือเพียง 1,500-2,000 ล้านบาทเท่านั้น

โดยรูปแบบอีเวนต์ในปีนี้จะเป็นในรูปแบบเวอร์ชวลอีเวนต์ หรือเป็นอีเวนต์ขนาดเล็กๆ เป็นหลัก เพราะแบรนด์ยังไม่กล้าจัดงาน กลัวเกิดดรามาหากกลายเป็นคลัสเตอร์ไม่รับผิดชอบต่อสังคม จะมีผลกระทบในทางลบต่อภาพลักษณ์แบรนด์ได้

อย่างไรก็ตาม พิษโควิด-19 ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจอีเวนต์มาร์เกตติ้งอย่างหนัก มีการจำกัดการเข้าร่วมอีเวนต์มากขึ้น ทำให้จำนวนของอีเวนต์ลดลง ขนาดของอีเวนต์ก็ถูกจำกัดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และลูกค้าก็ลดงบประมาณในการจัดงานด้วย เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ลดลง ในส่วนของปีก่อน อินเด็กซ์จะเน้นสร้างสรรค์ Own Creation ในรูปแบบของ นอนอีเวนต์ อย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 6 งาน เช่น เทศกาลประดับไฟฤดูหนาว ณ สิงห์ ปาร์ค เชียงราย, House of Illumination ณ เซ็นทรัลแกลเลอรี เซ็นทรัลเวิลด์ และ Forest of Illumination at Kirimaya เป็นต้น รวมมีผู้สนใจเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ส่งผลให้ปี 2564 อินเด็กซ์มีรายได้รวมที่ 580 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 33% ที่ปิดรายได้ไป 460 ล้านบาท ส่งผลให้ 3 ธุรกิจหลัก คือ 1. กลุ่มครีเอทีฟ บิสิเนส ดีเวลลอปเมนต์ เพิ่มขึ้น 158% 2. กลุ่มมาร์เกตติ้ง เซอร์วิส ลดลง 26% และ 3. กลุ่มโอน โปรเจกต์ เพิ่มขึ้น 54%


นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ที่จับกระแสเทรนด์อีเวนต์ยุค FOMO-FOTO ที่มาจากพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่เวลาไปไหนแล้วต้องถ่ายรูปและต้องอยู่ในกระแสตลอดเวลา ส่งผลให้ในปี 2565 นี้อินเด็กซ์จะเดินหน้าลุยแพลตฟอร์ม Experience and Content Platform ต่อยอดจากปีก่อน ด้วยการสร้างสรรค์ 20 อีเวนต์ตลอดทั้งปีให้อยู่ในกระแส ตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว พร้อมกลับมามีรายได้โตเป็นเท่าตัว กับรายได้ที่วางไว้ 920 ล้านบาทในปี 2565 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วน 3 ธุรกิจหลักเปลี่ยนแปลงไป โดย 1. กลุ่มโอน โปรเจกต์ เพิ่มเป็น 30% โตขึ้นจากปี 64 อีก 78% 2. กลุ่มครีเอทีฟ บิสิเนส ดีเวลลอปเมนต์ 30% และ 3. กลุ่มมาร์เกตติ้ง เซอร์วิส ลดลงเหลือ 40%

สำหรับอีเวนต์ที่จะจัดขึ้นในปี 2565 นี้ ยกตัวอย่างเช่น 1. Young Self made Millionaire Awards 2. Kingdom of Lights 3. งานวิ่งแข่ง V Runner 4. Double Festival at Singha Park รวมถึงงานแฟร์ในต่างประเทศ ได้แก่ Bangkok Beauty Show 2022 ไบเทค บางนา, Cambodia Architect & De’cor ร่วมกับงาน Cambodia Health and Beauty Expo และ Cambodia Food Plus Expo ที่ประเทศกัมพูชา เป็นต้น
















กำลังโหลดความคิดเห็น