ตาโตกันไปทั้งโลกเมื่อมีรายงานว่ากิจการกองทุนคริปโต (Crypto Venture) ของซีอีโอเฟซบุ๊ก "มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก" (Mark Zuckerberg) กำลังจะถูกขายทิ้งไปทั้งที่ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ตัวละครหลักของเรื่องนี้คือ Diem Association ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบบล็อคเชนที่นำเสนอโดยบริษัทเมต้า (Meta) ต้นสังกัดของเฟซบุ๊ก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Diem Association อาจกำลังเข้าสู่ภาวะละลายหายไป แม้ว่าจะยังไม่ได้มีโอกาสแจ้งเกิดสกุลเงินดิจิทัลและเครือข่ายใดๆก็ตาม
บทสรุป 3 เหตุผลหลักที่อธิบายได้ว่า ทำไมกองทุนปั้นคริปโตฯของ Zuckerberg ถึงถูกขายทิ้งก่อนเปิดตัว คือ 1. ภาวะที่เต็มไปด้วยการโต้เถียงตั้งแต่เริ่มต้น 2. รัฐบาลและพันธมิตรต่างพากันคว่ำบาตรโครงการนี้ และ 3. ภาวะราคาค่าเงินคริปโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
เถียงกันตั้งแต่เริ่ม รัฐบาล-พันธมิตรพร้อมใจคว่ำบาตร
ต้นตอของเรื่องนี้ต้องนับย้อนไปตั้งแต่เปิดตัวในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่การลงทุนด้านคริปโตของซัคเกอร์เบิร์กนั้นพบเจอแต่ขวากหนาม ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยข้อกังวลด้านกฎระเบียบ นอกจากนี้ คริปโตและแนวคิดที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น NFT ในขณะนั้นยังไม่แพร่หลายเหมือนในทุกวันนี้ ซึ่งทำให้โครงการของซัคเกอร์เบิร์กต้องล้มลุกคลุกคลานยืนไม่ตรงสักที
ในตอนแรก สกุลเงินนี้ถูกเรียกว่าลิบร้า (Libra) ซึ่งรายงานของซีเอ็นบีซี (CNBC) ชี้ว่าเป็นการเปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิมคือสเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) แผนแรกที่วางไว้คือการเริ่มสร้างสกุลเงินสากล เนื่องจากแนวคิดของเหรียญ stablecoin คือการมีมูลค่าที่เชื่อมโยงกับสินทรัพย์ในโลกแห่งความเป็นจริง เหมือนสกุลเงิน fiat ซึ่งเป็นตระกูลเงินดิจิทัลที่ไม่ขึ้นลงหวือหวานัก
ท่ามกลางความทะเยอทะยานของโครงการ กระแสความกังวลมากมายไหลหลั่งมาจากฝ่ายนายธนาคารกลางและนักการเมือง ซึ่งอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการฟอกเงินและการละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะหากโครงการนี้เป็นไปตามแผนที่ Zuckerberg วางไว้ สกุลเงินหลักของโลกเช่นดอลลาร์สหรัฐฯอาจได้รับผลกระทบ
สถานการณ์นี้ทำให้ไม่น่าแปลกใจหากโครงการจะไม่สามารถเริ่มต้นได้จริง แม้ว่าแนวคิดจะถูกจำกัดให้แคบลงเหลือเพียงเหรียญ stablecoin ที่หนุนด้วยดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Diem USD
ตามรายงานของ Bloomberg เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า Diem Association กำลังพิจารณาขายสินทรัพย์และ "ทรัพย์สินทางปัญญา" ต่างๆ เพื่อคืนทุนให้กับนักลงทุน รวมทั้งหา "บ้านใหม่" สำหรับวิศวกรในโครงการ
Statement from Diem Networks US Regarding Congressional Interest in Project — https://t.co/GEIaRZwzr3 pic.twitter.com/Q1tRTzYHXf— Diem Association (@DiemAssociation) October 20, 2021
รายงานระบุด้วยว่าการเจรจาซื้อขายยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าบริษัทจะสามารถหาผู้ซื้อได้หรือไม่ หรือโครงการจะมีมูลค่าอย่างไรเมื่อมีการขาย
ปัจจุบัน Meta บริษัทโซเชียลมีเดียเป็นเจ้าของกิจการราวหนึ่งในสามของการลงทุน โดยส่วนที่เหลือเป็นของสมาชิก Diem Association
ด้านสำนักข่าวเอ็นแกดเจ็ด (Engadget) รายงานความเห็นจากตัวแทนจาก Diem Association ซึ่งชี้ว่าบทความของ Bloomberg มีข้อผิดพลาด ซึ่งข้อเท็จจริงก็ยังไม่ชัด เพราะไม่มีการชี้แจงใดๆเพิ่มเติม
ค่าเงินคริปโตตกต่อเนื่อง
อีกเหตุผลสำคัญที่อาจมีผลทำให้ Diem Association ถูกยุบไปคือภาวะค่าเงินคริปโตฯที่ร่วงหนักตลอดหลายสัปดาห์ ผลจากตลาดเงินที่ผันผวนทั่วโลก โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ธนาคารกลางต่างๆ บังคับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าเดิม รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯซึ่งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ทั้งหมดนี้มีผลร่วมกับการแสดงท่าทีของหลายรัฐบาลที่ต้านเงินคริปโตฯ ทำให้ค่าเงินดิจิทัลร่วงระนาวโดย 1 btc มีมูลค่า 1,239,443 บาทในขณะนี้ (31 มกราคม 2565)
ที่สุดแล้ว ภาวะที่เต็มไปด้วยการโต้เถียงตั้งแต่เริ่มต้น ประกอบกับรัฐบาลและพันธมิตรที่พากันคว่ำบาตรโครงการนี้ รวมถึงเหตุค่าเงินคริปโตฯที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นบทสรุป 3 เหตุผลหลักที่จะตอบคำถามได้ว่าทำไมกองทุนปั้นคริปโตของ Zuckerberg ถึงถูกขายทิ้งก่อนเปิดตัว.