xs
xsm
sm
md
lg

"เบ็นคิว" ดิ้นสู้ตลาดโปรเจกเตอร์ไทยหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัชรพงษ์ วงษ์มา
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจผันผวนปี 2021 ตลาดโปรเจกเตอร์ไทยนั้นถดถอยไม่เติบโตเลยในแง่จำนวนเครื่อง ภาวะนี้ไม่ได้ทำร้ายบริษัทผู้จำหน่ายโปรเจกเตอร์ในตลาดการศึกษามานานกว่า 20 ปีอย่างเบ็นคิวประเทศไทย (BenQ) ที่สามารถดันให้มูลค่ายอดขายธุรกิจโปรเจกเตอร์ให้เติบโตได้อีก 34% เนื่องจากสัดส่วนการขาย "สมาร์ทโปรเจกเตอร์" (Smart Projector) ได้เพิ่มขึ้น ทำสถิติเกิน 800 ตัวในช่วงปีที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้ เบ็นคิวประเมินตลาดว่าเม็ดเงินหลักของตลาดโปรเจกเตอร์การศึกษาจะอยู่ที่โรงเรียนรัฐ จึงวางแผนผลักดันการเติบโตอย่างเต็มตัวหลังจากที่บุกตลาดโรงเรียนเอกชนมาก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน จะหนุนธุรกิจโปรเจกเตอร์สำหรับโซลูชันห้องประชุมในตลาดองค์กร โดยจะให้ความสนใจกับการขายโปรเจกเตอร์เมนสตรีมแบบดั้งเดิมน้อยลง และจะรุกหนักที่ Smart Projector มากขึ้น รวมถึงมีแผนผูกเกมลงในโปรเจกเตอร์แต่ละรุ่น เพื่อทำตลาด “ปาร์ตี้โปรเจกเตอร์” ด้วย

โปรเจกเตอร์เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้เบ็นคิวสามารถทำรายได้ 290 ล้านบาทในปี 2021 เพิ่มขึ้น 56% มากกว่าปี 2020 โดยธุรกิจกลุ่มโปรเจกเตอร์โกยยอดขาย 77 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 34%) ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์จอกระดานอัจฉริยะ หรือ Interactive Flat Panel (IFP) มีรายได้เพิ่มจาก 21.4 ล้านบาท เป็น 28 ล้านบาท และอีกกลุ่มคือสินค้าจอมอนิเตอร์ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์หลักอย่าง ZOWIE และ BenQ รวมเป็น 120 ล้านบาทในปี 2021 ทั้งหมดเป็นผลจากสิ่งที่เบ็นคิวประเทศไทยระบุว่าได้ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและกลุ่มผู้บริโภค ทำให้บริษัทยึดหลักการเติบโตแบบผสมผสาน ซึ่งรับกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้ดี

***ปาร์ตี้โปรเจกเตอร์ดัน B2C หายหงอย 

นายวัชรพงษ์ วงษ์มา รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ประเมินภาพรวมตลาดโปรเจกเตอร์ไทยปี 2022 ว่า smart projector จะเป็นตัวชูโรงทั้งในตลาดบีทูบี (B2B) ที่จำหน่ายแก่ลูกค้าองค์กร และบีทูซี (B2C) ที่จำหน่ายแก่ลูกค้าผู้บริโภค แต่ตลาด B2B ยังเป็นพื้นที่หลักในขณะที่ B2C จะมีขนาดเล็กกว่า โดยตลาด B2B จะคึกคักในกลุ่มโรงเรียนรัฐ ขณะที่ B2C จะเน้นการเพิ่มความสามารถด้านการรองรับกิจกรรมกีฬา เกม และความบันเทิงได้ในรูปปาร์ตี้โปรเจกเตอร์ที่สร้างความสนุกมากขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งให้ตลาด smart projector ยังเติบโตได้อีก

“โปรเจกเตอร์สำหรับผู้บริโภคมักถูกวางตัวให้ทดแทนสินค้ากลุ่มทีวียักษ์ 100 นิ้วราคาสูงระดับล้านบาท ซึ่งโปรเจกเตอร์จะทำให้ผู้บริโภคสามารถลดทุนเหลือระดับ 1 แสนบาทได้ ปีนี้เราจะได้เห็นโปรเจกเตอร์ 4k มีราคาเริ่มต้น 29,000 บาท และเบ็นคิวจะผูกเกมลงในโปรเจกเตอร์แต่ละรุ่น เป็นปาร์ตี้โปรเจกเตอร์เพื่อการเล่นเกมที่มีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เครื่องเล็กน้ำหนักไม่ถึง 2 กิโลกรัม โดยเน้นความบันเทิงที่ครอบคลุม”

ปีนี้เราจะได้เห็นโปรเจกเตอร์ 4k มีราคาเริ่มต้น 29,000 บาท
เบ็นคิวย้ำว่า ได้ปรับกลยุทธ์รองรับตลาดเอนเทอร์เทนเมนต์โดยไม่เน้นแค่ยอดจำหน่ายของกลุ่มโปรเจกเตอร์ 4K เพียงอย่างเดียว แต่มองถึงองค์รวมเพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้งานที่ชอบอยู่บ้านและใช้ชีวิตกับครอบครัว โปรเจกเตอร์เพื่อการเล่นเกมนี้จะสามารถสร้างเฟรมเรต (Frame rate) ได้สูง และกลุ่มโปรเจกเตอร์สเตชัน (PS5) เพื่อสร้างความสนุกได้มากยิ่งขึ้น รองรับปาร์ตี้เกมที่จะตอบโจทย์กลุ่มคอเกม ที่เป็นตลาดซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง

ในส่วนตลาดโปรเจกเตอร์ B2B ภาพรวมธุรกิจโปรเจกเตอร์ของเบ็นคิวประเทศไทยปี 2021 เติบโต 34.79% เมื่อเทียบกับปี 2020 ในเชิงของรายได้ เพราะจำนวนเครื่องที่ถูกปล่อยออกสู่ตลาดนั้นเท่าเดิม โดยการเติบโตของรายได้มาจากยอดขาย smart projector ซึ่งเป็นผลจากการมุ่งรณรงค์เรื่องห้องเรียนไฮบริด (Hybrid Learning Room) ที่ทำให้ครูสอนในห้องเรียนพร้อมกับสอนออนไลน์ได้ smart projector เหล่านี้สามารถเจาะกลุ่มตลาดโรงเรียนที่มีงบประมาณจำกัด แต่ต้องการฟังก์ชันการใช้งานที่มากกว่าโปรเจกเตอร์ธรรมดาดั้งเดิม

“ฟังก์ชันใน smart projector ของเบ็นคิวที่สามารถเข้าสู่ระบบคลาวด์ (Cloud) แล้วดึงข้อมูลออกจากบริการเก็บไฟล์อย่างดร็อปบ็อกซ์ (Drop Box) หรือแชร์ไดรฟ์ (Share Drive) เพื่อใช้ในการเรียนการสอนหรือการประชุมได้โดยที่ไม่ต้องเสียบสายเพื่อเปิดไฟล์พรีเซนเทชันจากโน้ตบุ๊กแบบโปรเจกเตอร์ปกติทั่วไป ทำให้ smart projector ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้งานจนมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดจำหน่ายปี 2021 มากกว่า 800 เครื่อง ถือว่าเติบโตขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2020”

ตลาดอินเทอร์แอ็กทีฟโปรเจคเตอร์ กำลังจะหายไป
เบ็นคิวเผยว่า ช่วงมีนาคมปีนี้ บริษัทจะประกาศความร่วมมือกับบริษัทเอเซอร์ (Acer) เพื่อร่วมกันจำหน่ายอุปกรณ์แสดงผลสำหรับห้องประชุม โดยทั้งคู่จะร่วมกันพัฒนาเป็นโซลูชันสำหรับการเรียนการสอนของโรงเรียนด้วย เป็นการขาย IFP ของเบ็นคิวคู่กับเซิร์ฟเวอร์และโครมบุ๊ก (chromebook) จาก Acer

ทั้งหมดนี้ เบ็นคิววางแผนว่าปีหน้าบริษัทจะออกอุปกรณ์เสริม หรือ accessories เพิ่มเติม เช่น กล้องสำหรับประชุมทางวิดีโอ และซาวนด์บาร์ที่มีใบรับรองจากซูม (Zoom) เป็นตัวการันตีคุณภาพสัญญาณภาพและเสียงในอัลกอริธึมเดียวกับที่ซูมรับรอง ขณะเดียวกัน จะออก smart projector รุ่นใหม่ในตระกูล smart meeting room ที่มีอยู่แล้ว การสร้างตลาดองค์กรจะผลักดันให้เบ็นคิวมีส่วนแบ่งตลาดโปรเจกเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 30%

เบ็นคิวยังแสดงความเชื่อมั่นในตลาดการศึกษาไทยเต็มที่ โดยชี้ว่าไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักของเอเชียแปซิฟิกเพราะแม้เงินเดือนครูไทยจะน้อยกว่าครูในประเทศมาเลเซีย แต่เบ็นคิวพบการลงทุนในตลาดการศึกษาไทยที่มีมูลมากกว่า ผลจากแรงสนับสนุนจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ตลาด IFP ไทยเติบโตขึ้นอีก

***IFP เป็นเทรนด์

เบ็นคิวมองว่าจุดเด่นการเติบโตของธุรกิจปีนี้อยู่ที่ผลิตภัณฑ์จอกระดานอัจฉริยะ IFP กลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ช่วยเสริมรายได้ให้เบ็นคิว ประเทศไทย เติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะภาพรวมตลาดธุรกิจจอกระดานอัจฉริยะนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากสถิติช่วงเปิดตัวทำตลาดในปี 2017 มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 2.7% ขณะที่ปริมาณมวลรวมของตลาดในเวลานั้นอยู่ที่ 1,259 เครื่อง แต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 เบ็นคิว ประเทศไทย กลับได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดที่ 26.76% ในขณะที่ตลาดมวลรวมปิดตัวมากกว่า 3,200 เครื่อง

สำหรับในปี 2022 บริษัทจะเดินหน้าทำการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์จอกระดานอัจฉริยะแบบเต็มกำลังต่อไป ด้วยความเชื่อว่าเทคโนโลยี IFP จะเข้ามาทดแทนกระดาน Interactive Projector หรือกระดาน White Board ในชั้นเรียนได้ในอนาคต รวมทั้งคุณครูยุคใหม่จะสามารถผลิตสื่อการเรียนการสอน หรือนำโปรแกรมสำเร็จ เช่น KAHOOT, SNOWFLAKE และโปรแกรมอื่นๆ ที่เป็นซอฟแวร์มาเปิดเล่นได้ทั้งบน Platform Window, Android, Chrome มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่เด็กนักเรียนได้ด้วยเช่นเดียวกัน

จุดเด่นการเติบโตของธุรกิจ BenQ ปีนี้อยู่ที่ผลิตภัณฑ์จอกระดานอัจฉริยะ IFP
ปัจจัยบวกที่ทำให้ IFP เป็นเทรนด์แรงในตลาดคือ ซอฟต์แวร์ที่เป็นแนวโน้มของการเรียนการสอนยุคใหม่ รวมถึงการตอบโจทย์เรื่องการเคลือบสารป้องกันแบคทีเรียทั้งในจอและปากกา นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งเบ็นคิวจะมีการออกรุ่นใหม่ในช่วงมีนาคมนี้ บนจุดเด่นเรื่องรองรับการลากนิ้ว 40 นิ้วพร้อมกัน ซึ่งเป็นเจ้าเดียวที่ทำได้

ความเชื่อมั่นของเบ็นคิวยังอยู่ที่การใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับ IFP เช่นซอฟต์แวร์ DNS ที่สามารถตอบโจทย์โรงเรียนขนาดใหญ่หลายวิทยาเขตในเครือ เพราะพนักงานไอทีจะสามารถแก้ปัญหา เปิดปิดซอฟต์แวร์และเครื่อง รวมถึงควบคุมแสงได้จากระยะไกลข้ามวิทยาเขตได้ ยังมีซอฟต์แวร์ AMS สำหรับครูที่ไม่ต้องยกคอมพิวเตอร์มาเชื่อมต่อ แต่สามารถดึงข้อมูลจากเช้ามาสอนได้ง่ายจากระบบคลาวด์ ยังมีซอฟต์แวร์ EZ สำหรับการเก็บไฟล์ภาพและเสียงการสอนไว้เพื่อให้นักเรียนชมย้อนหลัง

เบ็นคิววางแผนจะทำตลาด IFP ที่ภาคการศึกษา 80% และองค์กรอีก 20% โดยกลุ่มองค์กรจะให้ความสำคัญกับทั้งองค์กรภาครัฐ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจประกัน โรงแรม และโรงงาน

***ธุรกิจจอมอนิเตอร์เกมอาจชะลอตัว

เบ็นคิว มองว่า ภาพรวมธุรกิจหน้าจอ ZOWIE ในตลาดไทยช่วงปี 2021 ที่ผ่านมามีความท้าทายไม่น้อยในตลาดจอเกมมิ่ง ชนิดเฟรมเรต 240Hz เนื่องจากมีหลายปัจจัยกดดันทั้งราคาต้นทุนการซื้อเครื่องประกอบต่อชุดที่เพิ่มสูงขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาจำหน่ายปลีกของผลิตภัณฑ์ประเภท GPU ที่มีราคาที่สูงขึ้น ตลอดจนสงครามราคาจอมินิเตอร์ประเภท 240Hz ที่แข่งกันทำโปรโมชันเพื่อระบายสินค้าออกในช่วงวิกฤต ซึ่งสวนทางกับต้นทุนในการนำเข้าที่ค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหา Global Supply Chain

“ต้องยอมรับว่าในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ ZOWIE ไม่ได้มองถึงการเป็นเจ้าตลาดในกลุ่ม 144Hz หรือ 240Hz แต่กลับมองที่ตัวแบรนด์เองว่าปีนี้ต้องเติบโตกว่าปีก่อนๆ และต้องเป็นการโตขึ้นอย่างมั่นคง นั่นหมายถึงผลิตภัณฑ์แบรนด์ ZOWIE ต้องมี Social Response ที่ดีจากสังคมและลูกค้าหรือฐานแฟนๆ และต้องมอบประสบการณ์ที่ดีจากการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกวิธีและเข้าใจในทุกๆ ฟีเจอร์ (Features) รวมถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ให้มากขึ้นและนำไปสู่การบอกต่อแบบปากต่อปาก”

สินค้าจอมอนิเตอร์ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์หลักอย่าง ZOWIE และ BenQ ทำรายได้ในไทยรวม 120 ล้านบาทในปี 2021
เป็นคิวจึงมองว่าปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ยากลำบากของบริษัท สำหรับปีนี้ความท้าทายจึงเป็นเรื่องการตลาดเพื่อให้เสียงตอบรับของลูกค้าบนโซเชียลออกมาดี ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่ครบทั้งสินค้า และบริการที่จะนำไปสู่การบอกต่อ ภาพรวมของแบรนด์ ZOWIE นั้นมียอดจำหน่ายที่เป็นตัวเครื่องและมูลค่ายอดจำหน่ายที่สูงขึ้น โดยส่วนแบ่งการตลาดของจอ 144Hz ในปี 2021 มียอดจำหน่าย 10,481 เครื่อง ถือว่าโตกว่าปี 2020 มากกว่าเท่าตัว ขณะที่ภาพรวมของตลาดจอ 240Hz ได้มีการจำหน่ายออกไปไม่ต่ำกว่า 2,272 เครื่องทั่วประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2020 มีการเติบโตที่ 28.94% และสำหรับในปี 2022 ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างและขยายฐานธุรกิจจอมอนิเตอร์ให้โตขึ้นแบบมีคุณภาพและยั่งยืน

ที่สุดแล้ว เบ็นคิวย้ำว่าปีนี้บริษัทวางแผนการลงทุนด้านการตลาดราว 2% ของยอดขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่ตลาดโปรเจกเตอร์ไทยหดตัว เป็นคิวยืนยันว่ายังไม่มีแผนเปิดตัวสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องฟอกอากาศ หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับใช้งานเทคโนโลยีเสมือน เนื่องจากบริษัทเน้นธุรกิจอุปกรณ์สำหรับมืออาชีพ อุปกรณ์สำหรับการศึกษา และเป็นอุปกรณ์สำหรับการแข่งขัน ซึ่งทุกอย่างถือเป็นอุปกรณ์ที่ต้องการมาตรฐานแน่ชัด


กำลังโหลดความคิดเห็น