เบ็นคิว ประเทศไทย มั่นใจตลาดจอกระดานอัจฉริยะ หรือ Interactive Flat Panel (IFP) โตต่อเนื่อง วางแผนบุกตลาดโรงเรียนรัฐจริงจังหลังจากโครงการซื้อของโรงเรียนนานาชาติชะลอตัวลงเพราะโควิด-19 ชูจุดเด่น 2 โซลูชัน ClassroomCare และ Blended Learning เพื่อการเรียนรู้แบบ Smart Education ที่ให้นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนไปพร้อมกัน ตั้งเป้าโกยส่วนแบ่งตลาด "จอกระดานอัจฉริยะ" เกิน 50% ใน 3 ปีก่อนที่แบรนด์จีนและอินเดียจะเข้ามาถล่มตลาด
นายวัชรพงษ์ วงษ์มา รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ เบ็นคิว ประเทศไทย (BenQ) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดธุรกิจจอกระดานอัจฉริยะของเบ็นคิวนั้นมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากช่วงเปิดตัวเมื่อปี 2017 เบ็นคิวมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 2.7% ในขณะที่ตลาดมียอดจำหน่าย 1,259 เครื่อง และในไตรมาตรที่ 3 ของปี 2021 เบ็นคิว ได้ทุบสถิติด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดที่ 26.76% และในตลาดมียอดจำหน่ายมากกว่า 3,200 เครื่อง
"เราใช้กลยุทธ์สร้างความน่าสนใจให้แบรนด์ด้วยการเจาะกลุ่มโรงเรียนนานาชาติมากกว่า 35 โรง จากทั้งหมด 175 โรงทั่วประเทศ ในปี 2022 นี้ได้ตั้งเป้าไปที่โรงเรียนนานาชาติ 70 โรง จากทั้งหมด 175 โรงทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนที่ 40% ปีนี้เราวางแผนเจาะกลุ่มโรงเรียนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โรงเรียนที่อยู่ภายใต้การบริหารของ อบจ.หรือเทศบาล โรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนสารพัดช่าง และมหาวิทยาลัยต่างๆ ควบคู่กันไป ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนที่แน่ชัด แต่เชื่อว่า 3 ปีจากนี้ เบ็นคิวจะต้องมีมาร์เกตแชร์ในตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 50%"
เบ็นคิวระบุว่า จอกระดานอัจฉริยะ หรือ Interactive Flat Panel (IFP) นั้นเป็นอุปกรณ์หลักในการเรียนและการสอนที่เหมาะสำหรับการศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเบ็นคิวได้พัฒนาเทคโนโลยี EZWrite Cloud Whiteboard ที่มีประสิทธิภาพและเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนระหว่างคุณครูกับนักเรียน ที่ให้เขียนโต้ตอบกันได้ หรือสามารถแบ่งปันเนื้อหาต่อได้อย่างง่ายดายในรูปแบบของ QR-Code ตัวจอ IFP ยังมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ฝุ่น PM2.5 ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และ Eye-care เทคโนโลยีปรับค่าความสว่างอัจฉริยะของหน้าจอ อีกทั้งมาพร้อมกับปากกาไวท์บอร์ด ที่ป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ใช้งาน
หากสถานการณ์โควิด-19 ลดความรุนแรงลงในอนาคต เบ็นคิวเชื่อว่า IFP จะเป็นทางออกของโรงเรียนเพราะจะช่วยให้การเรียนรู้ในชั้นเรียนเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น คุณครูสามารถนำเสนอสื่อการเรียนได้อย่างไร้ขีดจำกัดไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นมาเอง หรือซอฟต์แวร์ แบบสำเร็จรูปที่สามารถนำมาใช้สอนหนังสือ แทนการนำเสนอแบบ PowerPoint บนเครื่องฉายภาพโปรเจกเตอร์ ขณะเดียวกัน หากนักเรียนจำเป็นต้องกลับเข้าไปเรียนที่บ้านอีกครั้งด้วยโรคระบาด โรงเรียนสามารถให้คุณครูมาสอนที่ห้องเรียนตามปกติและให้นักเรียนเรียน Online ที่บ้านแบบ 100% เพราะบนตัวเครื่องมี Cloud Whiteboard ที่ให้ขีดเขียนโต้ตอบได้จากที่บ้านและโรงเรียนพร้อมๆ กัน
จอ IFP ยังสามารถบันทึกวิดีโอระหว่างการสอนแล้วเก็บไว้บนคลาวด์ เพื่อให้เด็กนักเรียนกลับมาทบทวนได้อีกครั้งในรูปแบบของภาพและเสียง หรือใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนสลับกันเข้ามาเรียนได้ หรือแบบ Blended Learning Solution 50:50 โดยนักเรียนที่นั่งเรียนในห้องสามารถเขียนตอบบนหน้าจอกระดาษอัจฉริยะและเพื่อนๆ ที่นั่งเรียนที่บ้านสามารถเขียนโต้ตอบได้ด้วยเช่นเดียวกัน
จากการสาธิต จอ IFP ของเบ็นคิวสามารถเปิดโปรแกรมในการสอนแบบคู่หรือที่เรียกกันว่า Dual Windows ด้านหนึ่งของจอเปิด Cloud Whiteboard เพื่อวาดเขียน ส่วนอีกด้านหนึ่งของจอเป็น Web browser หรือ YouTube ได้เช่นกัน และด้วยซอฟต์แวร์ที่เป็นเอกลักษณ์สามารถรองรับการแชร์ Presentation รูปภาพ หรือไฟล์ต่างๆ ได้ทั้ง iOS, Android, I-Pad, Chromebook, Notebook, Tablet, Smartphone, ระบบปฏิบัติการ Windows และทุกๆ Platform ได้เช่นเดียวกัน หรือใช้ระบบ NFC Card โดยการอัปโหลดไฟล์งานไว้บน Cloud แล้วผูกบัญชีกับแผ่น NFC Card ก็สามารถดึงข้อมูลออกมานำเสนอได้ทันที เบ็นคิว มองว่าการใช้อุปกรณ์ IT ที่ไม่มีความสลับซับซ้อนมากมาย ใช้งานง่ายและมีความคงทน สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกอุปกรณ์ เป็นสื่อในการสอนเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้นักเรียนในชั้นเรียนได้เช่นเดียวกัน และเชื่อว่าการใช้สื่อหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้จะกลายเป็นห้องเรียนที่นักเรียนจะเรียนอย่างอารมณ์ดี
***จับตาตลาด IFP บูมแรง
สาเหตุที่ผู้บริหารเบ็นคิววางเป้าหมายว่า 3 ปีจากนี้ บริษัทจะต้องมีส่วนแบ่งตลาดรวม IFP ในไทยไม่ต่ำกว่า 50% เพราะหากทำได้น้อยกว่านี้ เชื่อว่าจะเติบโตได้ลำบากเพราะการแข่งขันที่จะดุเดือดยิ่งขึ้น โดยระบุว่าจากปี 2016 บริษัทมีคู่แข่งราว 7-8 เจ้า จนขณะนี้มีมากกว่า 20 แบรนด์ ซึ่งล่าสุดปี 2021 บริษัทเห็นคู่แข่งในตลาดมากกว่า 25 แบรนด์ ดังนั้น เบ็นคิวจึงมองว่าจะต้องเติบโตให้รวดเร็วที่สุด เพราะอนาคตจะยิ่งเติบโตได้ยาก บนตัวแปรของตลาดที่จะหลากหลายมากขึ้น
ผู้บริหารเบ็นคิวยังมองความท้าทายของตลาดในช่วงหลังโควิด-19 ว่าอยู่ที่การเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถทำราคาสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนรัฐได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากในช่วงก่อนปี 2020 ตลาดโรงเรียนเอกชนที่เคยโดดเด่นกลับอยู่ในภาวะหยุดชะงัก ทำให้เป็นคิวต้องเปลี่ยนนโยบายไปเน้นทำตลาดโรงเรียนรัฐแทน
ปัจจุบันสินค้าสกุล IFP ของเบ็นคิวมีช่วงราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 99,000-599,000 บาท โดยราคาเริ่มต้นถือว่าลดลงจากช่วงปี 2016 ที่เคยเปิดราคารุ่นเริ่มต้นไว้ที่ 169,000 บาท จุดนี้เป็นคิวยืนยันว่าบริษัทไม่มีนโยบายลดราคาสินค้าตกรุ่นเกิน 15% แต่จะใช้วิธีออกรุ่นใหม่ที่มีฟังก์ชันเล็กกว่าเพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาที่ต่ำลงได้
กลยุทธ์นี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับตลาดในอนาคตที่ผู้บริหารมองว่าจะมีภาวะสงครามราคาจากผู้ผลิตในประเทศจีนและอีกหลายประเทศ โดยในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัว IFP รุ่นใหม่ ที่สามารถลดเวลาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนจอจาก 10 ชั่วโมงเหลือ 4 ชั่วโมง
ในมุมช่องทางจำหน่าย เบ็นคิวระบุว่า สินค้ากลุ่ม IFP จะยังจำหน่ายผ่านการนำเสนอโดยทีมเซลล์ของบริษัท โดยยังไม่มีแผนเพิ่มเติมส่วนช่องทางจำหน่ายบนออนไลน์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องการการสาธิตและการอธิบายเพิ่มเติม คาดว่าจะต้องใช้เวลาราว 2 ปีจึงจะสามารถขยายไปยังช่องทางออนไลน์ได้ โดยอาจจะวางจำหน่ายเป็นชุดสำเร็จรูปและเน้นที่อุปกรณ์เพื่อการประชุมมากกว่า