ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่หลังจากไมโครซอฟท์ทีมส์ (Microsoft Teams) สามารถดันยอดผู้ใช้รายเดือน "กลุ่มพนักงานด่านหน้า" หรือ Frontline Workers เพิ่มกระฉูด 400% วางเกมอัดฉีด Microsoft Teams และ Microsoft Viva รับข้อมูลล่าสุดที่ชี้ว่าพนักงานด่านหน้าในภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน พบหลายเทรนด์ที่ธุรกิจจำเป็นต้องรับมือ เพื่อผลักดันการเติบโตของพนักงาน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเชิงเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาด
เอ็มม่า วิลเลียมส์ รองประธานกรรมการ ไมโครซอฟท์ กล่าวระหว่างการเปิดตัวรายงานพิเศษ Work Trend Index หัวข้อ “เทคโนโลยีสามารถปลดล็อกอนาคตใหม่ให้กับพนักงานด่านหน้า” (Technology Can Help Unlock a New Future for Frontline Workers) และการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่บริการ Microsoft Teams และ Microsoft Viva ว่าสถานการณ์โรคระบาดได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของพนักงานทุกคน โดยส่งผลกระทบในระดับที่รวดเร็วกว่าที่ทุกคนเคยเห็นในอดีต ดังนั้น การสนับสนุนพนักงานด่านหน้ายังคงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล
"ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรของเรา เราได้เตรียมความพร้อมให้พนักงานด่านหน้าด้วยเครื่องมือและบริการที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกับทีมงานและผู้บริหารได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น และยังมุ่งให้บริการลูกค้าหรือทำงานของตัวเองต่อไปได้อย่างดีในเวลาเดียวกัน เราเชื่อว่าเมื่อนำเทคโนโลยีไปใช้งานอย่างเหมาะสม จะสามารถปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้ทันสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรและการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้นด้วย"
รายงานของไมโครซอฟท์พบว่า พนักงานด่านหน้าจำนวนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนแรงงานทั่วโลกทั้งหมด โดยร้อยละ 88 ขององค์กรได้ว่าจ้างพนักงานในการให้บริการส่วนหน้า ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ กำลังเพิ่มการลงทุนในเครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น เพื่อช่วยพนักงานด่านหน้าในการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับปรุงวัฒนธรรมและการสื่อสารภายในสถานที่ทำงาน โดยไมโครซอฟท์พบว่า ยอดผู้ใช้งานรายเดือนของ Microsoft Teams ในกลุ่มพนักงานด่านหน้าได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 400% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นมา
รายงาน Work Trend Index ฉบับล่าสุด ยังพบว่าร้อยละ 76 ของพนักงานด่านหน้ารู้สึกผูกพันกับเพื่อนร่วมงาน แต่ละร้อยละ 60 กลับยังมองว่าบริษัทของพวกเขาควรให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและการสื่อสารให้มากขึ้น นอกจากนี้ ร้อยละ 51 ของพนักงานด่านหน้าที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งระดับผู้จัดการขึ้นไปยังรู้สึกว่าองค์กรมองไม่เห็นคุณค่าของพวกเขาในฐานะพนักงาน โดยในประเทศออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น มีพนักงานที่มีความคิดเห็นเช่นนี้ ร้อยละ 52, 23 และ 75 ตามลำดับ
ในภาพรวม พนักงานด่านหน้ามองว่าค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น รวมถึงความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต และความยืดหยุ่น ล้วนเป็นเหตุผลในการพิจารณาเปลี่ยนงาน นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพนักงานด่านหน้าในประเทศอินเดียอีกด้วย ขณะที่ร้อยละ 63 ของพนักงานด่านหน้ารู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสทางอาชีพการงานที่เกิดจากเทคโนโลยี และเทคโนโลยียังถูกจัดให้เป็นปัจจัยสำคัญอันดับ 3 ในการลดความตึงเครียดในสถานที่ทำงาน
ในขณะที่พนักงานด่านหน้าในประเทศออสเตรเลียใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดตารางงานของคนในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 33) เตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ในทีม (ร้อยละ 32) และตัดการเชื่อมต่อภายนอกสถานที่ทำงาน (ร้อยละ 30) ในประเทศอินเดีย พนักงานด่านหน้าใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือการทำงานด้านการใช้งาน VR/AR ของทีม (ร้อยละ 52) ติดตามและแจ้งข่าวสารกันแบบเรียลไทม์ (ร้อยละ 51) จัดตารางการทำงานของพนักงานภายในทีม (ร้อยละ 51) จัดการตารางงานอื่นๆ (ร้อยละ 51) และสื่อสารกับบุคคลภายนอก (ร้อยละ 51)
ในประเทศญี่ปุ่น พนักงานด่านหน้าพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือการทำงานซ้ำๆ ด้วยระบบอัตโนมัติ (ร้อยละ 23) เตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ในทีม (ร้อยละ 20) จัดตารางการทำงานของพนักงานในทีม (ร้อยละ 19) ลดการใช้งานแอปพลิเคชัน (ร้อยละ 19) และลดการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ (ร้อยละ 19)
การสำรวจพบว่าร้อยละ 46 ของพนักงานด่านหน้ารู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ไม่สูญเสียตำแหน่งงานของตัวเองไป ขณะที่ร้อยละ 55 กล่าวว่าพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะใช้งานเทคโนโลยีใหม่ไปในขณะทำงานจริง โดยไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือโอกาสในการทดลองใช้อย่างจริงจัง ในภูมิภาคเอเชียมีพนักงานด่านหน้าที่มีความคิดเห็นเช่นนี้ร้อยละ 51 ในประเทศออสเตรเลีย ร้อยละ 56 ในประเทศอินเดีย และร้อยละ 66 ในประเทศญี่ปุ่น
ฟีเจอร์ใหม่ไฉไลกว่าเดิม
นอกจากรายงาน ไมโครซอฟท์ยังเปิดตัวบริการใหม่ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม รวมถึงความสามารถต่างๆ เพื่อสนับสนุนพนักงานด่านหน้าโดยเฉพาะ ใน Teams และ Viva ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การทำงานของพนักงานที่ถูกเปิดตัวในช่วงต้นปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา
ไมโครซอฟท์ระบุว่า ได้สานต่อความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์อย่างแข็งแกร่งกับซีบร้า เทคโนโลจีส์ คอร์ป (Zebra Technologies Corp) ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันดิจิทัลแห่งนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เช่นคอมพิวเตอร์พกพาระบบแอนดรอยด์ที่มีความทนทานสำหรับการทำงานของพนักงานด่านหน้า โดยทั้ง 2 บริษัทได้ร่วมมือกันนำเสนอแอปพลิเคชัน Teams Walkie Talkie และคอมพิวเตอร์พกพาของซีบร้าที่มีให้บริการหลากหลายรุ่น รวมถึงปุ่มกดแบบ “กดเพื่อพูด” (push-to-talk หรือ PTT) ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยเฉพาะเพื่อเข้าถึงการใช้งาน Teams Walkie Talkie ผ่านอุปกรณ์ของซีบร้า นอกจากนี้ ปัจจุบัน ปุ่ม “กดเพื่อพูด” แบบดิจิทัลสำหรับ Teams Walkie Talkie ยังพร้อมให้ใช้งานแล้วในอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS เช่นเดียวกับแอนดรอยด์
"ไมโครซอฟท์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการผสาน Teams เข้ากับ Zebra Reflexis™ ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อโซลูชัน Reflexis Workforce Management เข้ากับแอปพลิเคชัน Shift ใน Teams การผสมผสานในครั้งนี้ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้การจัดตารางกะการทำงานและคำขอในการลาหยุดของพนักงานใน Teams โดยช่วยให้ผู้จัดการสามารถอนุมัติคำขอต่างๆ ได้ง่ายขึ้น" ไมโครซอฟท์ระบุ "การจัดตารางการต่อคิวเพื่อการนัดพบแบบออนไลน์พร้อมให้บริการแล้วใน Teams เพื่อให้ลูกค้าผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วยในสถานพยาบาลอุ่นใจไปกับประสบการณ์ที่โปร่งใสและไร้กังวล สามารถติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ทั้งระยะเวลาการรอ การนัดพบที่พลาดไป หรือความล่าช้าของพนักงาน"
สำหรับแอปพลิเคชัน Viva Connections ใน Microsoft Teams เป็นแอปที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อพนักงานด่านหน้าเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร ทรัพยากรและเครื่องมือ ข่าวสาร และกลุ่มทรัพยากรสำหรับพนักงานในขั้นตอนการทำงาน การผสานการทำงานร่วมกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เช่น Workday และ Espressive ช่วยให้พนักงานกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญขององค์กรได้ง่ายขึ้น และช่วยให้การดำเนินงานพื้นฐานอย่างการจัดการบัญชีเงินเดือนและบริการอื่นๆ ของแผนกทรัพยากรบุคคลถูกนำมารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน
แอปพลิเคชัน Viva Learning เปิดโอกาสให้พนักงานด่านหน้าสามารถค้นพบ แชร์ และติดตามเนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมผ่าน Microsoft Teams จึงช่วยให้พนักงานทั่วทั้งบริษัทสามารถติดตามอัปเดตเกี่ยวกับการฝึกอบรมที่แนะนำและจำเป็นได้อย่างดายยิ่งขึ้น โดยการอัปเดตครั้งใหม่ช่วยอำนวยความสะดวกในการกำหนดการเรียนรู้จากโซลูชันพันธมิตร เช่น SAP SuccessFactors, Cornerstone OnDemand และ Saba Cloud และความร่วมมือกับผู้พัฒนาเนื้อหาด้านการเรียนรู้อย่าง EdCast และ OpenSesame ได้เปิดโอกาสให้พนักงานด้านหน้าได้พัฒนาทักษะเพิ่มเติม และฝึกอบรมด้วยเนื้อหาการเรียนรู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการทำงานผ่านเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ
สำหรับการดำเนินงานด้านไอที มีการบริหารจัดการอุปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาและปกป้องไม่ให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูล ในกรณีที่มีอุปกรณ์ของพนักงานสูญหาย
นอกจากนี้ Microsoft Cloud for Retail จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เป็นต้นไป โดย Microsoft Cloud for Retail ช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจด้วยการมอบโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกที่เชื่อถือได้ ผสานกับการทำงานของระบบค้าปลีกที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เริ่มต้นจากการหลอมรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งในแต่ละขั้นตอนของเส้นทางการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้า ซึ่งช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถเพิ่มคุณค่าของข้อมูลได้ในระดับสูงสุด ส่งผลให้เกิดมุมมองต่อผู้บริโภคแบบองค์รวมเป็นหนึ่งเดียว เมื่อเชื่อมต่อกันแล้ว ข้อมูลและ AI จะช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกมีความเข้าใจและประเมินประสบการณ์การซื้อสินค้าของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น การมอบประสบการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องและคล่องตัวมากขึ้นตลอดทั้งโซ่คุณค่า (value chain) ของธุรกิจค้าปลีก จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ยั่งยืนได้อย่างตรงตามสถานการณ์จริง นอกจากนี้ โซลูชันดังกล่าวยังรวมถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ ใน Teams และ Viva ที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นนี้ ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการทำงานของพนักงานหน้าร้าน