ปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงปกนั้นเป็นคดีที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ปกติผู้เสียหายในคดีแพ่งที่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายนั้นจะต้องมีการเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ เป็นเอกสารกระดาษ เพื่อมายื่นโดยตรงที่ศาลแพ่ง ทำให้เสียเวลาเดินทางและมีข้อจำกัดเรื่องเวลาทำการ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหารวดเร็วขึ้น ศาลยุติธรรมจึงได้เร่งสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องผ่านเว็บไซต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ปลายเดือน ม.ค.นี้
“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การเปิดเว็บไซต์รับคดีแพ่งดังกล่าว เปิดรับเฉพาะเรื่องปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ตรงปก ไม่มีคุณภาพเท่านั้น เพราะเป็นคดีแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องร้องเองได้โดยตรง ไม่ต้องมีการจ้างทนาย หรือเดินทางมาที่ศาล สามารถยื่นฟ้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เพียงเข้าไปกรอกเอกสารยืนยันตัวตนในเว็บไซต์ ซึ่งศาลจะมีการตั้งองค์คณะผู้พิพากษา 5 คณะ เพื่อทำการรับเรื่องราว ทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้เสียหาย แม้วงเงินเสียหายจะไม่มากนัก คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ปลายเดือน ม.ค.นี้
ส่วนคดีฉ้อโกง หรือหลอกลวงทางออนไลน์ หรือแม้แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังต้องแจ้งเข้ามาเพื่อให้กระทรวงดีอีเอส และตำรวจดำเนินคดีเนื่องจากเป็นคดีอาญา ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอสไม่ได้วางใจ ประสานกับตำรวจไซเบอร์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีและติดตามผู้กระทำผิดแม้กระทั่งผู้เป็นบัญชีม้า หรือรับจ้างเปิดบัญชีต้องมีความผิดด้วย
ด้าน น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ศาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน เเละพยายามที่จะดูเเลผู้เสียหายในทุกมิติภายใต้สโลแกน ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย จึงตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายเข้าถึงการฟ้องคดีแพ่งได้ง่าย ซึ่งขณะนี้กำลังสร้างช่องทางการรับฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งเน้นไปที่คดีแพ่งเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงปก หรือได้รับสินค้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ซึ่งพบว่ามีเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมากในยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนการแจ้งความ การกระทำผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (โดนโกง โดนหลอก) ที่เป็นคดีอาญาผู้เสียหายต้องดำเนินการดังนี้
1.ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารส่วนตัว และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2.กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง ให้เตรียมหลักฐานที่พบว่ามีการกระทำความผิด เช่น ปรินต์เอกสารหน้าจอ หน้าเว็บไซต์หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจที่พบการกระทำความผิด
3.กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ ให้เตรียมหลักฐานที่พบการกระทำความผิด การหลอกลวง ปรินต์เอกสารออกมาจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย หลักฐานการโอนเงิน เป็นต้น
4.ให้ไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ หรือท่านสามารถร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร B ชั้น 4 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. 10210
Facebook/jahooktcsd
โทร : 0-2142-2556, 0-2143-8078, 0-2143-8079, 0-2143-8080
Email : tcsdstaff@police.go.th
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถดำเนินการลบหรือปิดกั้นโพสต์ใดๆ ได้ทันที เพราะข้อมูลอินเทอร์เน็ตอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการสื่อนั้นๆ การดำเนินการใดจำเป็นต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ที่ต้องมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยตนเอง ณ สถานีตำรวจ หรือที่ บก.ปอท.แล้วเท่านั้น