xs
xsm
sm
md
lg

ปอท.เปิดสถิติอาชญากรรมทางเทคโนโลยี “หมิ่นประมาท” มากสุด “แฮกข้อมูล” อันดับ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รอง ผบก.ปอท. เผยข้อมูลผู้ร้องทุกข์คดี รอบปี 64 มากสุด หมิ่นประมาท 698 ราย รองลงมา แฮกข้อมูล 585 ราย อับดับสาม หลอกขายสินค้า 445 ราย

วันนี้ (3 ม.ค.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี พ.ศ. 2565 ว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า โดยในปี 2564 มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย สาเหตุที่การด่าทอ ให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ครองความเป็นอันดับ 1 มาตลอดหลายปี อาจเนื่องมาจากประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายจึงมีมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจจากสถิติดังกล่าว พบว่า มีผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน ขโมย ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ พบเป็นอันดับที่ 2 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 585 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึง ประชาชนอาจขาดการระวังป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์จากแฮกเกอร์ ส่วนการหลอกขายสินค้า บริการ พบว่า มาเป็นอันดับ 3 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากสถิติดังกล่าวทำให้สังเกตได้ว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน หากไม่นับความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว พบว่า จะมีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ คือ การแฮกข้อมูล และการฉ้อโกงออนไลน์ เป็นหลัก ซึ่งพบว่าอาชญากรรมใน 2 รูปแบบนี้ คนร้ายมักอาศัยโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิด หรือปกปิดตัวตนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสืบสวนหาตัวคนร้ายได้โดยง่าย โดยใช้ช่องทางต่างๆ เช่น การปกปิดตัวตน โดยนำภาพหรือชื่อบุคคลอื่นมาสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม หรือใช้บัญชีอวตา (Avatar), การปกปิดที่อยู่ไอพี (ip address), การใช้ช่องทางสกุลเงินดิจิทัล ในการรับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือ การซื้อบัญชีธนาคารจากผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับเจ้าหน้าที่ ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

“ดังนั้น ความเห็นส่วนตัวยังเห็นว่า แนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปี 2565 ยังไม่น่าจะแตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ร้าย หรือระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bullying), การหลอกลวงผ่านอีเมล (email scam), การแฮกเพื่อเอาข้อมูลหรือเงินผ่านการลวงให้กด ล่อให้กรอก (Phishing), มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware), การหลอกลวงขายสินค้า, การหลอกรักออนไลน์ (Romance Scam), การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam), การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์, การหลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์และแชร์ลูกโซ่, การขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้และการทวงหนี้ในลักษณะผิดกฎหมายจากแก๊งแอปพลิเคชันเงินกู้, การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผลด้านต่างๆ (Fake News) เป็นต้น”

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ว่า “อาชญากรรมมักทิ้งร่องรอย” ยังคงใช้ได้กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย ที่อาจพัฒนาตัวเองจากอาชญากรภาคพื้นดิน (On Ground) มาเป็นอาชญากรบนอากาศ (Online) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการพัฒนาทักษะ ความรู้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการด้านต่างๆ ในการสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น