ความคืบหน้าหลังจากที่ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาประกาศนโยบายสร้างจุดให้บริการฟรีไวไฟสำหรับชุมชนเมืองในพื้นที่ที่ประชาชนมีรายได้น้อย ด้วยความเร็ว 200/100 Mbps ครอบคลุม 8,255 จุดทั่วประเทศ นั้น ล่าสุดกระทรวงดีอีเอสได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาพื้นที่ 2,000 ชุมชนแรกในการดำเนินการโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดแล้ว
สำหรับผู้ที่จะได้รับการติดตั้ง 2,000 ชุมชนแรก คือ ชุมชนแออัดและชุมชนผู้มีรายได้น้อย แต่ขณะนี้ที่ประชุมยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนสำหรับดำเนินการในระยะเร่งด่วน ตลอดจนข้อมูลชุมชน ของหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลชุมชนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ข้อมูลชุมชนผู้มีรายได้น้อย ของการเคหะแห่งชาติ ข้อมูลชุมชนแออัดของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอีเอส ในฐานะประธานคณะทำงาน กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการคือ การลดภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และชุมชนเป้าหมาย ซึ่งการติดตั้งในจุดนั้นๆ ต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือเด็กๆ ในพื้นที่จะได้ใช้บริการในการเรียนออนไลน์ อันจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ด้วย โดยเน้นที่ชุมชนแออัดก่อน ซึ่งความหมายของชุมชนแออัดคือในพื้นที่ 1 ไร่ มีครัวเรือนอาศัยอยู่มากกว่า 15 ครัวเรือนขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับนโยบายมา ซึ่งได้มีการนำข้อมูลชุมชนแออัดของทั้งประเทศจากการเคหะแห่งชาติมาดูแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการดูพื้นที่ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงและไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับโครงการของการเคหะแห่งชาติ โดยที่ประชุมจะมีการประชุมวางแผนการทำงานทุกสัปดาห์เพื่อให้ภายในต้นเดือน ก.พ.2565 ได้รายชื่อของชุมชม 2,000 ชุมชนแรกก่อน
ส่วนความเร็วในการให้บริการฟรีไวไฟ 200/100 Mbps นั้นสามารถให้บริการต่อ 1 จุด ได้ประมาณ 20 ครัวเรือน แต่ทั้งนี้ต้องลงพื้นที่สำรวจความต้องการอีกครั้งหนึ่งว่าแต่ละชุมชนต้องติดตั้งกี่จุด ซึ่งความเร็วที่ให้ต้องเป็นความเร็วแบบลูกค้าองค์กร ต้องไม่มีการกระตุกใช้งานได้จริง ส่วนจะให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) รายไหนเป็นผู้ติดตั้งนั้นอยู่ระหว่างการหารือและยังไม่ได้ข้อสรุป
ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอีเอส อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รายชื่อ 2,000 ชุมชนแล้ว จะเร่งนำเสนอต่อนายชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส เพื่อชงเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในการของบประมาณในการดำเนินโครงการนำร่อง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินโครงการ 2-3 เดือน จากนั้นในระยะยาวจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับโครงการไปดำเนินการต่อ เป็นแผนในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของ กสทช.ต่อไป
“ตอนนี้เราต้องเร่งให้ชุมชนแออัดเป็นหลักก่อน การเรียนออนไลน์ การทำงานอยู่บ้าน และสถานการณ์โควิดยังต้องอยู่กับประชาชนต่อไป หากจะรอทำพร้อมกันทั่วประเทศไม่ได้ เราต้องคัดเลือกมาเพื่อนำร่องก่อน ไม่งั้นจะล่าช้า ผมไปลงพื้นที่มาแล้วเห็นปัญหาของประชาชนจริง อินเทอร์เน็ตเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้มือถือแบบเติมเงิน ถ้ามีฟรีไวไห้เขาจะช่วยได้มาก”
อย่างไรก็ตาม โครงการฟรีไวไฟจะเป็นจุดเติมเต็มให้ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในโครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการเน็ตชายขอบได้มีโอกาสเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอีเอสเคยมอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะถูกควบรวมเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นำร่องโครงการในบางพื้นที่บ้างแล้ว เช่น สำเพ็ง ด้วยงบประมาณของ กสท โทรคมนาคมเอง ในสมัยนั้น