เป็นประจำในช่วงทุกต้นปีจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมจากผู้นำธุรกิจเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุคที่หน่วยประมวลผล หรือชิปเซ็ต กลายเป็นส่วนสำคัญที่มาขับเคลื่อนธุรกิจในหลายภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ขยายไปถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ และบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะต่างๆ
ภายในงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี (CES 2022) ทั้ง Intel และ AMD ได้เปิดตัวชิปเซ็ตรุ่นใหม่ที่จะทยอยออกมาทำตลาดในช่วงครึ่งปีแรกนี้ พร้อมกับนำเสนอจุดเด่นของแต่ละผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
***Intel ตอกย้ำผู้นำพีซีเกมมิ่ง
หลังจากถูกคู่แข่งอย่าง AMD และ Apple ที่ตัดสินใจแยกตัวออกมาพัฒนาชิปประมวลผลของตัวเอง ทำให้ Intel ต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อทวงภาพความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้กลับคืนมา อย่างการเปิดตัว 12 Gen Intel Core รุ่นใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองการประมวลผลยุคใหม่ที่มีการนำข้อมูลไปใช้งานมากกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน ในกลุ่มของพีซีเกมมิ่งที่ได้กลายเป็นหนึ่งในตลาดคอมพิวเตอร์ที่เติบโตมากที่สุด จึงกลายเป็นตลาดหลักของ Intel ไปด้วย โดยภายในงาน CES 2022 Intel ได้เปิดตัวชิปเซ็ตประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ Intel Core H ซีรีส์ ที่ให้ประสบการณ์ในการเล่นเกมดีขึ้นถึง 40% และเร็วกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 28%
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Intel Core H ซีรีส์ รุ่นท็อป 12900HK กลายเป็นชิปประมวลผลแบบพกพาสำหรับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่แรงที่สุดในปัจจุบัน โดยคาดว่าทางผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำทั้ง เอเซอร์ เอซุส เดลล์ เอชพี เลอโนโว เอ็มเอสไอ และเรเซอร์ มีแผนที่จะทำตลาดโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปเซ็ต Intel Core H ซีรีส์ มากกว่า 100 รุ่นเตรียมวางจำหน่ายออกมา
“เกรกอรี่ ไบรอันท์” รองประธานและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจไคลเอนต์ คอมพิวเตอร์ Intel ระบุว่า Intel กำลังขับเคลื่อนนวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรในหลายอุตสาหกรรมเพื่อนำเทคโนโลยีไปสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยให้ชีวิตของทุกคนบนโลกนี้ดียิ่งขึ้น
“Intel ได้เร่งเครื่องกลับมาในตลาดชิปประมวลผล ไปจนถึงกราฟิกการ์ด และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่จะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ”
นอกจากนี้ ยังเปิดตัว12th Gen Intel P ซีรีส์ เพื่อมาจับกลุ่มโน้ตบุ๊กบางและเบาโดยเฉพาะ ซึ่งมีให้เลือกถึง 28 รุ่น และเบื้องต้นมีแบรนด์เตรียมนำไปทำตลาดแล้วมากกว่า 350 ดีไซน์ที่จะทยอยออกมาทำตลาดในอนาคต
ขณะเดียวกัน ได้อัปเดตความคืบหน้าในการมุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์ม Intel EVO ที่กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของโน้ตบุ๊กที่ใช้งานในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของการตอบสนองการใช้งาน ระยะเวลาทำงานบนแบตเตอรี่ต่อเนื่อง ที่ปัจจุบันมีโน้ตบุ๊กมากกว่า 100 รุ่นผ่านการรับรองมาตรฐานนี้แล้ว
พร้อมกับปรับปรุงมาตรฐานให้รับกับเทคโนโลยีปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อย่างการปรับการเชื่อมต่อให้รองรับ Wi-Fi 6E ซึ่งเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อใหม่ล่าสุด รองรับการเชื่อมต่อที่หลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะการเชื่อมต่อใช้งานกับสมาร์ทโฟนแบบไร้รอยต่อ ที่จะทยอยเปิดให้ใช้งานกันภายในปีนี้
รวมถึงการเปิดตัวสายการผลิตชิปกราฟิกสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ในชื่อ Intel Arc ในยุคที่ปัจจุบันกราฟิกการ์ดประสิทธิภาพสูงกลายเป็นสินค้าที่ขาดตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี และเป็นก้าวสำคัญของ Intel ที่จะทำงานร่วมกับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิดในการจำหน่าย Intel Arc ออกสู่ตลาด
จุดเด่นหลักของ Intel Arc คือการผสมผสานการทำงานเข้ากับชิปประมวลผล 12 Gen Intel Core ได่อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านเทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูล Intel Depp Link ที่ช่วยให้สามารถรีดประสิทธิภาพของชิปเซ็ตทั้ง 2 ส่วนออกมา และกลายเป็นว่าปัจจุบันสตูดิโอผลิตเกมจำนวนมากได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทาง Intel เพื่อพัฒนาเกมให้รองรับการทำงานของ Intel Arc ด้วย
***บุกตลาดชิปรถยนต์อัจฉริยะ
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของ Intel ที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์คือการประกาศพัฒนาชิปเซ็ต (SoC) สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles : AVs) ด้วยเทคโนโลยี Mobileye EyeQ Ultra ภายใต้ความร่วมมือกับ 2 ค่ายรถยนต์คือ Volkswagen และ Ford
ความสามารถของ EyeQ Ultra คือการเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลของเซ็นเซอร์ตรวจจับการมองรอบทิศทางแบบ 360 องศารอบตัวรถ เพื่อพัฒนาการขับขี่อัตโนมัติให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มสายพานการผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีนี้ภายในปี 2024
***AMD ชิงส่วนแบ่งตลาดเกมมิ่งด้วย AMD Advantage
ความเคลื่อนไหวของ AMD ภายในงาน CES2022 ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเดินหน้าเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่ AMD Ryzen 6000 ซีรีส์ ออกมาครอบคลุมทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ที่มาพร้อมกราฟิกภายในกว่า 20 รุ่น การ์ดจอ Radeon RX6000S 3 รุ่นใหม่สำหรับโน้ตบุ๊กบางเบา จนถึงการ์ดจอสำหรับยกระดับการใช้งานทั่วไปให้ประสบการณ์ดียิ่งขึ้น
เบื้องต้น AMD คาดการณ์ว่าจะมีผลิตภัณฑ์แล็ปท็อประดับพรีเมียมสำหรับนักเล่นเกม ผู้ใช้งานทั่วไป และมืออาชีพมากกว่า 200 รุ่น ที่นำหน่วยประมวลผล AMD ไปใช้งาน และจะทยอยวางจำหน่ายในปี 2022 นี้ รวมไปถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ AMD Advantage ที่ออกแบบมาสำหรับเกมเมอร์ที่ต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผล และตอบสนองการเล่นเกมได้อย่างเต็มที่ ด้วยการนำเทคโนโลยี AMD SmartShift Max, AMD SmartShift Eco และ AMD Smart Access Graphics เข้าไปช่วยเร่งการทำงานของซีพียู AMD และการ์ดจอ Radeon ที่พร้อมวางจำหน่ายแล้วไม่ต่ำกว่า 20 รุ่น จากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำ
“ลิซ่า ซู” ซีอีโอ AMD กล่าวว่า เทคโนโลยีการประมวลผลประสิทธิภาพสูงของ Ryzen จะเข้าไปช่วยในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในกลุ่มนักเล่นเกม ครีเอเตอร์ และผู้ใช้ระดับมืออาชีพ
“ในปี 2022 นี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และ AMD โดยเฉพาะการพัฒนาหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ของ AMD Ryzen 7000 ซีรีส์ ที่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง บนสถาปัตยกรรม Zen 4 จากกระบวนการผลิตระดับ 5 นาโนเมตร ที่จะมาพลิกโฉมการประมวลผลในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ”
อย่างไรก็ตาม นั่นแปลว่าในช่วงครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมชิปเซ็ตคอมพิวเตอร์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการนำซีพียูไปใช้งานอีกครั้ง จากการนำสถาปัตยกรรมใหม่มาใช้งาน ด้วยการเปลี่ยนไปใช้ซ็อกเก็ตแบบใหม่ AM5 จากปัจจุบันที่ผู้ใช้งาน AMD จะใช้ซ็อกเก็ตแบบ AM4 มาตั้งแต่ปี 2016 และใช้งานต่อเนื่องมาถึงเวลานี้
***ส่องโน้ตบุ๊กล้ำสมัยในงาน CES 2022
จากการเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่ของทั้ง Intel และ AMD ทำให้ภายในงานครั้งนี้ บรรดาแบรนด์คอมพิวเตอร์ต่างมีการอัปเกรดคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่จะทยอยวางจำหน่ายในปีนี้ แต่แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเป็นการอัปเกรดจากฟอร์มแฟกเตอร์ หรือรูปลักษณ์เครื่องเดิม นำไปเปลี่ยนชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ภายในเป็นหลัก
แต่จะมีบางแบรนด์ที่คิดค้นนวัตกรรมที่น่าสนใจมานำเสนอเพิ่มเติมภายในงานครั้งนี้ เริ่มกันที่ เลอโนโว (Lenovo) ที่ในช่วงหลังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นับจากเริ่มเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นวัสดุที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดแล้ว ยังเริ่มพัฒนาโน้ตบุ๊กที่ทำจากวัสดุธรรมดาชาติอย่างการนำต้นไผ่มาใช้งาน
ล่าสุด เลอโนโวได้นำเสนอโน้ตบุ๊กสำหรับนักธุรกิจ ThinkPad Z13 และ Z16 ที่ปรับรูปแบบให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้ากับเทรนด์การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำวัสดุยั่งยืนอย่างอะลูมิเนียมรีไซเคิล และหนังมาใช้ควบคู่กันรวมกับบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ไผ่ และต้นอ้อย รวมถึงอะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลชิ้นส่วนต่างๆ ได้ถึง 90%
ตามมาด้วยเอซุส (Asus) ที่ในปีที่ผ่านมาเน้นนำเสนอโน้ตบุ๊กที่มากับหน้าจอแบบ OLED ที่แสดงผลได้สีสันคมชัด สมจริงมากที่สุด มาในปีนี้จะมีไลน์อัปสินค้าที่ทยอยอัปเดตกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นให้มาใช้งานหน้าจอ OLED มากยิ่งขึ้น จนถึงการนำเสนอโน้ตบุ๊กจอพับได้ ASUS ZenBook 17 Fold OLED ที่เอซุส ทำงานร่วมกับ Intel และผู้ผลิตหน้าจอแสดงผล BOE จากไต้หวัน โดยสามารถใช้งานในลักษณะของโน้ตบุ๊กปกติขนาดหน้าจอ 12.5 นิ้ว พร้อมคีย์บอร์ดเสมือนบนหน้าจอได้
ขณะเดียวกัน สามารถกางหน้าจอออกมาเป็นจอแสดงผลขนาดใหญ่ 17.3 นิ้ว ที่สามารถใช้งานร่วมกับคีย์บอร์ด และเมาส์บลูทูธ หรือเป็นแท็บเล็ตขนาดใหญ่เพื่อใช้งานได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ตัวเครื่องยังบางเพียงพอให้สามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่ด้วยขนาดหลังจากพับจอแล้วอยู่ที่ 17.4 มิลลิเมตร เมื่อกางออกอยู่ที่ 8.7 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกมมิ่ง ROG ที่เพิ่มสินค้าในกลุ่มโน้ตบุ๊ก 2 หน้าจอ ด้วย ROG Zephyrus Duo 16 เพื่อรองรับการเล่นเกม พร้อมแสดงผลข้อมูลต่างๆ ให้เกมเมอร์เข้าถึงได้ทันที
จุดที่น่าสนใจคือ หน้าจอแสดงผลของเครื่องรุ่นนี้ที่เลือกใช้แผงหน้าจอคู่ ทำให้เวลาใช้งานทั่วไปที่ความละเอียด 4K จะสามารถปรับอัตราการแสดงผลได้ที่ 120 Hz และในกรณีที่เล่นเกมที่ความละเอียด Full HD จะสามารถเพิ่มอัตราการแสดงผลได้สูงถึง 240 Hz
แน่นอนว่าทั้งโน้ตบุ๊กหน้าจอคู่ และหน้าจอพับได้จะกลายเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่สำคัญของตลาดพีซีในปีนี้ เพราะบรรดานักพัฒนาโปรแกรม และแอปพลิเคชันเริ่มปรับปรุงให้รองรับการใช้งานแล้ว ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงหลังโควิด-19 ทำให้การทำงานเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กที่ตอบสนองได้ทั้งการใช้ชีวิต และทำงานไปพร้อมกัน