สถาบันบิ๊กดาต้างานโหลด มีแค่ 50 คนทำงานบิ๊กดาต้าระดับประเทศไม่ไหว ส่งไม้ต่อกระทรวงดีอีเอสปั้นขึ้นเป็นองค์การมหาชน คาดแล้วเสร็จกลางปีนี้
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงดีอีเอสจะยกระดับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (จีบีดีไอ) หน่วยงานภายใต้สังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เป็นสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (เอ็นบีดีไอ) โดยจะเป็น องค์การมหาชน ภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีเอส หลังจากที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.2565
สำหรับพันธกิจหลักคือ การส่งเสริมการสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานระดับสากลและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่และระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสานให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไปสู่การใช้ประโยชน์ของข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บริการให้คำปรึกษาทางวิชาการด้านข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านข้อมูลขนาดใหญ่เป็นกลไกในการออกแบบพัฒนานโยบายรัฐบาล
“ข้อมูลขนาดใหญ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ปัจจุบันเรื่องบิ๊กดาต้ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผน ขณะเดียวกัน หน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้” นายชัยวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสเข้าไปสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลด้านบิ๊กดาต้า ในโครงการ Health-Link ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างดีอีเอส และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและทางโรงพยาบาลเข้าถึงการรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสุขภาพเอาไว้ที่เดียว โดยประชาชนสามารถสมัครเข้าร่วมได้ผ่านแอปเป๋าตัง ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 70,000 คน มีโรงพยาบาลเข้าร่วมแล้ว 100 แห่ง และอยู่ระหว่างขอเข้าร่วมอีกจำนวนมาก คาดว่าจะเชื่อมโยงและเปิดตัวพร้อมโรงพยาบาลทุกสังกัดในเขต กทม.ได้ในเดือน มี.ค.2565
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวว่า ตามแผนโรดแมปที่เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ขณะนี้ กระทรวงดีอีเอส โดยดีป้ากำลังบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอผลการดำเนินงานแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นนี้จะช่วยส่งเสริมการสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานระดับสากล และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่และระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสานให้เกิดการเชื่อมโยง ข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไปสู่การใช้ประโยชน์ของข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นอกจากนี้ ยังให้บริการให้คำปรึกษาทางวิชาการด้านข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และบุคลากรด้านข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนานโยบายรัฐบาลต่อไป โดยจะมีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และงบประมาณของตนเอง
"หากยังอยู่ภายใต้ดีป้าจะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณและกำลังคน กับภารกิจงานจะมีมากขึ้นในระดับประเทศ ขณะที่ดีป้ามีภารกิจงานที่มากอยู่แล้ว การตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมารัฐไม่ต้องจ่ายงบประมาณเพิ่ม โดยจะนำบุคลากรมาจากหน่วยงานเดิมประมาณ 50 ราย และจากนักเรียนทุนที่กำลังจะจบการศึกษาจากต่างประเทศ กลับมาอีก 200 คน ซึ่งภาครัฐจะต้องหาหน่วยงานให้ทำงานเพื่อใช้ทุนอยู่แล้ว แทนที่จะกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ มาจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ โดยจะมาทำงานด้านนักวิเคราะห์ข้อมูล และวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการจัดการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ และการใช้ประโยชน์ ในภาคเอกชน ช่วยให้เกิดการนำเรื่องบิ๊กดาต้ามาใช้ในการพัฒนาประเทศ ในด้านต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"