หัวเว่ย (Huawei) ประเดิมธุรกิจพลังงานดิจิทัล ลุยโปรโมตโซลูชันผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบดิจิทัล "ฟิวชันโซลาร์ เรสซิเดนทัล สมาร์ท พีวี" (FusionSolar Residential Smart PV) สำหรับครัวเรือนไทยครั้งแรก มั่นใจปัจจัยเติบโตสูงเพราะสอดรับแผนกระทรวงพลังงาน วางเป้ามีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ 25% หรือ 1 ใน 4 ของรายได้รวมในไทยภายใน 5 ปี ระบุพันธมิตรในไทยเพิ่มเป็น 200 รายแล้วบนฐานลูกค้าพันราย ราคาติดตั้งเริ่มต้น 2 แสนบาท (5 กิโลวัตต์) อายุการใช้งานแผงต่อเนื่องยันลูกบวช 25 ปี มีโอกาสคุ้มทุนใน 5-6 ปี บนความท้าทายเรื่องความปลอดภัยทั้งด้านบุคคลและทรัพย์สิน
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานกรีนฟอร์ฟิวเจอร์ (Green for Future) ซึ่งเป็นเวทีเปิดตัวสายผลิตภัณฑ์โซลูชัน Huawei FusionSolar Residential Smart PV ว่า กลุ่มโซลูชันฟิวชันโซลาร์สมาร์ทพีวีจะเป็นธุรกิจหลักของหัวเว่ย กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้งบ้านเรือนและองค์กร แม้จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งในไทยแต่หัวเว่ยมีฐานลูกค้าแล้วทั้งในธุรกิจค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย และธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ เชื่อว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยเป็นตลาดสำคัญที่มีโอกาสเติบโตสูงคือ พันธกิจที่ประเทศไทยต้องการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 รวมถึงภาวะแสงอาทิตย์ร้อนแรงในไทย 1,500 ชม.ต่อปี
"ไทยมีทรัพยากร มีความพร้อมเรื่องวิสัยทัศน์ คนในประเทศให้ความสำคัญเรื่องพลังงานที่ยั่งยืน ครัวเรือนหลายหลังเริ่มเปลี่ยนระบบแล้ว ไทยเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโต ขณะที่โควิดเป็นตัวเร่งคนไทยให้ปรับใช้เทคโนโลยีใหม่เร็วขึ้น ซึ่งผลที่ได้ไม่แค่ประหยัด แต่ยังช่วยโลกได้ ขณะนี้มีลูกค้าในไทย 1,000 รายแล้ว ส่วนแบ่งตลาด 55% ท่ามกลางพันธมิตร 200 ราย"
แม้สมาร์ทพีวีจะเป็นธุรกิจใหม่ในไทย แต่หัวเว่ยย้ำว่า บริษัทแม่ที่ประเทศจีนได้ทำงานกับเทคโนโลยีนี้มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว มีการลงทุนวิจัยต่อเนื่องทุกปี เกิดเป็นธุรกิจโซลูชันพลังงานสีเขียวที่ครอบคลุมทั้งในส่วนธุรกิจระบบจัดการพลังงานสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ Prefabricated Modular Data Center โซลาร์เซลล์อัจฉริยะ Smart PV และระบบสำหรับโรงไฟฟ้า Site Power Facility ที่หัวเว่ยถือว่าตัวเองเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดในระดับโลก ยังมีส่วนธุรกิจ mPower หรือโมบายเพาเวอร์ซึ่งติดตั้งในรถยนต์พลังไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ทำให้สถิติตอนจบปี 2563 หัวเว่ยปิดยอดขายในส่วนธุรกิจพลังงานจากทั่วโลกได้มากกว่า 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้บริการประชากรถึง 1 ใน 3 จากทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย หัวเว่ยเลือกปิดปี 64 ด้วยการทำตลาดสายผลิตภัณฑ์โซลูชัน Huawei FusionSolar Residential Smart PV เพื่อรองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพราะปัจจัยหนุน 3 ด้าน ด้านแรกคือ นโยบายที่กระทรวงพลังงานและรัฐบาลไทย นำเสนอแผนแม่บทความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ.2593 อย่างมีวิสัยทัศน์ และไทยประกาศในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าจะให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ทำให้ประเทศไทยถือว่านำหน้าหลายประเทศทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว
ด้านที่ 2 คือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนและโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล รวมถึงรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยข้อมูลจากบริษัทผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงานสะอาด UBS คาดการณ์ว่า การลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้าจะมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ด้านที่ 3 คือ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสะอาดสำหรับใช้ในบ้าน เนื่องจากมีระยะเวลาที่มีแสงแดดมากกว่า 1,500 ชั่วโมงต่อปี และที่พักอาศัยกว่า 80% เป็นบ้านเดี่ยว
"ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นพาร์ตเนอร์ชั้นนำด้าน ICT และผู้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคอาเซียน โดยหัวเว่ยจะใช้ความเป็นผู้นำระดับโลกในด้านโซลูชันพลังงานสะอาดสำหรับใช้ในบ้าน PV อัจฉริยะ ไซต์พลังงาน และอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกับภาครัฐและพาร์ตเนอร์ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น และนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่ทุกคน บ้านทุกหลัง และองค์กรทุกแห่ง เพื่อสร้างประเทศไทยอัจฉริยะที่เชื่อมโยงกันอย่างเต็มรูปแบบและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์"
กลยุทธ์ที่หัวเว่ยใช้เพื่อเปิดตัว FusionSolar Residential Smart PV คือการดึง “ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่” ดาราสาวคนดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อช่วยโปรโมต ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้หัวเว่ยสามารถเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ในไทยเข้าถึงโซลูชันสมาร์ทพีวีได้ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ทำคู่ไปกับการจัดนิทรรศการ “Green for Future” เพื่อแสดงถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากส่วนธุรกิจดิจิทัลเพาเวอร์ พร้อมโซลูชัน Huawei FusionSolar Residential Smart PV สำหรับใช้ในภาคครัวเรือน ให้ลูกค้า พาร์ตเนอร์ต่างๆ และประชาชนได้เข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ตัวนิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564 นี้ ณ ลานกิจกรรมเซ็นทรัลเวิลด์สแควร์ C ด้านหน้าเซ็นทรัลเวิลด์
ในภาพรวม หัวเว่ยชี้ว่าโซลูชัน Huawei FusionSolar Residential Smart PV สำหรับใช้ในภาคครัวเรือนจะเปลี่ยนหลังคาบ้านให้เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่คนในครอบครัวสามารถใช้งานได้ทุกวัน ทุกเวลา ความน่าสนใจคือ หัวเว่ยได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์เข้ากับโซลูชัน PV (Photovoltaic - การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์) อัจฉริยะรุ่นล่าสุด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ความปลอดภัย และความเสถียรในการใช้งานพลังงานทดแทน จุดนี้หัวเว่ยย้ำว่า FusionSolar Residential Smart PV จะช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลเรื่องไฟตก ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
โซลูชัน FusionSolar Residential Smart PV ถือเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรม Huawei Green Home ซึ่งเป็นโซลาร์เซลล์ที่จะช่วยให้ทุกคนมีพลังงานไว้ใช้ภายในบ้าน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รับพลังงานแสงอาทิตย์ และผลิตพลังงานสะอาดไปพร้อมกัน ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลัก จำนวน 4 ตัว ได้แก่ 1.ตัวเก็บพลังงานแบบสตริงอัจฉริยะ ที่ช่วยเก็บพลังงานส่วนเกินจากแผงโซลาร์เซลล์ให้สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดในบ้านได้อย่างต่อเนื่องทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน 2.โซลูชันอินเวอร์เตอร์อัจฉริยะ SUN2000 Smart Energy Controller ที่เป็นหัวใจในการแปลงไฟฟ้ากระแสตรงจากแผลโซลาร์มาเป็นไฟกระแสสลับเพื่อใช้ในครัวเรือน 3.ตัวเพิ่มประสิทธิภาพ PV อัจฉริยะ/ตัวควบคุมโมดูลอัจฉริยะ Smart PV Optimizer / Smart Module Controller ที่จะเปลี่ยนโมดูลทั่วไปสำหรับโซลูชัน PV ให้เป็นโมดูลอัจฉริยะ และ 4.แอปพลิเคชัน FusionSolar App สำหรับให้ผู้ใช้ควบคุมการใช้พลังงานทดแทนได้อย่างง่ายดายจากที่ไหนก็ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจดูพฤติกรรมการใช้พลังงานของตัวเองได้อีกด้วย
ตัวแทนหัวเว่ยให้ข้อมูลในงานว่า โซลูชันเหล่านี้สามารถสั่งซื้อแล้วติดตั้งเองได้ แต่แนะนำให้ติดตั้งโดยช่างผู้ชำนาญจะดีกว่า สนนราคารุ่นเล็กกำลังไฟ 5 กิโลวัตต์ ราคาเริ่มต้นราว 2 แสนบาท ระยะเวลาคืนทุนราว 5-6 ปี อายุการใช้งานระบบแผงโซลาร์เซลล์ราว 25 ปี ความสามารถของ AI ในโซลูชันจะตรวจจับและวิเคราะห์การอาร์คที่อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่แผงโซลาร์เซลล์ได้
ความท้าทายหนึ่งที่หัวเว่ยต้องก้าวข้ามคือการแสดงจุดยืนเรื่องความปลอดภัย ที่ผ่านมา หลายประเทศมีการออกกฎระเบียบบังคับใช้มาตรฐานของการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการออกมาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานดับเพลิงที่ต้องปรับวิธีการทำงาน เนื่องจากการเกิดเพลิงไหม้ที่แผงโซลาร์เซลล์จะไม่สามารถใช้น้ำดับไฟได้ เพราะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาจะยังคงผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง การใช้น้ำดับไฟอาจทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้ จุดนี้หัวเว่ยมองว่า AI จะแก้ปัญหาได้เพราะลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ เพิ่มความปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและบุคคล
ที่สุดแล้ว พลังงานดิจิทัลเป็นเพียงส่วนเสริมของแผนธุรกิจหัวเว่ยนับจากนี้ เพราะหัวเว่ยเคยประกาศแผนการลงทุนหลักไว้ 3 ส่วนในไทย โดยย้ำว่ายังคงลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจ 5G ธุรกิจคลาวด์ และการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย