เปิดวิสัยทัศน์ ‘หัวเว่ย ประเทศไทย’ มองเห็นอะไรในธุรกิจดิจิทัลเพาเวอร์ หรือพลังงานดิจิทัล แม้คำยืนยันพร้อมประเดิมจัดทีมงานชุดใหญ่ขยายส่วนธุรกิจนี้ช่วงครึ่งหลังปี 64 จะถูกไฮไลต์ที่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอาเซียน แต่ก้าวนี้ถือเป็นหลักไมล์ที่มีนัยสำคัญ ในวันที่สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ยังพ่นพิษอยู่
ปีนี้หัวเว่ยย้ำว่า จะขยายธุรกิจพลังงานดิจิทัลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก แกนหลักของธุรกิจกลุ่มนี้คือโซลูชัน Smart PV หรือแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นระบบดิจิทัล โดย Digital Power เป็น 1 ใน 4 แผนธุรกิจที่หัวเว่ยประเทศไทยจะลงทุนเต็มตัวในครึ่งหลังปี 64 เสริมกับอีก 3 ส่วนหลักที่ทำมาตลอดหลายปี นั่นคือธุรกิจ 5G ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ รวมถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัล ที่หัวเว่ยย้ำหนักหนาว่าเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค
แม้จะใหม่ในไทย แต่หัวเว่ยมั่นใจว่าตัวเองเป็นผู้นำในตลาดพลังงานดิจิทัลมานาน เป้าหมายปีนี้คือการจัดทีมใหญ่เพื่อบุกทะลวงองค์กรระดับท็อปของไทย ซึ่งมีโอกาสเป็นลูกค้าสูงเพราะระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นระบบดิจิทัลจะเสริมกันกับบริการคลาวด์ที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องใช้งาน จุดนี้หัวเว่ยเชื่อว่าการเปิดตลาดใหม่โดยไม่รอให้ไทยพ้นวิกฤตโควิด-19 นั้นเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสม เพราะใน 5-10 ปีไทยจะมีการใช้งานแผง PV อัจฉริยะมากขึ้น ทำให้การเปิดตลาดในช่วงนี้จะรองรับช่วงพีกของ PV ในช่วงปี 2030 ได้พอดี
***มาแน่ Green Thailand
อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วันนี้องค์กรไทยให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และองค์กรเกิน 90% ที่ต้องใช้คลาวด์ในการทำธุรกิจล้วนต้องการระบบบริหารพลังงานในดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีการพัฒนามากขึ้น ดังนั้น จึงมั่นใจมากว่าหัวเว่ยมีโอกาสขยายตลาดธุรกิจพลังงานดิจิทัลอย่างจริงจัง นำมาสู่ยุคกรีนไทยแลนด์ หรือประเทศไทยสีเขียวได้อย่างเป็นรูปธรรม
หลักคิดของหัวเว่ยในธุรกิจพลังงานดิจิทัล คือการวางเดิมพันเพื่อพลิกฐานะพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นแหล่งพลังงานหลักที่องค์กรใช้งาน ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยสำนักงานใหญ่มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผนก Smart PV จนพร้อมรบเต็มตัวในมีนาคม 63 ท่ามกลางการจับตาว่าผู้นำคนใหม่จะพาหัวเว่ยไปสู่ยุคทองของธุรกิจโซลาร์เซลล์อัจฉริยะ
ตามประวัติ หัวเว่ยเริ่มต้นธุรกิจโซลาร์เซลล์ PV ในปี 2553 จนมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อินเวอร์เตอร์ตัวแรกของบริษัทเมื่อปลายปี 2556 ก่อนจะเคลมตัวเองเป็นผู้นำด้านสตริงอินเวอร์เตอร์ในปี 2557 และขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกด้านการจัดส่งอินเวอร์เตอร์ถึงปี 62
การเข้ามาของหัวเว่ยถูกมองว่าเป็นการปฏิวัติแนวคิดและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี AI+ PV ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มในประเทศจีนที่มีการเปิดรับและติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมถึงระบบเก็บสำรองพลังงานมากขึ้นต่อเนื่อง บนต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อโครงข่ายกับพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงจนอยู่ในระดับที่แข่งขันได้
โซลูชันพลังงานสีเขียวของหัวเว่ยครอบคลุมทั้งในส่วนธุรกิจระบบจัดการพลังงานสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ Prefabricated Modular Data Center โซลาร์เซลล์อัจฉริยะ Smart PV และระบบสำหรับโรงไฟฟ้า Site Power Facility ที่หัวเว่ยถือว่าตัวเองเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดในระดับโลก สำหรับส่วนธุรกิจ mPower หรือโมบายเพาเวอร์ หัวเว่ยย้ำว่าเป็นบริษัทแห่งแรกในโลกที่ส่งมอบนวัตกรรมใหม่ในชื่อว่า X-in-1 ePowertrain ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้แก่รถยนต์พลังไฟฟ้า นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ Modular Power ประสิทธิภาพสูงเป็นจำนวนมากกว่า 300 ล้านชิ้นทั่วโลก สถิติตอนจบปี 2563 หัวเว่ยปิดยอดขายในส่วนธุรกิจพลังงานจากทั่วโลกได้มากกว่า 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้บริการประชากรถึง 1 ใน 3 จากทั่วโลก
หัวเว่ยจึงตัดสินใจขยายส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัลสำหรับตลาดประเทศไทยในปีนี้ โดยระบุว่าได้ให้บริการลูกค้าระดับองค์กรธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในตลาดประเทศไทยแล้วในปัจจุบัน สิ่งที่หัวเว่ยจะทำในช่วงครึ่งหลังปีนี้ คือการเดินหน้าสร้างเครือข่ายพาร์ตเนอร์สำหรับด้านการบริการ การติดตั้ง และด้านโซลูชันพลังงานให้ได้เกิน 50 รายในประเทศไทย เพิ่มจากปัจจุบันที่มีพันธมิตรเป็นองค์กรธุรกิจ 35 แห่งแล้ว คาดว่าการขยายส่วนธุรกิจในครั้งนี้จะช่วยสร้างงานในทางอ้อมได้มากกว่า 1,000 ตำหน่งในประเทศไทย
***เสริมจากแกนธุรกิจหลัก
พลังงานดิจิทัลเป็นเพียงส่วนเสริมของแผนการลงทุนหัวเว่ยในปีนี้ เพราะส่วนหลักยังคงเป็นการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจ 5G ธุรกิจคลาวด์ และการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย ในมุมของ 5G หัวเว่ยมองว่าจะต่อยอดจาก 3 จุดแข็งเรื่อง 5G ของประเทศไทย จุดแข็งแรกคือการที่ไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมแห่งชาติตามวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 จุดแข็งที่ 2 คือการที่ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 ใน 176 ประเทศในแง่ของความเร็วอินเทอร์เน็ตแบบฟิกซ์บรอดแบนด์ ซึ่งทำให้ไทยเป็นผู้นำในแง่การวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยี 5G และจุดแข็งที่ 3 คือประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคเกษตรกรรม ภาคสาธารณสุข ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล ทั้ง 3 จุดแข็งทำให้หัวเว่ยลงทุนด้วยการสนับสนุนผ่านหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือ Huawei ASEAN Academy ซึ่งตั้งเป้าบ่มเพาะบุคลากรในหลายประเทศทั่วภูมิภาคให้ได้ 300,000 คนภายในระยะเวลา 5 ปี
ในภาพรวม หัวเว่ยได้ลงทุนไปแล้วเป็นเงิน 475 ล้านบาทในโปรเจกต์ 5G EIC เพื่อพัฒนานวัตกรรม 5G สำหรับใช้งานในหลากหลายภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งครอบคลุมการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และเพิ่มทักษะให้แก่สตาร์ทอัปและเอสเอ็มอี คาดว่าจะเพิ่มพันธมิตรรายใหม่ได้มากกว่า 70 ราย หัวเว่ยยังประกาศร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อจัดงานประชุมสุดยอด 5G Summit ครั้งแรกในไทยในปีนี้กับดีป้าในการสร้างอีโคซิสเต็มของพาร์ตเนอร์เพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรด้าน 5G สำหรับพัฒนานวัตกรรมและแอปพลิเคชัน 5G ในภาคอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์
ที่สำคัญคือหัวเว่ยได้ลงทุนสร้าง ‘นคร 5G ระดับแนวหน้า’ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะขึ้นเป็นเมือง 5G แห่งภูมิภาคอาเซียน รองรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 ของไทยที่จะจัดขึ้นในจังหวัดกรุงเทพมหานคร พัทยา และเชียงใหม่
นอกจาก 5G พื้นที่ซึ่งหัวเว่ยยังลงทุนต่อในไทยช่วงครึ่งหลังปี 64 คือธุรกิจคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ หัวเว่ยระบุว่า ปีนี้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ ด้วยการลงทุนเป็นเงิน 700 ล้านบาท สำหรับการตั้งศูนย์ข้อมูลการให้บริการคลาวด์แห่งที่ 3 ในประเทศไทย
‘การลงทุนนี้จะทำให้หัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการ HUAWEI CLOUD ระดับโลกในไทยเพียงรายเดียวที่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศถึง 3 แห่ง หัวเว่ยต้องการสนับสนุนด้านการวางจุดยืนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดูน่าลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในด้านการตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการลงทุนในครั้งนี้ยังช่วยสร้างงานใหม่กว่า 200 ตำแหน่ง ด้วยความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในไทยกว่า 200 ราย’
หัวเว่ยย้ำว่าต้องการจะผลักดันให้ประเทศไทยดูน่าดึงดูดและน่าลงทุนมากขึ้นในสายตาขององค์กรธุรกิจข้ามชาติ ที่ต้องการจะตั้งศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคนี้ ที่ผ่านมา หัวเว่ยตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์แล้ว 2 แห่งที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และที่กรุงเทพมหานคร
นอกจากเงินทุน หัวเว่ยประเทศไทยย้ำว่าจะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อกู้วิกฤตโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา หัวเว่ยร่วมมือกับหลายองค์กรในสังคมไทยช่วยเหลือใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ กิจกรรมเพื่อสังคมของหัวเว่ยในด้านการรับมือกับโควิด-19 การบ่มเพาะอีโคซิสเต็มของการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย และการสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป
หนึ่งในผลงานที่หัวเว่ยภูมิใจคือการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เช่น การส่งมอบโซลูชันการใช้ AI ส่งเสริมบริการด้านการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งช่วยส่งมอบผลการตรวจโควิด-19 ได้ในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อเคส รวมทั้งได้จับมือกับสำนักงาน กสทช. เพื่อริเริ่มโครงการการใช้รถยนต์ไร้คนขับที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อใช้ในการขนเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และลดการสัมผัส แม้กระทั่งการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ส่งมอบระบบโทรเวชกรรมผ่านเทคโนโลยี 5G โซลูชันจัดการผู้ป่วยในพื้นที่ InPatient area Intelligent Management และโซลูชัน eLTE broadband trunking ให้แก่โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 ล้านบาท และได้ทำงานร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) เพื่อบริจาคโซลูชันคลาวด์ให้แก่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์
ส่วนสุดท้ายคือ การพัฒนาทักษะทางดิจิทัล หัวเว่ยย้ำว่าจะสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างต่อเนื่องผ่านการบ่มเพาะทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรไทย โดยตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเงิน 180 ล้านบาท เพื่อเปิดตัวศูนย์ Huawei ASEAN Academy และได้ฝึกอบรมบุคลากรไปแล้วกว่า 16,500 คน
เฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปของประเทศไทย หัวเว่ยลุยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับดีป้า (depa) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ลูกค้ารวมถึงพาร์ตเนอร์ในไทยเพื่อให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ผ่านการส่งมอบความรู้ในระดับสากลและหลักสูตรการอบรมชั้นนำอย่าง Huawei ASEAN Academy ประเทศไทย เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปมีความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแผนธุรกิจได้
ที่สุดแล้ว หัวเว่ยย้ำว่าการลงทุนทั้ง 4 ด้านตอกย้ำว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดสำคัญของบริษัท ซึ่งจะทำให้ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยไม่ว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจติดลบเพียงใด โดยมั่นใจว่าทั้ง 4 ด้าน (ด้านเทคโนโลยี 5G ด้านดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ ด้านพลังงานดิจิทัล และด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล) จะช่วยให้บริษัทบรรลุจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้นำด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคนี้ได้
‘ในด้านเทคโนโลยี 5G ประเทศไทยได้ขึ้นเป็นผู้นำในเรื่องการริเริ่มติดตั้งเครือข่าย 5G ในระดับภูมิภาคไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายต่างๆ ในไทยที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปีนี้ ประเทศอื่นๆ ก็จะเริ่มตามทันไทยในแง่ของการขยายเครือข่าย 5G หากต้องการจะเอาชนะในยก 2 ต่อจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องผลักดันให้มีอัตราการใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุด เพื่อสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงช่วยเพิ่มสัดส่วนที่เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งหัวเว่ยจะสนับสนุนประเทศไทยผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านนวัตกรรม 5G และเสริมสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศ’ อาเบล สรุป
ก้าวใหม่ของหัวเว่ยในประเทศไทยนั้นไปทางเดียวกับในตลาดโลก วันนี้หัวเว่ยต้องพยายามรักษาตำแหน่งผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชันที่ผสมผสานใน 4 กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม ไอที สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ให้ได้ ท่ามกลางการถูกกีดกันจากสงครามการค้าจีนอเมริกัน ที่ทำให้สินค้าและบริการของหัวเว่ยถูกโทษแบนในหลายประเทศ
แม้โทษแบนจะทำให้หัวเว่ยต้องมองหาธุรกิจดาวรุ่งตัวใหม่เพื่อให้บริษัทเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่หัวเว่ยก็ยังสามารถประกาศผลดำเนินงานที่สดใสในช่วงครึ่งแรกของปี 64 ได้อย่างน่าจับตา โดยไม่ลืมว่าจะยังคงทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยขับเคลื่อนโลก ซึ่งทำให้เกิดโซลูชันอัจฉริยะสำหรับธุรกิจ ‘พลังงานดิจิทัล’ ที่หัวเว่ยมองว่าเป็นขุมทองโอกาสงามในประเทศไทย