xs
xsm
sm
md
lg

สดช. เอ็มโอยูหน่วยงานรัฐ-เอกชน เดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนาทุนมนุษย์รับทักษะดิจิทัลในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สดช.เดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนาทุนมนุษย์ เอ็มโอยูหน่วยงานรัฐ-เอกชน เพิ่มทักษะด้านดิจิทัลรองรับประชาคมอาเซียน คาดเป็นจุดเริ่มต้นและก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำโรดแมปด้านการส่งเสริมวิชาชีพ ICT/Digital ด้านปัญญาประดิษฐ์ และแนวทางการพัฒนาบุคลากรและการเตรียมความพร้อมสำหรับทักษะแห่งอนาคตไปสู่การปฏิบัติงานจริง

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า สดช.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เรื่องการพัฒนาทักษะวิชาชีพและเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้าน ICT/Digital ของประเทศ ในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนากาลังคนด้าน ICT/Digital ของประเทศให้รองรับกรอบความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้ประชาคมอาเซียน 

สำหรับการลงนามดังกล่าว เพื่อร่วมดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและการจ้างงานในอุตสาหกรรม ICT/Digital เพื่อจัดทำกรอบแนวทางประเมินระดับทักษะความสามารถของนักปัญญาประดิษฐ์อันเป็นที่ยอมรับโดยทุกภาคส่วน และเป็นประโยชน์ต่อแรงงานในการเข้าสู่ระบบแรงงาน ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการดำเนินการ ส่งเสริมโอกาสทางวิชาชีพและคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ 

อย่างไรก็ตาม การเอ็มโอยูดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการเตรียมความพร้อมทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) สำหรับกำลังคนเพื่อการปรับเปลี่ยนสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านมาตรฐานวิชาชีพไอซีทีรองรับตลาดแรงงานระดับสากลเป็นการสนับสนุนตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน ปี พ.ศ.2563 (The ASEAN ICT Masterplan 2020) ยุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ มาตรการที่ 5.2 การพัฒนาทักษะด้านไอซีทีขั้นพื้นฐานของแรงงานอาเซียน โดยมุ่งเน้นการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานทักษะวิชาชีพด้านไอซีทีในภาครัฐและอุตสาหกรรม ทั้งภายในและภายนอกกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน กิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการ ได้แก่ การทบทวนทิศทางปัจจุบันของทักษะด้านไอซีทีทั่วโลก และทักษะวิชาชีพด้านไอซีทีในอาเซียน การเพิ่มเติมทักษะอาชีพด้านไอซีทีที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมไอซีทีในปัจจุบัน

“ผลการศึกษาของโครงการ และการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำ Roadmap ด้านการส่งเสริมวิชาชีพ ICT/Digital ด้านปัญญาประดิษฐ์ และแนวทางการพัฒนาบุคลากรและการเตรียมความพร้อมสำหรับทักษะแห่งอนาคตไปสู่การปฎิบัติงานจริง” นายภุชพงค์ กล่าว 

นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นหนึ่งใน 6 ยุทธศาสตร์ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่  1.มิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงและมีใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลในภูมิภาคที่มีศูนย์ข้อมูล (Data Center) กระจายอยู่ทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง และมีศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการข้อมูลรายใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศ

2.มิติด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data Driven) ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน เพื่อให้ทันสมัยและสามารถทำธุรกิจด้วยระบบอัตโนมัติ รวมถึงเร่งส่งเสริมและผลักดันการเติบโตของ Technology Startup อุตสาหกรรมดิจิทัลและ Digital Innovation Driven Entrepreneur 3.มิติด้านสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการสาธารณะพื้นฐาน มาใช้เพื่อการพัฒนาในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้และการใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข รวมถึงการดูแลสุขภาพ

4.มิติด้านภาครัฐ ส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามหน่วยงาน โดยผู้บริหารภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกระดับสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อประกอบการวางแผนและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทันสถานการณ์ และสนับสนุนให้ภาคเอกชนและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล 5.มิติด้านทุนมนุษย์ เร่งสร้างและพัฒนากำลังคนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่ประเทศไทยจะมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้านดิจิทัลเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น และ 6.มิติด้านความเชื่อมั่น ผลักดันการกฎหมาย/กฎระเบียบที่เอื้อต่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ปรับปรุงกฎระเบียบและกระบวนการทำงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ e-Business ในประเทศไทยสะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุน และน่าเชื่อถือ การเคลื่อนย้ายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยระบบ e-Logistics ด้านระบบการชำระเงินมีวิวัฒนาการใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น